แม้ว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรคนี้ออกมานานแล้ว แต่ยังพบผู้ป่วยเป็นโรคนี้อยู่มากมาย สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยไม่เข้ามารับวัคซีน นอกจากทุนทรัพย์ไม่เพียงพอแล้ว ยังเป็นเรื่องของการไม่เห็นความสำคัญของวัคซีน ไม่ทราบถึงอันตรายของโรคนี้ จึงทำให้เราอาจเพิกเฉยกับโรคนี้โดยไม่รู้ตัว
แม้จะเป็นโรคที่คุ้นเคยกันดีในหมู่คนไทย แต่น่าแปลกใจว่ายังมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรคนี้อยู่มาก ซึ่งทำให้หลายคนขาดโอกาสรับการรักษาจนหายขาด หรืออาจเป็นหนักจนไม่สามารถรักษาได้ ทั้งที่จริงแล้วโรคนี้ไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น
ไวรัสตับอักเสบบี นั้นถือได้ว่าเป็นหนึ่งเชื้อติดต่อยอดนิยมซึ่งแฝงตัวอยู่ในสังคมของเรา เพราะถ้าหากได้ติดแล้วหายขาดยาก อีกทั้งผู้ที่ติดโรคตับอักเสบบีนี้มักไม่แสดงอาการ หลายๆ คนจึงมองข้ามที่จะดูแลตัวเองและไม่ไปฉีดวัคซีนป้องกันไว้ ทั้งๆ ที่เราเป็นสิ่งที่จะช่วยป้องกันจากโรคร้ายนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ไวรัสตับอักเสบบี คืออะไร ?
โรคตับอักเสบบี หรือในบางแห่งอาจเรียกว่า โรคไวรัสตับอักเสบบี เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งเชื้อไวรัสที่ว่านี้จะเข้าไปทำลายตับ ตลอดจนก่อให้เกิดโรคมะเร็งตับ โดยที่ส่วนใหญ่ของผู้ติดเชื้อมักไม่ทราบว่ามีเชื้อไวรัสอยู่ในร่างกาย พบการติดเชื้อได้ในหลายประเทศ อีกทั้งยังมักเป็นการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกในขณะคลอดได้อีกด้วย
ไวรัสตับอักเสบบี ติดต่อกันได้อย่างไร ?
- เกิดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก โดยส่วนมากพบการติดเชื้อในขณะคลอดบ่อยที่สุด
- เกิดการติดเชื่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งวิธีที่จะทำให้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้จะง่ายกว่าการติดเชื้อไวรัส HIV
- เกิดการติดเชื้อทางเลือด ซึ่งอาจเป็นการใช้ของมีคมที่มีการเปื้อนเลือด มีการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การฝังเข็ม การสักตามร่างกาย หรือแม้แต่การเจาะหูที่ไม่สะอาด
นอกจากนั้น ยังไม่มีการค้นพบโอกาสที่จะติดเชื้อได้จากช่องทางอื่น อาทิ การรับประทานอาหารร่วมกัน หรือการงานร่วมกันในลักษณะปกติที่เอื้อโอกาสให้มีการติดต่อของเชื้อได้
อาการของไวรัสตับอักเสบบี
กว่า 90% ของผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบีจะหายขาดจากอาการที่เป็นได้ภายใน 10 สัปดาห์ จากนั้นการทำงานของตับก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติและมีภูมิคุ้มกันโรคนี้ ซึ่งผู้ที่เข้ารับการตรวจ ถึงแม้จะมีการทำงานของตับที่เป็นปกติ แต่ยังสามารถพบเชื้อ HbAg+ ได้ ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะหายขาดจากโรคไวรัสตับอักเสบบีแล้ว แต่ก็ยังสามารถนำเชื้อไปติดต่อให้กับผู้อื่นได้อีก เรียกว่า พาหะ (Carrier)
จำนวนผู้ป่วยที่ไม่สามารถหายขาดจากโรคนี้ได้เองมีอยู่ 5 – 10% อาการที่พบ คือ ตับอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยในกลุ่มนี้เมื่อเจาะเลือดก็จะพบการทำงานที่ผิดปกติของตับเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน และมีการตรวจพบเชื้ออยู่ตลอด ซึ่งก็จะมีอาการอักเสบอยู่เป็นระยะ ในบางรายก็มีอาการตับแข็งและบางรายถึงขั้นเป็นมะเร็งตับ
ขอย้ำ ! ถึงแม้จะไม่มีอาการบ่งบอก แต่ก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีได้ เมื่อไม่มีอาการบ่งบอก ก็ทำให้คิดไปเองว่าคงไม่มีเชื้อฝังอยู่ในร่างกาย บางครั้งก็อาจแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้อย่างไม่รู้ตัว ฉะนั้น ก่อนแต่งงาน หรือมีเพศสัมพันธ์ก็ควรเข้ารับการตรวจโรคนี้ให้ดีเสียก่อน
จะรู้ได้อย่างไรว่าเราเองเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีและเป็นพาหะของโรคนี้รึเปล่า ?
หากตัวเราเองนั้นยังไม่เคยมีอาการใดๆ ที่บ่งบอกมาก่อน เราอาจจะเดินทางไปพบแพทย์เพื่อขอเจาะเลือดตรวจ ซึ่งแพทย์จะตรวจการทำงานของตับ และตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีด้วย ถ้าผู้ป่วยมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและมีภาวะตับอักเสบ น่าจะเป็นอาการของตับอักเสบเรื้อรัง แต่ถ้าอยากให้เกิดความมั่นใจ แพทย์จะทำการนัดให้ผู้ป่วยกลับมาตรวจเลือดอีกครั้งเมื่อครบ 6 เดือน หากยังพบเชื้อและยังมีภาวะตับอักเสบอยู่ นั่นแสดงว่าผู้ป่วยเป็นโรคตับเรื้อรังจากไวรัสชนิดบี แต่หากเจาะเลือดแล้วมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี แต่ไม่พบภาวะตับอักเสบ เราอาจจะเป็นแค่พาหะของโรคนี้ ส่วนอีก 6 เดือนถัดมา เมื่อเจาะเลือดแล้วยังพบเชื้อเหมือนเดิม แต่ไม่พบภาวะตับอักเสบ ก็แสดงว่าผู้ป่วยเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบชนิดบี
ผู้ป่วยที่มีอาการเป็นดีซ่าน ส่วนใหญ่ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยว่าเป็นไวรัสตับอักเสบบีหรือไม่จากการตรวจและเจาะเลือด
การรักษาเมื่อรู้ว่าเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี
ปัจจุบัน ผู้ที่ทราบว่าตนนั้นเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบีแต่ยังไม่มีการอักเสบของตับ ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษา แต่ผู้ที่มีตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบีสามารถที่จะใช้ยาเพื่อรักษาได้ โดยยาที่แพทย์ใช้อยู่ในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 2 กลุ่ม คือ
- ยาฉีดกลุ่มเพ็กอินเตอร์เฟอรอน (Pegylated interferon) คอยทำหน้าที่กระตุ้นภูมิต้านทานและควบคุมปริมาณไวรัส
- ยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน คอยทำหน้าที่กดการสร้างไวรัส ทำให้การอักเสบของตับลดลง ทั้งนี้ แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยในการเลือกใช้ยากับผู้ป่วยแต่ละรายตามความเหมาะสม
การรักษาไวัรัสตับอักเสบบีเรื้อรังมีประโยชน์อย่างไร
แน่นอนว่าเมื่อตรวจพบไวรัสตับอักเสบบีแล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาก็จะช่วยลดปริมาณของไวรัสได้ ลดการอักเสบของตับ ลดพังผืดและการเกิดแผลในตับ ทำให้สมรรถภาพการทำงานของตับดีขึ้น ลดความเสี่ยงที่จะเกิดตับวายและมะเร็งตับได้
5 เรื่องที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “ไวรัสตับอักเสบบี”
1. ไวรัสตับอักเสบบี ไม่มียารักษา?
ไวรัสตับอักเสบบีในปัจจุบันมียาหลายชนิดทั้งยากิน ยาฉีด แพทย์จะเลือกใช้ตามความเหมาะสมของแต่ละราย แม้อาจจะต้องทานยาติดต่อกันเป็นเวลานาน หรืออาจจะทานยาไปตลอดชีวิต แต่จะสามารถควบคุมเชื้อไวรัสไม่ให้เพิ่มมากขึ้นได้ ทำให้อาการสงบ และไม่ลุกลามได้ ในอนาคตมียาที่กำลังวิจัยอยู่ สามารถฆ่าไวรัสที่ซ่อนในตับได้ ซึ่งทำให้มีโอกาสหายขาดได้
2. เป็นแค่พาหะไวรัสตับอักเสบบี ไม่ต้องรับการตรวจ หรือรักษาก็ได้?
ผู้ป่วยไวรสตับบีทุกคนไม่ว่าจะเป็นชนิดไหน เช่น ตับอักเสบเรื้อรัง หรือพาหะ ทุกคนต้องได้รับการตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอ และ อาจต้องได้รับยาในบางคน โดยต้องกินยาสม่ำเสมอเช่นกัน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์
3. ยาควบคุมเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ทานบ้าง หยุดบ้างก็ได้ ไม่เป็นไร?
เนื่องจากยาในปัจจุบันเป็นยาที่ทำให้ไวรัสไม่แบ่งตัว ทำให้ไวรัสสงบ แต่เมื่อหยุดยา ไวรัสอาจแบ่งตัวใหม่ และทำให้โรคกำเริบในที่สุด อาจยังมีความเสี่ยงในการเป็นตับแข็ง และมะเร็งตับได้ในอนาคต
4. เป็นไวรัสตับอักเสบบี ต้องทานยาอย่างเดียว?
อย่างที่บอกว่า ยาสำหรับควบคุมเชื้อไวรัส มีทั้งยากิน และยาฉีด แต่ก็ไม่ได้ความว่าจะต้องได้รับยาทุกคน เพราะไวรัสตับอักเสบมีทั้งที่เป็นแบบเรื้อรัง (ที่ต้องทานยาตลอด) และแบบเฉียบพลัน ซึ่งสามารถหายได้เองโดยไม่ร้องรับการรักษา 80-90%
5. วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี ราคาแพง ต้องฉีดใหม่เรื่อยๆ?
โดยทั่วไปแล้ว ราคาของวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี จะอยู่ที่เข็มละ 200-300 บาท ต้องฉีดจำนวน 3 เข็ม เมื่อฉีดครบทั้ง 2 เข็ม จากนั้นเว้นระยะสักพัก หากตรวจเลือดพบว่ามีภูมิคุ้มกันแล้ว ก็จะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต แต่จะมีส่วนน้อยที่ตรวจหาภูมิคุ้มกันไม่เจอ อาจจะต้องฉีดใหม่
ปัจจุบันไวรัสตับอักเสบบีไม่ใช่โรคที่น่ากลัว เรามียาที่ช่วยควบคุมอาการไปได้ตลอดอยู่แล้ว และหากตรวจร่างกายไปเรื่อยๆ อาจพบค่าตับที่ปกติได้ อย่างไรก็ตามการเพิกเฉยต่อโรคนี้ ไม่เข้ารับการักษาอย่างจริงจัง เป็นเหตุให้พบผู้ป่วยเป็นโรคตับแข็ง และมะเร็งตับจากเชื้อที่ลุกลามของไวรัสตับอักเสบบีเป็นจำนวนมาก
ดังนั้นอยากให้รักร่างกายของตัวเองให้มากขึ้นอีกนิด เพราะการมาหาหมอในระยะสุดท้าย มันจะเป็นเรื่องน่าเศร้าที่หมอจะไม่สามารถช่วยอะไรได้แล้ว แม้ว่าจะมีวิธีรักษาง่ายๆ แค่ทานยาก็ตาม
สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเพจ ตับลำไส้ ใกล้หมอ ค่ะ
____________________
____________________
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊คเพจ ตับลำไส้ ใกล้หมอ
ภาพประกอบจาก istockphoto