49 พรรคฉลุย หาเสียงตามเบอร์ที่จับได้เลย กกต.ชี้ไร้อำนาจเช็กคุณสมบัติแคนดิเดต

Home » 49 พรรคฉลุย หาเสียงตามเบอร์ที่จับได้เลย กกต.ชี้ไร้อำนาจเช็กคุณสมบัติแคนดิเดต


49 พรรคฉลุย หาเสียงตามเบอร์ที่จับได้เลย กกต.ชี้ไร้อำนาจเช็กคุณสมบัติแคนดิเดต

กกต.ไฟเขียว 49 พรรคหาเสียงตามเบอร์ที่จับได้ ตรวจสอบเอกสารแล้วครบถ้วน แจงไม่มีอำนาจตรวจสอบคุณสมบัติแคนดิเดตนายกฯ ยันพิมพ์‘บัตรโหล” เป็นไปตามกม.

เมื่อเวลา 14.45 น. วันที่ 4 เม.ย.2566 ที่อาคารไอราวัฒพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงภายหลังการรับสมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในวันแรกว่า กกต.ได้ตรวจสอบเอกสารที่ 49 พรรคการเมืองที่มาก่อนเวลา 08.30 น. เอกสารครบและออกใบรับสมัครทั้ง 49 พรรค มีคุณสมบัติครบแล้ว ได้หมายเลขตามลำดับที่จับสลากได้

โดยภาพรวมค่อนข้างเรียบร้อย มีปัญหาอยู่บ้างคือ สถานที่คับแคบ จุดรับสมัครน้อยโ ดยการรับสมัครขณะนี้มีพรรคแบบบัญชีรายชื่อจำนวน 53 พรรค และรับแจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคจะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี หรือแคนดิเดตนายกฯ จำนวน 16 พรรค 20 คน

นายแสวง กล่าวด้วยว่า รายชื่อผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด กกต.จะตรวจสอบคุณสมบัติเช่นเดียวกับส.ส.แบบแบ่งเขต หากพบว่าผู้สมัครรายใดไม่มีคุณสมบัติ จะไม่ประกาศรายชื่อ ซึ่งผู้ที่ไม่ได้รับการประกาศรายชื่อ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาได้ หากศาลไม่คืนสิทธิให้พรรค ก็จะเหลือจำนวนผู้สมัครเท่าที่มีอยู่ ส่วนแคนดิเดตนายกฯ กฎหมายกำหนดให้กกต.เป็นเพียงผู้รับแจ้งชื่อเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติ

ส่วนที่มีข่าวว่าบางพรรคเอกสารการสมัครไม่ครบทำให้การสมัครล่าช้า นายแสวง ชี้แจงว่า เกิดจากการใช้เอกสารที่เป็นสำเนาที่พิมพ์มาจากคอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่ใช่เอกสารตัวจริง แต่กกต. พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ได้ทำให้สาระสำคัญของการรับสมัครเสียไป หรือเอกสารไม่สมบูรณ์ จึงได้รับสมัคร

เมื่อถามถึงบัตรเลือกตั้งส.ส.เขตที่ไม่มีโลโก้และชื่อของพรรค นายแสวง กล่าวว่า เมื่อเช้าได้คุยทำความเข้าใจกับหลายพรรค ว่ารูปแบบบัตรที่จะจัดพิมพ์ดีสำหรับพรรค เพราะจากการถอดบทเรียนการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 มีบัตรเสียมาก เพราะรูปแบบบัตรเลือกตั้งมีเครื่องหมายพรรค อีกทั้งครั้งนี้กฎหมายกำหนดให้บัตรเลือกตั้ง 2 แบบมีความแตกต่างอย่างชัดเจน โดยแบบแบ่งเขต กำหนดให้มีช่องกาเครื่องหมายและหมายเลขเท่านั้น ส่วนแบบบัญชีรายชื่อกำหนดให้มีช่องกาเครื่องหมาย สัญลักษณ์ และชื่อพรรค

ดังนั้น บัตรทั้ง 2 ใบจะทำเหมือนกันไม่ได้ และสีจะมีความแตกต่างกัน ขณะนี้ยังไม่ได้จัดพิมพ์และเรื่องสีถือเป็นความลับ

กกต.จะพยายามอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ให้ทุกหมายเลขของผู้สมัครทั้ง 2 แบบอยู่ในหน้าเดียวกัน โดยแบบแบ่งเขต ยอดผู้สมัครสูงสุดขณะนี้คือ 16 หมายเลข ที่กรุงเทพฯ ส่วนบัญชีรายชื่อ แม้จะมีพรรคที่มีสิทธิส่งผู้สมัครรวม 60 พรรค จะทำให้อยู่ด้านเดียวกันให้ได้ นอกจากนี้ในวันเลือกตั้ง นอกจากหน้าหน่วยจะติดประกาศข้อมูลของผู้สมัครแล้ว จะติดป้ายไวนิลข้อมูลผู้สมัครไว้ในจุดที่ประชาชนไปใช้สิทธิในคูหาแล้วมองเห็นได้ เพื่อสามารถจดจำเบอร์ไปกาบัตรได้ถูกต้อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ