400 คนต่อวัน เตือน 'มะเร็ง' เกิดจากพฤติกรรมถึง 90% ลดปัจจัยเสี่ยงอาจเลี่ยงโรคได้ 40%

Home » 400 คนต่อวัน เตือน 'มะเร็ง' เกิดจากพฤติกรรมถึง 90% ลดปัจจัยเสี่ยงอาจเลี่ยงโรคได้ 40%


400 คนต่อวัน เตือน 'มะเร็ง' เกิดจากพฤติกรรมถึง 90% ลดปัจจัยเสี่ยงอาจเลี่ยงโรคได้ 40%

หมอเผย “มะเร็ง” เกิดจากพันธุกรรม 5-10% เกือบทั้งหมด 90-95% มาจากปัจจัยภายนอก การใช้ชีวิต สิ่งแวดล้อม ลดพฤติกรรมเสี่ยงอาจเลี่ยงเกิดโรค 40%

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.65 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของไทย อัตราการเกิดโรคยังมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากการเข้าสู่สังคมสูงวัย เพราะยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งมีโอกาสเกิดมะเร็งมากขึ้น รวมถึงพฤติกรรมของคน และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดมะเร็งมากขึ้น

จากข้อมูลสถิติทะเบียนมะเร็งประเทศไทย โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ รายงานว่า แต่ละปีจะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ประมาณ 140,000 คน หรือ 400 คนต่อวัน โดยมะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรกในคนไทย ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก

ด้าน นพ.สกานต์ บุนนาค ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า สาเหตุการเกิดโรคมะเร็งมีทั้งปัจจัยภายในร่างกาย เช่น พันธุกรรมมีสัดส่วน 5-10% และปัจจัยภายนอกร่างกาย 90-95% ได้แก่ พฤติกรรมการดำเนินชีวิตและสิ่งแวดล้อม เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า กินอาหารที่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง หรือรับสารก่อมะเร็งจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง อาจจะลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้ถึง 40%

ทั้งนี้ มะเร็งบางชนิดสามารถตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง เป็นระยะยังไม่มีการลุกลามเข้าไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะใกล้เคียง การรักษามักไม่ยุ่งยากซับซ้อน ผลข้างเคียงจากตัวโรคและการรักษาน้อย โอกาสหายขาดสูง

องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งในระยะเริ่มแรก แม้ว่าจะไม่มีอาการใดๆ โดยมะเร็งปากมดลูกคัดกรองในช่วงอายุ 30-60 ปี ใช้ HPV Test มีความไว เก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเองที่บ้านได้ แล้วส่งสถานพยาบาล, มะเร็งเต้านม คัดกรองทำได้หลายวิธี ได้แก่ ตรวจเต้านมด้วยตนเอง โดยแพทย์ และเครื่องแมมโมแกรม ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม สามารถตรวจหายีนผิดปกติ BRCA 1 และ BRCA 2 ส่วนมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ตรวจช่วง 50-70 ปี

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ