4 เทคนิค “จดจำแม่นยำ” เมื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

Home » 4 เทคนิค “จดจำแม่นยำ” เมื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ



4 เทคนิค “จดจำแม่นยำ” เมื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

การเรียนรู้อะไรใหม่ๆ อาจเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน โดยเฉพาะการจดจำข้อมูลใหม่ๆ ที่เพิ่งได้รับมา ซึ่งมีไม่น้อยที่มักจะรู้สึกว่าเป็นอุปสรรคสำคัญ จนเกิดความรู้สึกว่าไม่อยากเรียนรู้สิ่งนั้นๆ แถมบางคนอาจจะไปโทษด้วยว่าเป็นเพราะอายุมากขึ้น ความจำจึงไม่ดีเหมือนตอนวัยรุ่น ซึ่งถ้าปล่อยให้ความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ ก็อาจจะเสียโอกาสดีๆ ในการพัฒนาตนเองได้

หากไม่อยากเกิดอาการถอดใจในการเรียนรู้เพราะจำอะไรไม่ได้ ก็ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่ง Tonkit360 มีเทคนิคดีๆ ที่จะทำให้การเรียนรู้ไม่เป็นเรื่องน่าเบื่อ เพราะสามารถจดจำสิ่งต่างๆ ได้แม่นยำยิ่งขึ้น

  1. ทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปซ้ำๆ

ไม่ว่าจะเรียนรู้ในเรื่องใด ถ้าได้ฝึกฝนและทำสิ่งนั้นซ้ำๆ ก็จะทำให้เราเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องนี้สามารถอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ได้ด้วย เพราะการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งซ้ำๆ จะไปเพิ่ม “ไมอีลิน” (Myelin) ที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาสมองให้มากขึ้น ยิ่งมีปริมาณของไมอีลินมากเท่าไร ระบบประสาทในสมองก็ยิ่งทำงานได้เร็วยิ่งขึ้น จึงช่วยให้เราเรียนรู้อะไรได้ดียิ่งขึ้น

ยิ่งถ้าได้ทบทวนสิ่งนั้นซ้ำๆ โดยมีการเว้นระยะห่างด้วย (Space Repetition) ก็ยิ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการจดจำเรื่องที่เราเรียนรู้ได้มากขึ้น เนื่องจากความสามารถในการจดจำเรื่องใหม่ๆ ที่เราเรียนรู้ไปจะค่อยๆ เลือนรางไปหากไม่มีการทบทวน แต่ถ้าได้มีการฝึกฝนหรือทบทวนหลังจากผ่านไปสัก 2-3 วัน ก็จะทำให้เรากลับมาจดจำได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์อีกครั้ง ซึ่งการทบทวนซ้ำอาจจะเว้นระยะห่างให้มากขึ้นได้ หากเราสามารถจดจำได้แม่นยำแล้ว

  1. ให้เวลาได้ไตร่ตรองสิ่งที่ได้เรียนรู้ไป

เมื่อเราเติมความรู้ให้กับสมองไปแล้ว ก็ต้องมีเวลาในการไตร่ตรองสิ่งใหม่ๆ ที่ได้เรียนรู้ไปด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ให้ดีขึ้น ซึ่งจากการวิจัยโดยศาสตราจารย์ Francesca Gino และเพื่อนร่วมงานที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด พบว่าพนักงานที่ได้ใช้เวลาในการไตร่ตรองบทเรียนที่ได้เรียนไปก่อนเข้านอนสัก 15 นาที จะมีการจดจำที่ดีกว่าหากเทียบกับคนอื่นๆ เมื่อกลับมาทดสอบความจำในอีก 10 วันถัดมา

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบด้วยว่าไอเดียบรรเจิดต่างๆ มักผุดขึ้นมาตอนที่เราไม่ได้จดจ่อหรือหมกมุ่นอยู่กับเรื่องนั้นๆ ซึ่งนักจิตวิทยาชื่อดัง Scott Barry Kaufman เผยว่าคนส่วนใหญ่ซึ่งมากถึง 72 เปอร์เซ็นต์ มักเกิดไอเดียต่างๆ ในระหว่างที่อาบน้ำ ซึ่งก็เป็นผลจากการได้ใช้เวลาในการไตร่ตรอง เนื่องจากสมองของเราเกิดความเชื่อมโยงกับข้อมูลที่ได้เรียนรู้ไปนั่นเอง

  1. ฝึกอธิบายสิ่งที่ได้เรียนรู้ไป

หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้เราจดจำเรื่องที่เรียนรู้ไปได้อย่างขึ้นใจมากขึ้น ก็คือการอธิบายสิ่งเหล่านั้นให้คนอื่นฟัง เหมือนที่ Richard Feynman นักฟิสิกส์เจ้าของรางวัลโนเบล บอกไว้ว่า “ถ้าคุณไม่สามารถอธิบายสิ่งใดให้เข้าใจด้วยคำง่ายๆ ได้ ก็แสดงว่าตัวคุณยังไม่เข้าใจในเรื่องนั้น”

สูตรการเรียนที่ Feynman แนะนำคือสอนสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปให้เด็กฟัง โดยอธิบายให้พวกเขาฟังด้วยคำง่ายๆ ซึ่งจะช่วยให้เราค้นพบว่าตนเองเข้าใจสิ่งที่พูดออกไปหรือไม่ ถ้ายังมีส่วนไหนที่ขาดหายไปก็กลับไปเรียนรู้สิ่งนั้นซ้ำอีกครั้งเพื่อให้จดจำและเข้าใจอย่างถ่องแท้

  1. ถ่ายทอดในสิ่งที่ได้เรียนรู้ไป

นอกจากฝึกอธิบายด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย เพื่อเป็นการตรวจสอบว่าเราเข้าใจสิ่งนั้นจริงหรือไม่ ยังมีเทคนิคที่เรียกว่า Transfer of Learning หรือการถ่ายทอดการเรียนรู้ด้วย ซึ่ง Elon Musk ซีอีโอคนดังผู้ก่อตั้ง Tesla และ SpaceX เคยให้สัมภาษณ์ถึงเทคนิคนี้ว่ามีอยู่ 2 กระบวนการด้วยนั้น อย่างแรกคือการแยกโครงสร้างความรู้พื้นฐานออกมาให้ได้ก่อน จากนั้นก็นำไปใช้กับสถานการณ์ใหม่ๆ

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรากำลังเรียนภาษาอังกฤษอยู่ แต่ขณะเดียวกันก็อยากจะทำอาหารให้เก่งขึ้นด้วย วิธีการที่จะนำเทคนิค Transfer of Learning มาใช้ ก็คือการเข้าคอร์สเรียนการทำอาหารที่สอนโดยเชฟต่างชาติ ซึ่งจะทำให้เราเกิดความเข้าใจในการใช้ภาษามากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้เรารู้วิธีการทำอาหารที่เพิ่มเติมขึ้นด้วย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ