ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม ช่วยลดความเสี่ยง ห่างไกลโรคความดันโลหิตสูงได้
โรคความดันโลหิตสูง อันตรายเงียบ
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคความดันโลหิตสูง ได้ชื่อว่าเป็นเพชฌฆาตแห่งความเงียบ เนื่องจากส่วนใหญ่มักไม่มีอาการหรืออาการแสดงให้เห็น แต่มักตรวจพบโดยบังเอิญ
สัญญาณอันตราย “ความดันโลหิตสูง”
ในกรณีที่มีความดันโลหิตสูงมากผู้ป่วยอาจจะมีอาการที่แสดงให้เห็นได้ ดังนี้
- ปวด หรือมึนศีรษะ บริเวณท้ายทอย
- วิงเวียนศีรษะ
- แน่นหน้าอก
- คลื่นไส้ อาเจียน
อันตรายของความดันโลหิตสูง หากไม่รีบรักษา
ผู้มีความดันโลหิตสูงเรื้อรังที่ไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติเป็นระยะเวลานานอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะสำคัญ เช่น
- กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว
- หลอดเลือดแดงแข็ง
- จอประสาทตาเสื่อม
- ไตเสื่อม
- โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายอย่างยิ่ง
- เสี่ยงต่อการเกิดอัมพาต
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- ไตวาย
- โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตัน
- หัวใจล้มเหลว
หากมีภาวะความดันโลหิตสูงนานๆ ไม่ได้รับการรักษาอย่างสม่ำเสมอและถูกต้องเหมาะสม หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น กล้ามเนื้อของหัวใจจะหนาขึ้น หัวใจจะโตขึ้น อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดห้องบนเต้นพริ้ว (Atrial Fibrillation) หรือเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ดังนั้น เราควรให้ความสำคัญกับการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง การป้องกันและการรักษา เพื่อที่จะสามารถชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
ความดันโลหิตเท่าไร จึงเรียกได้ว่าความดันโลหิตสูง
นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคความดันโลหิตสูง เป็นภาวะโรคที่ตรวจพบว่าค่าความดันโลหิตอยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติ คือ มีค่าความดันตัวบน (systolic: ค่าความดันเลือดในขณะที่หลอดเลือดหัวใจบีบตัว) สูงกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท และความดันตัวล่าง (diastolic : ค่าความดันเลือดในขณะที่หลอดเลือดหัวใจคลายตัว) สูงกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท
ปัจจัยเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง
ความดันโลหิตสูงมักจะพบร่วมกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ของกลุ่มอาการผิดปกติทางเมตาบอลิซึม เช่น
- ไขมันในเลือดสูงหรือระดับน้ำตาลในเลือดสูง
- ขาดการออกกำลังกาย
- โรคอ้วน
- มีภาวะเครียดเรื้อรัง
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- สูบบุหรี่
- รับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัดเป็นประจำ
นอกจากนี้ โรคความดันโลหิตสูงอาจมีสาเหตุมาจากภาวะไตวาย เนื้องอกของต่อมหมวกไต โรคของต่อมไทรอยด์หรือต่อมพาราไทรอยด์ โรคทางเดินหายใจถูกอุดกลั้นขณะนอนหลับหรือการใช้ฮอร์โมนบางชนิด
วิธีรักษาโรคความดันโลหิตสูง
ในการรักษาผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงควรมีการประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และผลกระทบต่ออวัยวะต่างๆที่เป็นผลมาจากความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานาน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจหนา ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ไตเสื่อมหรือมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ และจอประสาทตาเสื่อมจากความดันโลหิตสูง
ดังนั้น เพื่อป้องกันการเกิดโรคความดันโลหิตสูงเราควรดูแลตนเอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การใช้ชีวิตให้เหมาะสม โดยการใส่ใจ 3 อ. คือ
- อ.อาหาร กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพหรือ DASH Diet (Dietary Approaches to Stop Hypertension Diet) คือ ลดการบริโภคอาหารที่มีเกลือโซเดียม ไขมันอิ่มตัว ไขมันรวมและคอเรสเตอรอลลง และเพิ่มการรับประทานที่มีใยอาหาร โปรตีน แคลเซียม แร่ธาตุต่างๆอย่างโปแตสเซียมและแมกนีเซียม ได้แก่ ผัก ถั่ว ผลไม้ ธัญพืชที่ไม่ผ่านกระบวนการขัดสี (Whole Grains) ปลา ไขมันไม่อิ่มตัว และลดการบริโภคเนื้อแดง งดการรับประทานน้ำหวานและน้ำอัดลม
- อ.ออกกำลังกาย ลดเวลานั่ง เพิ่มเวลายืน ยืดเวลาเดิน ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ให้หัวใจ ปอด ระบบหมุนเวียนโลหิตแข็งแรง ควบคุมน้ำหนักตัว และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 3-5 ครั้ง/สัปดาห์
- อ.อารมณ์ ทำอารมณ์ให้แจ่มใส ไม่เครียด
นอกจากนี้ ควรงดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ฉะนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาใส่ใจสุขภาพ รู้จักออกกำลังกายให้เหมาะสม และรู้จักเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีเป็นหนทางสู่การมีสุขภาพดี ย่อมช่วยให้ตัวเราห่างไกลจากโรคความดันโลหิตสูงได้เช่นกัน