4 วิธีรักษาอาการ “ปวด” โดยไม่ต้องใช้ยา

Home » 4 วิธีรักษาอาการ “ปวด” โดยไม่ต้องใช้ยา
4 วิธีรักษาอาการ “ปวด” โดยไม่ต้องใช้ยา

อายุที่มากขึ้น ก็มาพร้อมอาการเจ็บป่วยที่มากขึ้นตามร่างกายที่เสื่อมถอยลงไปด้วยเรื่อยๆ โดยเฉพาะอาการปวดต่างๆ เริ่มตั้งแต่ปวดศีรษะ ปวดคอ บ่า ไหล่ จากการนั่งทำงานนานๆ ปวดเข่าจากข้อเข่าเสื่อม หรือน้ำหนักมากเกินไป รวมไปถึงปวดเอว ปวดหลัง ปวดแขน ฯลฯ แต่ถ้าจะให้ทานยาแก้ปวดทุกครั้ง คุณคงจะนึกสงสารตับขึ้นมาจับใจ ดังนั้นมาลองวิธีคลายปวดที่เราไม่ต้องพึ่งยาแก้ปวดกันดีกว่า ได้ผลมากกว่าที่คิดแน่นอน

 

  1. กายบริหาร

การยืดเส้นยืดสายสำคัญมากหากมีอาการปวดตามร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นคอ บ่า ไหล หลัง แขน ขา เข่า ข้อเท้า ข้อมือ เอว และที่อื่นๆ คุณสามารถเปิดคลิปวิดีโอตาม YouTube แล้วทำตามแต่ละขั้นตอนได้ง่ายๆ หลักการที่สำคัญ คือการให้กล้ามเนื้อแต่ละส่วนได้ยืดตัวเพื่อผ่อนคลายมัดกล้ามเนื้อที่ใช้งานมาตลอดทั้งวันโดยที่เราอาจไม่รู้ตัว เช่น การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ อาจทำให้เราเกร็งไหล่ เกร็งแขน และข้อมือตลอดเวลา รวมไปถึงการก้มคอมองจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันนานหลายชั่วโมงด้วย

ดังนั้น เลือกทำกายบริหารที่เน้นการยืด การคลายกล้ามเนื้อ เริ่มจากช้าไปเร็ว อย่าลืมวอล์มอัพร่างกายก่อนเริ่มลงมือทำกายบริหารด้วย เพื่อป้องกันกล้ามเนื้อฉีกขาดจากการออกกำลังกายกะทันหัน

 

  1. โยคะ

ใครที่ไม่ถนัดกายบริหารให้เลือดสูบฉีดมากนัก ลองทำท่าโยคะดู แม้ว่าจะเป็นการออกกำลังกายที่ลดแรงกระแทกได้มาก แต่ขอบอกว่าได้กล้ามเนื้อมาไม่ใช่เล่น เสียเหงื่อ และเหนื่อยว่าที่คิด แต่ถึงกระนั้นโยคะก็ยังมีความดีงามตรงนี้นี่แหละ ท่าโยคะหลายๆ ท่าสามารถเลือกได้ว่าอยากจะช่วยลดอาการปวดเมื่อยตรงจุดไหนเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงสามารถลดอาการเจ็บปวดเฉพาะจุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากออกกำลังกายด้วยโยคะเป็นประจำ อาการปวดเมื่อยที่เคยเกิดขึ้นก็จะลดลง และหายไปได้เองโดยอัตโนมัติ เพราะกล้ามเนื้อส่วนนั้นๆ แข็งแรงขึ้น รองรับการใช้งานได้มากขึ้นโดยไม่มีการปวดเมื่อยเหมือนเดิมนั่นเอง

 

  1. นวด หรือฝังเข็ม

การปวดเมื่อยเนื้อตัวจะหายดีขึ้นได้ในทันทีหากได้ลองการนวดตามแพทย์แผนไทย หรือการฝังเข็มจากแพทย์แผนจีน วิธีนี้เป็นวิธีที่เหล่าบรรดาคนที่ทำงานหนักมักใช้เพื่อให้ได้รับการผ่อนคลายทันทีในช่วงเวลาที่จำกัด นอกจากนี้การนวด และการฝังเข็มยังช่วยคลายเครียดจากการทำงาน และเรื่องต่างๆ ได้ไปพร้อมๆ กับการคลายกล้ามเนื้อไปด้วย นอกจากนี้ การนวด และการฝังเข็มยังสามารถระบุส่วนที่ต้องการผ่อนคลายกล้ามเนื้อเป็นพิเศษ รวมถึงรักษาอาการปวดศีรษะจากไมเกรน ปวดเข่า และจุดอื่นๆ ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ควรเลือกใช้บริการนวด หรือฝังเข็มจากสถานบริการที่ที่เชื่อถือได้ ได้รับการตรวจเช็กจากสาธารสุข ได้รับการยอมรับในมาตรฐานของการให้บริการ รวมถึงได้รับใบอนุญาตในการเปิดร้านอย่างถูกต้อง พนักงาน และแพทย์ที่ให้บริการ และการรักษามีใบประกอบโรคศิลป์ครบถ้วน และถูกต้อง อย่าเลือกใช้บริการในสถานที่ที่ไม่ได้รับมาตรฐานดังกล่าว เพราะอาจส่งผลอันตรายให้เกิดอาการเจ็บปวดมากขึ้นได้

 

  1. จิตบำบัด

นอกจากร่างกายภายนอกแล้ว สมอง และจิตใจภายในก็ต้องได้รับการบำบัด และเยียวยาด้วย ความคิดที่ว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ยังคงเป็นจริงในกรณีนี้ หากร่างกายเจ็บปวดมากพออยู่แล้ว เรายังมีความเศร้า ความเครียดสะสมเพิ่มเข้าไปอีก อาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นก็อาจทำให้เรารู้สึกทรมานมากขึ้นไปกว่าเดิม

จริงๆ แล้วการบำบัดจิตใจไม่ได้มีส่วนช่วยให้อาการเจ็บปวดของร่างกายลดลงโดยตรง แต่เป็นการลดความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นจากอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นมากกว่า อย่างไรก็ตามหากบำบัดจิตใจช่วยให้เราลดการคิดในแง่ร้ายลง และเมื่อเราคิดบวกมากขึ้น การรู้สึกถึงร่างกายที่ค่อยๆ ปรับสภาพดีขึ้น อาการเจ็บปวดลดลงอย่างช้าๆ จะช่วยให้รู้สึกดีต่อตัวเองได้มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่กำลังใจที่จะต่อสู้กับอาการเจ็บปวดต่างๆ ได้มากขึ้นด้วย

 

อย่างไรก็ตาม อาการเจ็บปวดที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ การอักเสบรุนแรง อาจไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีเหล่านี้ ดังนั้นหากมีอาการเจ็บปวดที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายโดยเฉพาะ อย่าปล่อยให้มีอาการปวดรุนแรง ควรรีบปรึกษาแพทย์ และเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธีจะดีที่สุด และวิธีเสริมเหล่านี้ค่อยใช้เมื่อแพทย์ยืนยันว่าสามารถช่วยให้อาการปวดลดลงได้จริงเท่านั้น

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ