นิ้วล็อก เป็นอาการที่พบได้ในคนที่ใช้มือ และนิ้วมือในการทำงานในระยะเวลานาน หรือบุคคลที่ต้องทำงานโดยการกำมือแน่นๆ เป็นประจำ จนทำให้เกิดการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นบริเวณโคนนิ้ว
อาชีพเสี่ยงนิ้วล็อก
- พนักงานบริษัทที่ต้องพิมพ์เอกสารจำนวนมาก พิมพ์เป็นเวลานาน
- กราฟิกดีไซน์เนอร์
- ทันตแพทย์
- แม่บ้านที่ต้องซับผ้า และบิดผ้าบ่อยๆ หรือหิ้งถุง หรือถังหนักๆ
- คนงาน คนสวน ช่างไม้ ช่างฝีมือ
- นักกีฬาที่ต้องใช้การจับอุปกรณ์ที่แน่น ๆ เช่น เทนนิส แบดมินตัน และปั่นจักรยานภูเขา เป็นต้น
- คนที่ชอบเล่นมือถือ แท็บเล็ต ที่ต้องใช้การจับมือถือให้มั่นคงอยู่ในมือ เพื่อไม่ให้มือถือหลุดจากมือ
เป็นต้น
อาการนิ้วล็อก
อาการนิ้วล็อกที่สังเกตได้ อาจมีอาการปวดบริเวณผ่ามือใกล้ๆ โคนนิ้ว และโดยมากมักมีอาการนิ้วเคลื่อนที่ไม่สะดวก มีอาการติด หรือสะดุดเวลาขยับนิ้ว
4 ระยะความรุนแรง “นิ้วล็อก” แบบไหนควรรีบพบแพทย์
อ.นพ.ไพฑูรย์ เบ็ญจพรเลิศ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุอาการนิ้งล็อก แบ่งตามระยะที่เป็น ดังนี้
ระยะที่ 1 มีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วมือเวลาขยับ แต่ยังไม่มีการสะดุดระหว่างการเคลื่อนไหวนิ้ว
ระยะที่ 2 เริ่มมีการสะดุดเวลาขยับนิ้ว แต่ยังขยับได้อยู่
ระยะที่ 3 นิ้วติดล็อก แต่ยังสามารถเหยียดออกได้โดยการใช้มืออีกข้างช่วยแกะ
ระยะที่ 4 นิ้วติดจนไม่สามารถขยับออกได้
การรักษาอาการนิ้วล็อก
นิ้วล็อกระยะที่ 1-2
ผู้ป่วยสามารถกินยาแก้ปวด ลดการใช้งานนิ้วมือให้น้อยลง และสามารถช่วยผ่อนคลายนิ้วด้วยการแช่น้ำอุ่น 10-20 นาที พร้อมบำบัดด้วยคลื่นกระแทกได้ (ultrasound+shock wave)
นิ้วล็อกระยะที่ 3-4
แพทย์อาจพิจารณาให้ฉีดยาสเตียรอยด์ หรือผ่าตัดปลอกหุ้มเอ็น
วิธีป้องกันนิ้วล็อก
ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา ระบุถึงวิธีป้องกันไม่ให้เกิดอาการนิ้วล็อกเอาไว้ ดังนี้
- ไม่หิ้วหรือถือของหนักเกินไป ลดการรับน้ำหนักที่นิ้วมือ
- พักการใช้นิ้วมือเป็นระยะๆ ขณะทำงานที่ต้องใช้นิ้วมือเป็นเวลานานๆ
- ออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อมือเป็นพักๆ
- เมื่อต้องใช้มือจับสิ่งของแน่นๆ เช่น การขุดดิน การใช้ค้อน การตีกอล์ฟ ควรใช้ถุงมือหรือผ้านุ่มๆ พันรอบๆ เพื่อลดแรงกดกระแทกต่อนิ้วมือ
- การแช่มือในน้ำอุ่นในช่วงเช้าๆ จะทำให้ข้อฝืดลดลง เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น