นอกจากเนื้อฟักทองจะเป็นของอร่อยที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมายแล้ว เมล็ดฟักทอง ก็ยังไม่ใช่ของเหลือทิ้ง เพราะเป็นอาหารที่อร่อยและมีประโยชน์สุขภาพไม่แพ้กันเลยใครชอบเคี้ยวเมล็ดฟักทอง อ่านเรื่องต่อไปนี้แล้วก็เคี้ยวกันต่อไปนะ
คุณค่าทางโภชนาการของเมล็ดฟักทอง
เมล็ดฟักทองจะมีเปลือกสีขาว ส่วนด้านในจะเป็นเมล็ดแบนๆ รูปไข่ และมีสีเขียว โดยเมล็ดฟักทอง 28 กรัมแบบไม่มีเปลือก จะให้พลังงานประมาณ 151 แคลอรี่ ซึ่งเป็นพลังงานที่มาจากไขมันและโปรตีนเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีสารอาหารมากมาย โดยเฉพาะฟอสฟอรัส แมงกานีส และแมกนีเซียม
ประโยชน์สุขภาพของเมล็ดฟักทอง
-
เมล็ดฟักทองมีสารต้านอนุมูลอิสระ
เมล็ดฟักทองมีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างเคโรทีนอยด์ และวิตามินอี ซึ่งสามารถลดการอักเสบ และปกป้องเซลล์จากอนุมูลอิสระที่เป็นอันตราย จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมการกินอาหารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ จึงสามารถช่วยป้องกันโรคหลายโรคได้ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ชี้ว่า น้ำมันเมล็ดฟักทองสามารถลดการอักเสบในหนูที่เป็นโรคข้ออักเสบ โดยไม่มีผลข้างเคียง
-
เกี่ยวข้องกับการลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางชนิด
งานวิจัยให้ข้อมูลว่าอาหารที่อุดมไปด้วยเมล็ดฟักทอง เกี่ยวข้องกับการลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งลำไส้ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่า การกินเมล็ดฟักท้องเกี่ยวข้องกับการลดความเสี่ยง ของโรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนด้วย
-
ลดความเสี่ยงของโรคต่อมลูกหมากโต
เมล็ดฟักทองอาจช่วยบรรเทาอาการของโรคต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hyperplasia: BPH) ซึ่งเป็นภาวะที่ต่อมลูกหมากขยายใหญ่ขึ้น ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการถ่ายปัสสาวะ งานวิจัยหลายงานวิจัยพบว่าการกินเมล็ดฟักทองสามารถบรรเทาอาการของโรคต่อมลูกหมากโตได้ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ศึกษาในผู้ชายและผู้หญิง 45 คน ที่มีภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (Overactive bladder) โดยให้กินสารสกัดเมล็ดฟักทอง 10 กรัมต่อวัน ผลการวิจัยพบว่าช่วยทำให้การทำงานของระบบปัสสาวะดีขึ้น
-
เมล็ดฟักทองมีแมกนีเซียมสูง
เมล็ดฟักทอง อุดมไปด้วยแมกนีเซียม ซึ่งการได้รับแมกนีเซียมอย่างเพียงพอต่อวันสำคัญต่อสุขภาพ เนื่องจากแมกนีเซียมดีต่อสุขภาพ ดังนี้
- ควบคุมความดันโลหิต
- ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ
- การสร้างและรักษาความแข็งแรงของกระดูก
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
- ดีต่อสุขภาพหัวใจ
เมล็ดฟักทองอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ แมกนีเซียม ซิงก์ และกรดไขมัน ซึ่งดีต่อสุขภาพหัวใจ นอกจากนี้ยังมีการทดลองในสัตว์ที่ชี้ว่า น้ำมันเมล็ดฟักทองอาจช่วยลดความดันโลหิตและระดับคอเลสเตอรอลได้ ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ถือเป็นปัจจัยเสียงสำคัญต่อการเป็นโรคหัวใจ มากไปกว่านั้นงานวิจัยที่ศึกษาในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ โดยให้กลุ่มตัวอย่างกินอาหารเสริมน้ำมันเมล็ดฟักทอง ผลการวิจัยพบว่าช่วยลดค่าความดันโลหิตไดแอสโตลิค (Diastolic blood pressure) ที่เป็นตัวเลขค่าความดันโลหิตด้านล่าง 7% และเพิ่มระดับไขมันดี หรือไขมันเอชดีแอล (HDL cholesterol) 16% ดังนั้น สารอาหารในเมล็ดฟักทองอาจดีต่อสุขภาพหัวใจ เนื่องจากช่วยลดความดันโลหิต และเพิ่มไขมันดีให้ร่างกาย