4 กลยุทธ์จัดการข้อมูลภายในองค์กร ไขกุญแจความสำเร็จยุค Data Driven

Home » 4 กลยุทธ์จัดการข้อมูลภายในองค์กร ไขกุญแจความสำเร็จยุค Data Driven
4 กลยุทธ์จัดการข้อมูลภายในองค์กร  ไขกุญแจความสำเร็จยุค Data Driven

ความท้าทายของธุรกิจในยุค Data driven ที่มุ่งสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันเพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำหรืออยู่รอดให้ได้ในภาวะการแข่งขันที่ดุเดือด ท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน คือความสามารถในการเชื่อมโยงข้อมูลที่เกิดขึ้นจากทุกระบบ ทุกภาคส่วน ทั้งข้อมูลจากออนไลน์และออฟไลน์ จากระบบหน้าบ้านและหลังบ้าน (Back office) มาบริหารจัดการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด ให้กลายมาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการวางกลยุทธ์และการตัดสินใจ

ทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภายในองค์กร ด้วยการนำเอาข้อมูลดังกล่าวไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ (Business operation efficiency) ช่วยลดเวลาการทำงาน ลดขั้นตอนการทำงานซ้ำซ้อน ทั้งยังช่วยลดต้นทุนให้กับองค์กร รวมทั้งการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และใช้ในการกำหนดกลยุทธ์ต่าง ๆ ทางธุรกิจ การพัฒนาสินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง ตลอดจนการพัฒนาแคมเปญการตลาดเพื่อเพิ่มยอดขาย หรือสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ผลักดันองค์กรให้สามารถเข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภค นำมาซึ่งผลสัมฤทธิ์ในด้านการเพิ่มรายได้ ความพึงพอใจของผู้บริโภค และผลการดำเนินงานที่ดีอย่างยั่งยืนต่อธุรกิจ

นายณัฐนภัส รชตะวิวรรธน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เบลนเดต้า จำกัด บริษัทผู้พัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการ Big Data อัจฉริยะ กล่าวว่า ปัจจุบันองค์กรส่วนมากที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายและก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำ เป็นองค์กรที่ใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อนธุรกิจ (Data driven) แต่ในขณะเดียวกันหลายองค์กรก็ยังประสบกับอุปสรรค (Pain Point) ในการปรับตัวให้เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ด้วยการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที (IT Infrastructure) จำนวนข้อมูลมากมาย (Big Data) ที่เกิดขึ้นในทุกวินาที ทำให้การบริหารจัดการมีความยุ่งยากซับซ้อน หาจุดเริ่มต้นของการจัดการข้อมูลไม่ได้ ใช้ระยะเวลาที่นาน ไม่ทันกับสถานการณ์การแข่งขัน กำหนดทิศทางสวนทางความต้องการของตลาด หรือแม้แต่การขาดบุคลากรเฉพาะทาง ขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมไปถึงขาดงบประมาณเพื่อการบริหารจัดการข้อมูล

ทั้งนี้ จากการศึกษาตลาดวิเคราะห์บิ๊กดาต้าจาก BARC พบองค์กรสามารถเก็บผลประโยชน์จากบิ๊กดาต้าพร้อมต่อยอดธุรกิจ โดย 69% พบว่าบิ๊กดาต้าช่วยเพิ่มโอกาสการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่ดีขึ้น ขณะที่ 54% พบว่าสามารถควบคุมกระบวนการปฏิบัติงานและสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภคที่ดีขึ้น และ 47% พบว่าบิ๊กดาต้าช่วยการลดต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างรายรับ และผลกำไรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8% ในขณะที่ต้นทุนลดลง 10%

เพื่อช่วยขับเคลื่อนทุกองค์กรให้ก้าวข้ามช่วงภาวะวิกฤต ควบคู่การสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้สำเร็จตามเป้าหมาย Blendata แนะนำ 4 ขั้นตอน ซึ่งเป็นวิธีในการนำข้อมูลมาใช้เพื่อสร้างความได้เปรียบดังกล่าว ด้วยการดึงข้อมูลมาวิเคราะห์ ค้นหาซึ่งผลลัพธ์ที่แท้จริง ชี้ทิศทาง สร้างโอกาสทางการแข่งขัน สู่การเติบโตทางธุรกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างแม่นยำ ทั้งนี้ยังเป็น 4 ขั้นตอนที่เหมาะสำหรับองค์กรที่ต้องการปรับรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลแต่ยังไม่มีแนวทางในการเริ่มต้น ขั้นตอนเบื้องต้นดังกล่าวอาจช่วยกำหนดทิศทางการต่อยอด พัฒนาโครงสร้างองค์กรที่แข็งแกร่งได้ในปัจจุบันและอนาคต

 

การประเมินเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลในองค์กร ว่าข้อมูลเบื้องต้นประกอบด้วยข้อมูลอะไรบ้าง และข้อมูลดังกล่าวถูกจัดเก็บไว้ที่ใด เพราะทุกข้อมูลมีความสำคัญกับธุรกิจ นอกจากข้อมูลการขาย ข้อมูลการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM) และข้อมูลในคลังสินค้าแล้ว ข้อมูลเกี่ยวกับคำร้องเรียนจากลูกค้า การสำรวจ บันทึกการปฏิบัติการต่าง ๆ ทั้งจากรายการบันทึกการดำเนินงาน (Operational log) แอปพลิเคชัน (Application) รายการบันทึกโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure log) และข้อมูลพฤติกรรมต่าง ๆ ต่างมีความสำคัญไม่แพ้กัน

วางแผนและกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน ควรนำผลจากการประเมินเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลในองค์กรมาศึกษาหารือจากมุมมองทางธุรกิจ โดยยังไม่ต้องคำนึงถึงมุมมองหรือข้อจำกัด ด้านเทคโนโลยีและเทคนิคต่าง ๆ เพื่อดูว่าข้อมูลที่มีอยู่ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนา และเพิ่มศักยภาพในด้านใดได้บ้าง หรือสามารถช่วยในการบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร เพื่อกำหนดทิศทาง วางโรดแมป โดยนำข้อมูลมาใช้ทั้งแบบที่นำไปใช้ได้ผลในทันที และแบบนำไปใช้ในระยะยาว (Long-term win) ไม่เช่นนั้นแล้วข้อมูลที่มีอยู่จะกลายเป็นเพียงถังเก็บข้อมูลอีกแหล่งที่ใช้งานไม่ได้ หรือที่เรียกว่า Swamp of Data

เลือกกำหนดเป้าหมายแรกแบบที่สามารถนำข้อมูลไปใช้ได้และเห็นผลสำเร็จทันที หรือที่เรียกว่า Quick win และเร่งดำเนินการให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด ตั้งแต่ต้นจนสำเร็จแบบ end-to-end จากข้อมูลจนถึงผลลัพธ์ที่ใช้ในทางธุรกิจได้ โดยการทำ Big data และ Data analytics เพื่อผลลัพธ์ทางธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญ มากกว่าเทคโนโลยีที่ใช้งาน ดังนั้นจึงควรเลือกทำโครงการที่มีผลลัพธ์วัดผลได้ชัดเจนทางธุรกิจ เช่น เพิ่มยอดขาย ลดต้นทุน การปฏิบัติการที่เป็นเลิศ (Operation excellence) หรือการปรับปรุงประสบการณ์ลูกค้า และควรจะทำให้เสร็จให้เร็วที่สุด เพื่อวัดผล และตอบสมมติฐานที่ตั้งไว้ โดยอาจนำหลักระเบียบวิธี “Agile” มาใช้งาน

ผลักดันและสนับสนุนให้บุคลากรในองค์กรใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ แม้ทุกองค์กรจะตระหนักกันดีอยู่แล้วว่าข้อมูลนั้นมีความสำคัญมากเพียงใดในยุค Data Driven แต่จากผลการศึกษาของ Sigmacomputing.com พบว่าบริษัทเพียง 14% เท่านั้น ที่พนักงานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้

ทั้งพนักงานยังคงขาดความรู้และความสามารถในการนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจอีกด้วย ดังนั้นจึงควรผลักดันและส่งเสริมให้พนักงานทุกฝ่ายและทุกระดับในองค์กรมีความรู้ความเข้าใจในการใช้ข้อมูล ทั้งในด้านของการใช้เครื่องมือ (Tools) และการวิเคราะห์ (Analytics) เพื่อใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจในทุกขั้นตอนของการทำงาน ถือเป็นการวางฐานที่แข็งแรงและสร้างองค์กรให้ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลอย่างแท้จริง เป็นการสร้างการทำงานที่ขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาว มิใช่ทำงานเป็นโครงการแล้วจบไป

การสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันเป็นกลยุทธ์ที่อาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ซึ่งจะช่วยให้เป้าหมายขององค์กรสำเร็จได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นองค์กรจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ ให้สามารถเชื่อมต่อถึงกันและให้พนักงานทุกฝ่ายในองค์กรสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้เท่าทันกับภาวการณ์แข่งขัน ค้นหาตัวแปรหลัก ส่งสัญญาณให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าหรือบริการตอบโจทย์ผู้บริโภค อันจะนำมาซึ่งชัยชนะในการแข่งขันการตลาดและสร้างกำไรในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจ การดำเนินธุรกิจของทุกฝ่ายในองค์กร การกำหนดกลยุทธ์บริหารการตลาดที่รวมถึงการเพิ่มคุณภาพของสินค้าและบริการ การขยายช่องทางหรือเครือข่ายในการกระจายสินค้า การกำหนดราคาสินค้าหรือบริการที่สามารถแข่งขันได้ การสร้างแบรนด์ การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า เป็นต้น อันนำมาซึ่งการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ควบคู่กับการเพิ่มรายได้ เพื่อการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ