กรมชลประทาน จัดกิจกรรมติดตามโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อ บรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเพิ่มศักยภาพน้ำต้นทุนเพื่อบรรเทาภัยแล้งให้พื้นที่ในเขต อำเภอบ่อพลอย อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี และจัดหาแหล่งน้ำ เพื่อการเกษตรในพื้นที่ชลประทานทั้งหมด 414,000 ไร่
นายพิเชษฐ รัตนปราสาทกุล ผู้อำนวยการสำนักออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมกล่าวว่า กรมชลประทานได้เริ่มโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี มีลักษณะโครงการเป็นการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำและระบบส่งน้ำ เพื่อผันน้ำจาก อ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งของ อำเภอบ่อพลอย อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี
- สรุปเหตุการณ์ สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ขอลงจอดฉุกเฉินที่สุวรรณภูมิ เพราะตกหลุม
- ‘โค้ชอ๊อต’ ประกาศลาออก เซ่นผลงาน วอลเลย์บอล แพ้ 4 นัดรวด
- หื่นไม่เลือกที่ ไรเดอร์โดน ผดส.ล้วงน้องชาย ระหว่างขับไปส่ง
โดยองค์ประกอบของโครงการนั้น ตั้งอยู่ในเขตอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอบ่อพลอย อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ระยะเวลาดำเนินงานสำรวจและออกแบบรวม 720 วัน เริ่มตั้งแต่ 16 กันยายน 2566 สิ้นสุด 4 กันยายน 2568
เนื่องจากพื้นที่ในอำเภอดังกล่าวฯ เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากของจังหวัดกาญจนบุรี ราษฎรประสบกับปัญหาภาวะขาดแคลนน้ำมาอย่างยาวนาน จัดอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งสูงจนได้ชื่อว่า “อีสานแห่งกาญจนบุรี” และจากข้อจำกัดด้านสภาพภูมิประเทศ จึงไม่สามารถพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ได้ ถึงแม้จะมีการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำภายในพื้นที่ เช่น อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ฝายทดน้ำในลำน้ำ รวมถึงสระเก็บน้ำในไร่นา แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่อับฝนจึงมีปริมาณฝนตกน้อยมาก ทำให้ไม่มีน้ำไปเติมยังแหล่งเก็บกักน้ำที่ได้พัฒนาไว้ และบางพื้นที่ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติทำให้ไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้อย่างเพียงพอ
แนวคิดและแนวทางในการออกแบบของโครงการ จะมีการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการ และบริเวณใกล้เคียงตามนโยบายของรัฐบาล ลดปัญหาการย้ายถิ่นฐานของราษฎร โดยการส่งเสริมให้ราษฎรในท้องถิ่นมีอาชีพเกษตรกรรมที่มั่นคง รวมทั้งสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างประชาชนอย่างจริงจัง
สำหรับการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ผ่านมา เป็นการประชุมปฐมนิเทศโครงการ และการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 1 เพื่อประชาสัมพันธ์และนำเสนอที่มา ความสำคัญ ประโยชน์ ลักษณะและที่ตั้งโครงการ รวมถึงแนวคิดและหลักเกณฑ์การออกแบบของโครงการ ให้กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจรับทราบ รวมถึงรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อแนวทางการศึกษาโครงการตั้งแต่เริ่มต้น ต่อเนื่องตลอดการศึกษาโครงการ โดยมีองค์ประกอบโครงการดังนี้
อาคารหัวงาน ประกอบด้วย อุโมงค์ผันน้ำขนาดผ่าศูนย์กลาง 4.20 ม. จากอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ไปยังอ่างเก็บน้ำลำอีซู ความยาวประมาณ 20.53 กม. อัตราการผันน้ำ 12.00 ลบ.ม./วินาที พร้อมด้วยอาคารรับน้ำและอาคารจ่ายน้ำ ขนาด 4.20×4.20 ม.
ระบบอุโมงค์และอาคาร ประกอบด้วย ท่อส่งน้ำชนิดท่อเหล็กเหนียว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.50 ม. จากอ่างเก็บน้ำลำอีซู ไปยังบ่อพักน้ำหลุมรัง ระยะทาง 14.27 กม. และบ่อพักน้ำหลุมรัง ขนาดพื้นที่ 651 ไร่ ความจุประมาณ 3.70 ล้าน ลบ.ม.
พื้นที่รับประโยชน์ เป็นพื้นที่การเกษตร 414,000 ไร่ ประกอบด้วย คลองส่งน้ำสายใหญ่ จากบ่อพักน้ำหลุมรัง ไปยังพื้นที่รับประโยชน์ฝั่งซ้ายของคลองลำตะเพิน ความยาวประมาณ 94.20 กม. มีอัตราการส่งน้ำ 10.00 ลบ.ม./วินาที มีท่อส่งน้ำสายซอย และท่อส่งน้ำสายแยกซอยรวม 42 สาย ความยาวรวม 315.00 กม.
นายพิเชษฐกล่าวว่า การสำรวจออกแบบ โครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรีนั้น จะทำให้พื้นที่เกษตรจำนวน 414,000 ไร่ ในเขตอำเภอบ่อพลอย อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี มีน้ำใช้เพื่อการเพาะปลูกตลอดปีปฏิทิน และในฤดูแล้ง จะมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภคอีกด้วย นายพิเชษฐ รัตนปราสาทกุล ผู้อำนวยการสำนักออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมกล่าว