3 โรคเสี่ยง หากเรา “นอนไม่หลับ”

Home » 3 โรคเสี่ยง หากเรา “นอนไม่หลับ”
3 โรคเสี่ยง หากเรา “นอนไม่หลับ”

อาการนอนไม่หลับ หรือการนอนหลับไม่เพียงพอ (insomnia) คือ นอนหลับได้ลำบาก นอนหลับไม่สนิท หลับๆ ตื่นๆ กระทั่งตื่นนอนเร็วกว่าปกติแล้วรู้สึกไม่สดชื่น จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่า 45 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรโลก เคยมีอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการนอน โดยที่ 35 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นอาการนอนไม่หลับ ผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับ จะมีปัญหาในการทำงานด้วยประสิทธิภาพที่ลดลง ในสัดส่วนที่มากกว่าผู้ที่ไม่มีปัญหาถึง 3 เท่า

และการนอนไม่เพียงพอยังทำให้การเรียนรู้ ความจำ และสมาธิในการทำงานต่าง ๆ ลดลง เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีปัญหาการนอน นอกจากนี้หากนอนหลับไม่เพียงพอติดต่อกันเป็นเวลานาน จะส่งผลทำให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ภาวะโรคอ้วน รวมไปถึงผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะเครียด โรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า

นอนไม่หลับ เสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง

  1. โรคหลอดเลือดหัวใจส่วนใหญ่เกิดจากไขมันและเนื้อเยื่อ สะสมในผนังของหลอดเลือด ทำให้เยื่อบุผนังหลอดเลือดชั้นในตำแหน่งนั้นหนาตัวขึ้น ทำให้หลอดเลือดมีการตีบแคบลง ทำให้เลือดซึ่งนำออกซิเจนไหลผ่านได้น้อยลง ส่งผลให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ จนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งจะทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกเกิดขึ้น และการนอนไม่เพียงพอ อาจจะส่งผลให้ความดันมีอาการขึ้นสูงผิดปกติได้
  2. โรคนอนไม่หลับเรื้อรังอาการคือต้องเกิดขึ้นมานานกว่า 1 เดือนขึ้นไป ซึ่งอาจมาจากสาเหตุเดียว หรือหลายสาเหตุร่วมกัน ดังเช่น โรคทางจิตเวช ผู้ป่วยที่มีภาวะอารมณ์ตกต่ำลง หรือซึมเศร้าและวิตกกังวล โรคทางอายุรกรรม เช่น โรคสมองเสื่อม ภาวะทางฮอร์โมน การตั้งครรภ์ วัยทอง โรคหอบหืด และอาการปวด การไอเรื้อรัง การหายใจลำบาก การต้องตื่นมาปัสสาวะบ่อย ๆ อาจรบกวนการนอนของผู้ป่วยได้
  3. โรคอารมณ์แปรปรวนหรือไบโพลาร์ เป็นความผิดปกติทางอารมณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีลักษณะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมา ระหว่างอารมณ์ซึมเศร้า สลับกับช่วงที่อารมณ์ดีมากกว่าปกติ โดยสาเหตุจะมาจากความเครียดสะสม การนอนหลับไม่เพียงพอ ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่รู้สึกกระปรี้กระเปร่า หงุดหงิดง่ายนั่นเอง ทั้งนี้อาการในแต่ละช่วงอาจเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ หรือหลายเดือนก็ได้

วิธีการรักษาอาการนอนไม่หลับ

  1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเช่น นอนห้องเย็นๆ นอนให้เป็นเวลา ถ้านอนไม่หลับนานๆ อย่านอนคาอยู่บนที่นอน อย่าเล่นมือถือหรือดูทีวีก่อนนอน และหลีกเลี่ยงแสงไฟ งดกาแฟ หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์
  2. ใช้ยารักษามียาหลายชนิดที่สามารถใช้รักษาอาการนอนไม่หลับได้ ยาบางตัวอาจช่วยให้เริ่มรู้สึกง่วง ในขณะที่ยาบางตัวอาจช่วยให้นอนหลับได้นานขึ้น ซึ่งยาที่มักใช้รักษาอาการนอนไม่หลับ ประกอบด้วยกลุ่ม ยานอนหลับ ยาต้านจิตเวชและยาต้านเศร้า ยากลุ่ม Melatonin Receptor ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้เลือกยากลุ่มที่เหมาะสมกับอาการ และควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับประโยชน์ ความเสี่ยงของการใช้ยาเหล่านี้ด้วย เพราะยาบางตัวอาจมีผลข้างเคียงรุนแรงได้
  3. การบำบัดจากผู้เชี่ยวชาญเนื่องจากมีผู้ป่วยบางคนที่อาจต้องการรักษาโดยที่ไม่ต้องใช้ยา การบำบัดจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องการนอนหลับ จึงอาจเป็นวิธีที่สามารถช่วยได้ การทำ Cognitive-behavioral therapy (CBT) เป็นวิธีหนึ่งในการใช้รักษาอาการนอนไม่หลับ ซึ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงนิสัย และปัจจัยซึ่งอาจทำให้รู้สึกกังวลเกี่ยวกับการนอนหลับ การบำบัดจะต้องเข้าพบผู้เชี่ยวชาญอย่างสม่ำเสมอ เป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อช่วยให้สามารถเปลี่ยนวิธีการนอนหลับได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ