โรควุ้นตาเสื่อม มักจะพบในผู้ป่วยที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นผลมาจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น
ผศ. พญ.แพร์ พงศาเจริญนนท์ เฟอร์เรร่าห์ ฝ่ายจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า ในปัจจุบันมีการใช้สายตามากขึ้นในทุกวัย อาจทำให้สังเกตอาการของวุ้นตาเสื่อมได้มากขึ้น โดยวุ้นตาเสื่อมสามารถรบกวนการมองเห็น และเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น จอตาฉีกขาด หรือจอตาลอกหลุดที่อาจทำให้มองไม่เห็นได้ถ้าไม่รีบรักษา จึงมีความจำเป็นอย่างมาก ที่จะต้องทำการคัดกรองและรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับอาการวุ้นตาเสื่อมตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
สัญญาณอันตราย “วุ้นตาเสื่อม”
อาการของโรควุ้นตาเสื่อมที่พบบ่อย มีดังนี้
- มีจุดลอยที่เกิดจากการเสื่อมของวุ้นตา โดยมักมองเห็น เมื่อมองไปที่พื้นที่สว่าง เช่น ผนังสีขาวหรือท้องฟ้า โดยจะเห็นเป็นจุดดำหรือ จุดสีเทาลอยไปมา มีรูปร่างหลายแบบ บางครั้งมีรูปร่าง วงกลม หยากไย่ หรือคล้ายยุง
- มีความผิดปกติในการมองเห็น เช่น มีเงาขนาดใหญ่มาบังภาพ หรือตามัวลง
- เห็นแสงวาบในตาถี่ๆ เหมือนแสงฟ้าแลบหรือแสงไฟ โดยเห็นเป็นระยะเวลาสั้นๆ โดยมองเห็นได้ชัดในเวลาที่อยู่ในที่มืด
วุ้นตาเสื่อมเป็นภาวะตามธรรมชาติ อาการเบื้องต้นไม่ต้องทำการรักษาแต่หากมีอาการภาวะแทรกซ้อนที่พบร่วมด้วย เช่น จอตาฉีกขาด จอตาลอกหลุด หรือเลือดออกในวุ้นตา อาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็นและควรพบจักษุแพทย์เพื่อคัดกรองภาวะดังกล่าวเมื่อเริ่มมีอาการวุ้นตาเสื่อม