3 สัญญาณอันตราย "โรคซึมเศร้า" ในผู้สูงอายุ

Home » 3 สัญญาณอันตราย "โรคซึมเศร้า" ในผู้สูงอายุ
3 สัญญาณอันตราย "โรคซึมเศร้า" ในผู้สูงอายุ

สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในปัจจุบันส่งผลให้ยอดผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในบ้านเราเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน เราทุกคนก็มีสิทธิ์เป็นโรคซึมเศร้าได้เท่าๆ กัน ไม่เว้นแม้แต่วัยผู้สูงอายุที่หลายคนอาจจะคิดว่า วัยนี้ไม่น่าจะมีเรื่องเครียด หรือทุกข์ร้อนอะไรมากเท่าคนวัยทำงานที่ต้องเร่งหาเงิน สร้างฐานะและครอบครัว 

ผศ.พญ.กิติกานต์ ธนะอุดม อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุอาจไม่ได้ต่างจากโรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยในวัยอื่นสักเท่าไร แต่เป็นกลุ่มที่เราควรให้ความใส่ใจและหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้น เพราะผู้ป่วยจะมีความผิดปกติทางอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์เศร้าหรือเบื่อ แล้วส่งผลต่อพฤติกรรมและความคิด บางรายอาจร้องไห้ง่าย ทุกข์ใจ เบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไร มองตัวเองไร้ค่า ในรายที่รุนแรงอาจคิดทำร้ายตัวเองได้

ผู้สูงอายุกลุ่มไหนเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุเป็นภาวะที่พบได้บ่อย แต่ในบางกลุ่มอาจมีความเสี่ยงมากขึ้นเมื่อ

  1. อยู่ห่างไกลจากครอบครัว
  2. มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคพาร์กินสัน
  3. มีการเปลี่ยนแปลงในชีวิต เช่น เกษียณจากงาน สูญเสียคนในครอบครัว 
  4. มีอายุมากกว่า 85 ปีขึ้นไป

อาการโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

ผู้ใกล้ชิดควรหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ เนื่องจากบางรายอาจไม่ค่อยชอบพูดคุยกับคนรอบข้างมากนักว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไร หากผู้สูงอายุมีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นตามนี้ นี่อาจเป็นสัญญาณของโรคซึมเศร้าได้

  1. มีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น หงุดหงิดง่าย น้อยใจง่าย มีความวิตกกังวลสูงขึ้นมาก 
  2. มีอาการทางร่างกายมากกว่าเดิม เช่น อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง นอนไม่หลับ
  3. มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น นิ่งเฉย ไม่ค่อยพูด

หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ แต่อาการดังกล่าวส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป

การรักษาโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

  1. การทานยาต้านเศร้า หากผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวอยู่ควรแจ้งแพทย์ทุกครั้ง เนื่องจากการทานยารักษาโรคประจำตัวอื่นๆ อาจทำปฏิกิริยากับยาต้านเศร้าได้ ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้ในกลุ่มผู้สูงอายุจะค่อนข้างใช้เวลาในการออกฤทธิ์มากกว่าผู้ป่วยในวัยอื่นๆ โดยอาจใช้เวลามากกว่า  1 เดือน
  2. ปรับเปลี่ยนความคิด พฤติกรรม และเพิ่มกิจกรรมผ่อนคลายต่าง ๆ โดยจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นมากขึ้น
  3. รักษาโรคประจำตัวของผู้สูงอายุให้ดีขึ้น สำหรับรายที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว แต่ยังควบคุมได้ไม่ค่อยดี อาจต้องพิจารณาให้ยาหรือการรักษาที่ช่วยให้อาการของโรคสงบได้ดีขึ้น จะช่วยให้การรักษาโรคซึมเศร้าได้ผลดีขึ้นด้วย

โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุต้องอาศัยความใส่ใจของคนในครอบครัว หมั่นสังเกตและตระหนักถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ถือเป็นด่านแรกของการนำไปสู่การวินิจฉัยและการรักษาอย่างรวดเร็วต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ