3 นักวิทย์คว้ารางวัล โนเบลสาขาเคมี คิดค้นเทคนิคสร้างโมเลกุลแบบ "คลิกเคมี"

Home » 3 นักวิทย์คว้ารางวัล โนเบลสาขาเคมี คิดค้นเทคนิคสร้างโมเลกุลแบบ "คลิกเคมี"


3 นักวิทย์คว้ารางวัล โนเบลสาขาเคมี คิดค้นเทคนิคสร้างโมเลกุลแบบ "คลิกเคมี"

3 นักวิทย์คว้ารางวัล โนเบลสาขาเคมี คิดค้นเทคนิคสร้างโมเลกุลแบบ “คลิกเคมี”

วันที่ 5 ต.ค. รอยเตอร์ รายงานว่า คณะกรรมการรางวัลโนเบลแห่งราชบัณฑิตยสถานสวีเดน ที่กรุงสต็อกโฮล์ม ประกาศรายชื่อผู้รับมอบรางวัล โนเบลสาขาเคมี ประจำปี 2565 เป็นนักวิทยาศาสตร์ 3 คน ผู้คิดค้นเทคนิคการสร้างโมเลกุลแบบ “คลิกเคมี” (Click Chemistry) และปฏิกิริยาเคมีแบบใหม่ “ไบโอออร์โธโกนอล” (bioorthogonal chemistry)

 

นักวิทย์ทั้ง 3 คน ได้แก่ นางแคโรลีน อาร์. แบร์ตอซซี นักเคมีจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา นายมอร์เต็น เมลดัล จากมหาวิทยาลัยกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก และนายเค. แบร์รี ชาร์ปเลส จากสถาบันวิจัยสคริปปส์ ประเทศสหรัฐ

คณะกรรมการรางวัลโนเบลระบุว่า ปฏิกิริยาเคมีแบบใหม่และคลิกเคมีมีประโยชน์อย่างใหญ่หลวงในหลากหลายด้านต่อมนุษยชาติ เช่น การพัฒนายาชนิดใหม่และเป้าหมายการออกฤทธิ์ที่แม่นยำ การหาลำดับสารพันธุกรรม (DNA sequencing) การพัฒนาวัสดุชนิดใหม่ที่มีความก้าวหน้า การศึกษาสารพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตและการศึกษากลไกการก่อโรคของโรคติดเชื้อ รวมถึงการค้นหาโมเลกุลชนิดใหม่ที่ยังไม่เคยเป็นที่รู้จักมาก่อน

 

ด้านเว็บไซต์สารคดี ไลท์ ระบุว่า ปฏิกิริยาเคมีแบบไบโอออร์โธโกนอล เป็นปฏิกิริยาเคมีแนวใหม่ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในสิ่งมีชีวิต (ไม่ได้อาศัยเอนไซม์) โดยไม่สร้างความเสียหาย หรือกระทบการทำงานปกติของระบบต่างๆในสิ่งมีชีวิต เป็นปฏิกิริยาเคมีที่สามารถเกิดได้ในน้ำซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในเซลล์ ซึ่งการค้นพบนี้เกิดขึ้นเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว

สารคดี ไลท์ ระบุว่า ปฏิกิริยาเคมีแบบไบโอออร์โธโกนอลเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์อย่างมากและได้เปลี่ยนมุมมองของนักเคมีและชีววิทยามาจนปัจจุบันเพราะไม่มีใครคาดคิดว่าปฏิกิริยาดังกล่าวจะสามารถเกิดขึ้นได้ และเทคโนโลยีนี้ได้ถูกใช้ในการศึกษาสารชีวโมเลกุลหลายชนิดในสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะสารประเภทน้ำตาล ปัจจุบัน ปฏิกิริยาเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในงานวิจัยอย่างแพร่หลายทั่วโลก และเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลิตยา สร้างเซ็นเซอร์ตรวจหาโรคมะเร็งและวัณโรค หรือใช้สังเคราะห์สารเคมีที่มีประโยชน์มากมาย

 

ทั้งนี้ การประกาศรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมจะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (6 ต.ค.) ต่อด้วยสาขาสันติภาพในที่ 7 ต.ค. และสาขาเศรษฐศาสตร์เป็นสาขาสุดท้ายในวันที่ 10 ต.ค.

รางวัลโนเบลแต่ละสาขานั้นมาพร้อมกับเงินรางวัล 10 ล้านโครนาสวีเดนหรือกว่า 34 ล้านบาท ซึ่งจะมีพิธีมอบในวันที่ 10 ธ.ค. ของแต่ละปีโดยมูลนิธิโนเบลที่นายอัลเฟร็ด โนเบล นักประดิษฐ์ชาวสวีเดนก่อตั้งขึ้นผ่านพินัยกรรมมรดกหลังถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปีพ.ศ. 2438

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ