2สื่อยักษ์ วิเคราะห์ผลเลือกตั้ง66 กระตุ้นไปใช้สิทธิ์ เตือนผู้มีอำนาจ ยึดติดมีสิทธิพัง

Home » 2สื่อยักษ์ วิเคราะห์ผลเลือกตั้ง66 กระตุ้นไปใช้สิทธิ์ เตือนผู้มีอำนาจ ยึดติดมีสิทธิพัง


2สื่อยักษ์ วิเคราะห์ผลเลือกตั้ง66 กระตุ้นไปใช้สิทธิ์ เตือนผู้มีอำนาจ ยึดติดมีสิทธิพัง

2 สื่อยักษ์ใหญ่ วิเคราะห์ผลเลือกตั้ง 66 ‘ปราปต์’ ชี้ผลโพล สะท้อนความรู้สึกคน กระตุ้นคนไปเลือกตั้ง ‘อัครพงษ์’ เตือนผู้มีอำนาจอย่าดูเบา อำนาจต้องแชร์กัน

เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่อาคารสำนักงานมติชน ประชานิเวศน์ กรุงเทพฯ สองสื่อยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ “มติชน x เดลินิวส์” ร่วมสรุปผลและวิเคราะห์ผลโพลเลือกตั้ง 2566 และฟันธงโค้งสุดท้ายเลือกตั้ง 2566 สะท้อนอนาคตการเมืองไทย

โดยช่วงแรกร่วมวิเคราะห์ผลเลือกตั้ง 2566 โดยมีนายปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์, นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), นายอัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

นายปารเมศ กล่าวว่า การทำโพลครั้งนี้ถือว่าสำเร็จเกินคาด จากผลโพลคะแนนพรรคก้าวไกลเยอะมาก ก็สงสัยว่าจะเป็นคะแนนจากนิวเจน ผลปรากฎว่าไม่ใช่อย่างที่คิด ซึ่งต้องขอบคุณพันธมิตรทุกฝ่ายในการร่วมทำโพลที่ทำให้ประชาชนมีแนวทางความคิดในการเลือก ส.ส.เขต หรือ ปาร์ตี้ลิสต์ ที่ทำให้ประเทศเราจะก้าวหน้าหรืออยู่กับที่ จากผลโพลเทรนคนส่วนใหญ่ต้องการความเปลี่ยนแปลง ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งเป็นเรื่องสำคัญ พรรคการเมืองที่ทำเก่งและทำเยอะจะได้เปรียบเยอะ พรรคไหนที่ยังทำไม่เก่งก็ต้องไปกระตุ้นทำให้มากขึ้น ซึ่งวันที่ 14 พ.ค. นี้ เราจะรู้ผลกันแล้ว

ด้านนายปราปต์ กล่าวว่า ฐานคนอ่านมติชนกับเดลินิวส์น่าจะต่างกัน แต่สิ่งที่เซอร์ไพรส์คือผลคะแนนออกมาไม่ต่างกัน ทั้งผลคะแนน ระยะห่างของคะแนน มีความสอดคล้องกันหมด เหมือนมีการดับเบิ้ลเช็คกัน อีกจุดหนึ่งของเป้าประสงค์ในการทำโพล คือ เราเป็นสื่อ และไม่ได้ต้องการทำโพลอย่างเป็นทางการเหมือนสำนักโพลมืออาชีพ แต่ต้องการกระตุ้นผู้อ่านและคนดูให้มีความสนใจ และอยากมีส่วนร่วมกับการเลือกตั้ง เราได้รับทราบเจตจำนงค์ทางการเมืองของประชาชน รวมทั้งการขยับขยายการผลิตคอนเทนท์ทางการเมืองใหม่ๆ จึงเป็นที่มาของการทำโพลและวิเคราะห์โพลการเมือง

นายปราปต์ กล่าวอีกว่า มีอีกสิ่งหนึ่งที่อยู่นอกเหนือจากคะแนนโพล และเห็นเป็นรูปธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้ง คือ มวลชนหน้าเวที ที่มีทั้งเสียงโห่ เสียงเชียร์ของแต่ละพรรค ที่มีความรู้สึก มีความรัก ความเกลียดชัง ความหวัง ทั้งหมดส่งผลต่อการเลือกตั้ง การมองเห็นถึงคะแนนผลโพล และมองความรู้สึกของคน นี่คือ พลังของประชาชนทั้งสิ้น

ขณะที่นายอัครพงษ์ กล่าวว่า การวิเคราะห์ผลโพล เราวิเคราะห์จากคะแนนที่ได้มา และจาก 4 คำถามของโพล คือ เลือก ส.ส.เขตจากพรรคใด เลือกปาร์ตี้ลิสต์พรรคใด สนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี และ ส.ว.ควรโหวตเลือกแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคใด ครั้งแรกมีผู้ร่วมทำโพลกว่า 8 หมื่นคน และรอบที่ 2 กว่า 7 หมื่นคน เรามีการทำสูตรในการวิเคราะห์โพลของมติชนกับเดลินิวส์ ซึ่งดึงเอากลุ่มตัวอย่างมาก่อน แล้วเอาความมีเหตุมีผลตามมา ซึ่งการทำโพลสะท้อนความเชื่อมั่น 95 % ความคลาดเคลื่อนมีเพียงร้อยละ 0.35 อีกทั้งโพลนี้มีผู้มีชื่อเสียง คนดัง นักการเมือง มีส่วนร่วมทำแบบสอบถาม รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นโพลที่สะท้อนกระแสของการมีส่วนร่วม และผลโพลที่ออกมาไปทางพรรคก้าวไกล

นายอัครพงษ์ กล่าวอีกว่า 4 คำถามนั้น มีการสอบถามข้อมุลส่วนบุคคลโดยไม่ระบุชื่อ ทั้งนี้เพศชาย มีสัดส่วนกว่า 60% พนักงานบริษัทมากที่สุด ระดับการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไปมากสุด กลุ่มรายได้ 5 หมื่นบาทขึ้นเยอะมากที่สุด โพลครั้งนี้คือ โพลของคนเสียงดัง แต่ตัวโพลที่มองไม่เห็นของคนตัวเล็กจะหาคำตอบได้จากพรรคการเมือง สุดท้ายนโยบายต่างๆ ของพรรคการเมือง ก็ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของประชาชนว่าชอบหรือไม่ กระทบต่อประชาชนหรือไม่ การเลือกตั้งในยุคดิจิทัล หรือ มาร์เก็ตติ้งดิจิทัล พรรคการเมืองต้องตามสมัย พรรคการเมืองไม่ตามกระแสนออกไลน์มักไม่รอด

นายอัครพงษ์ สะท้อนมุมมองอีกว่า การเสนอขายการเลือกตั้งเป็นของชนหมู่มาก และมาพร้อมกับความนิยม ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม 1.กลุ่มที่เอาพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย 2.กลุ่มที่ไม่เอาพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย 3.กลุ่มที่เบลอๆ ไม่รู้จะเลือกอะไร กลุ่มนี้มีประมาณร้อยละ 20 ซึ่งจะหมุนไปตามกระแส และ 4.กลุ่มที่ Need Promotion ที่อิงตามนโยบาย สุดท้ายตนคิดว่าคำถามที่สำคัญ คือ คำถามที่เราไม่เห็นจากโพล คือโพลไม่เห็น 400 เขต แต่ละพรรคมีฐานพื้นที่อยู่แล้ว ให้แต่ละพรรคกลับไปดูฐานพื้นที่ของท่าน นั่นคือ บูมมาร์เกตของท่าน

“สิ่งสำคัญของโพล คือ การกระตุ้นความรู้สึกของคนให้มีส่วนร่วมกับการเลือกตั้ง มีจิตใจเป็นเจ้าของชาติ และ 14 พ.ค. นี้ ให้ออกไปเลือกตั้งกัน 8 ปีที่ผ่านมา ประชาชนสะสมความนึกคิด ผู้มีอำนาจอย่าดูเบา อำนาจต้องแชร์กัน เพราะไม่มีใครครองอำนาจอย่างยาวนาน สุดท้ายไม่แบ่งปัน คนๆนั้น จะโดนกำจัดอย่างชิ้นซาก ขณะเดียวกันคนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง อย่าไปดูแคลนคนที่ต้องการเหมือนเดิม ให้เรามีสติกับผลที่ออกมา ผู้คนที่มาเลือกตั้งล้วนกำหนดชะตาชีวิตของชาติ” นายอัครพงษ์ เผย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ