190 ปีสานสัมพันธ์ทางการทูต “สหรัฐ” สื่อสาร “รัฐบาลไทย” อย่างใกล้ชิดในประเด็นเมียนมา แย้มไฮไลต์งานจับคู่แม่น้ำโขง-มิสซิสซิปปี
ในงานเปิดตัวโลโก้หรือตราสัญลักษณ์เฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-สหรัฐครบ 190 ปีที่ทำเนียบบ้านพักทูตเมื่อ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา
นายโรเบิร์ต เอฟ.โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยตอบคำถามในประเด็นเมียนมาหรือพม่าเกี่ยวกับความคืบหน้าในการร่วมมือกับไทยกดดันรัฐบาลทหารพม่าให้ยุติความรุนแรงโหดร้ายต่อประชาชน ว่า ระบอบทหารในพม่ากระทำความโหดร้าย วางระเบิด สังหารประชาชนของตนเอง ละเมิดสิทธิมนุษยชนเกินปกติธรรมดา จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดที่จะยุติความรุนแรงอันโหดร้าย
สหรัฐอเมริกาสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งต่อความพยายามของอาเซียนในการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อที่จะกดดัน และรวมถึงการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ
“เรามีการสื่อสารที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยอย่างเห็นได้ชัด และโดยส่วนตัว ผมสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ไทย หารือเกี่ยวกับสถานการณ์…เราไม่ได้เห็นพ้องต้องกันในทุกสิ่ง แต่เราเป็นหุ้นส่วนและมิตรที่ใกล้ชิดต่อกันเสมอ” นายโกเดคกล่าว
ทูตสหรัฐขอบคุณรัฐบาลไทยที่ยินดีรับคนพลัดถิ่น ประชาชนที่หนีความรุนแรงจากพม่ามายังประเทศไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างแท้จริงเพื่อให้มั่นใจว่า พวกเขาปลอดภัย
นายโกเดคกล่าวว่า เราอยู่ระหว่างหารือระหว่างกันกับหลายหุ้นส่วนทั่วโลกอย่างต่อเนื่องรวมถึงไทย และว่า วันนี้ (1 ก.พ. 2566 ) สหรัฐเพิ่งประกาศการแซงก์ชั่นรอบใหม่ต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับระบอบทหารพม่า ดังนั้นเรากำลังก้าวไปสู่ขั้นใหม่ที่จะกดดัน และมีการออกแถลงการณ์ประณามร่วมกันกับหลายหุ้นส่วนทั่วโลกอย่างชัดเจน ดังนั้นเรากำลังทำงานร่วมกันเพื่อหลายประเทศทั่วโลกเพื่อแสวงหาทางแก้ไข ซึ่งขณะนี้พม่ามีการเปลี่ยนผ่านที่สุดขั้ว
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา และออสเตรเลีย ประกาศยกระดับมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจหรือแซงก์ชั่อต่อเผด็จการทหารพม่าครั้งใหม่ ซึ่งมุ่งเป้าที่กลุ่มเผด็จการทหารพม่าและกลุ่มทุนที่มีความเกี่ยวโยงสนับสนุนทางการเงิน รวมถึงเอกชนที่จำหน่ายเชื้อเพลิงให้กับเครื่องบินรบของกองทัพพม่าซึ่งถูกใช้ในการโจมตีทางอากาศเพื่อรักษาอำนาจของระบอบทหาร
การยึดอำนาจของกองทัพเมียนมาเข้าสู่ปีที่ 3 องค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็นแสดงความกังวลว่า การจัดการเลือกตั้งของรัฐบาลทหารจะยิ่งทำให้เกิดความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง และภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน เมียนมาไม่สามารถทำให้เกิดการเลือกตั้งที่ยุติธรรมและโปร่งใสได้ กระทั่งล่าสุดรัฐบาลทหารขยายภาวะฉุกเฉินไปอีก 6 เดือน
ข้อมูลจากสหประชาชาติระบุว่า ประชาชน 17.5 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในปี 2566 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่ทหารยึดอำนาจ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1 ล้านคนและสิ่งก่อสร้างของพลเรือนกว่า 34,000 แห่งถูกเผาทำลายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
เจ้าหน้าที่ความมั่นคงใช้กำลังปราบปรามฝ่ายต่อต้าน ทำให้มีพลเรือนเสียชีวิตเกือบ 2,900 ราย และจับกุมประชาชนอีกหลายพันคนที่มีส่วนร่วมในการประท้วงมากกว่า 18,000 คน
สหรัฐและไทยเป็นมิตรและหุ้นส่วนกว่า 190 ปี ไทยเป็นมิตรที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียของสหรัฐ ตลอดช่วงเวลาดังกล่าวมีความร่วมมือในหลายด้าน ไม่ว่าด้านสุขภาพ การค้า การลงทุน รวมถึงความมั่นคง
ในปีแห่งการเฉลิมฉลอง ทูตสหรัฐกล่าวว่า ตนเองต้องการแสวงหาหนทางใหม่ๆเพื่อทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและไทยแข็งแกร่งและลึกซึ้งยิ่งขึ้นในอีก 10 ปีต่อจากนี้ พร้อมมุ่งหน้าสู่วาระครบรอบ 200 ปีแห่งความสัมพันธ์สหรัฐ-ไทย
ในปี 2566 จะมีงานเฉลิมฉลองไฮไลต์ อาทิ การฉลองแห่งสองแม่น้ำสายสำคัญของสหรัฐและไทย ได้แก่ แม่น้ำโขงและแม่น้ำมิสซิสซิปปี ซึ่งแม่โขงเป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญอย่างมากต่อประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวม และแม่น้ำมิสซิสซิปปีมีความสำคัญอย่างมากต่อสหรัฐอเมริกา ดังนั้นจะมีการจัดงานฉลองในกรุงเทพมหานครและจังหวัดเชียงราย เน้นที่การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างสหรัฐและไทย
……………….
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง;
ว่าที่ทูตสหรัฐประจำประเทศไทยคนใหม่ให้คำมั่นช่วยไทยกดดันพม่า