อาการผิดปกติต่างๆ ที่ทำให้เราไม่สบายตัว ปวดนู่นปวดนี่ จนทำให้คุณภาพชีวิตลดลง แต่คุณอาจหาสาเหตุไม่ได้ว่าเป็นเพราะอะไร จริงๆ แล้วอาจมีสาเหตุมาจากสภาวะ “ฮอร์โมนไม่สมดุล” ก็ได้ เพราะฮอร์โมนเป็นเสมือนสารเคมีที่สื่อสารส่งไปยังเซลล์ และอวัยวะต่างๆ ในร่างกายให้ทำงานอย่างปกติ และสมดุล ดังนั้นหากฮอร์โมนมีความผิดปกติ เราอาจแสดงอาการผิดปกติอะไรบางอย่างออกมาด้วยเช่นกัน
12 สัญญาณอันตราย ฮอร์โมนไม่สมดุล
- รอบเดือนผิดปกติ
ปกติแล้วผู้หญิงจะมีรอบเดือนทุกๆ 21-35 วัน แต่หากรอบเดือนมาบ่อยเกินไป หรือประจำเดือนขาด นั่นก็หมายความว่าเรามีฮอร์โมนเอสโตรเจน ที่เป็นฮอร์โมนเพศหญิง รวมไปถึงฮอร์โมนโปรเจสโตรโรน ที่เป็นตัวควบคุมการมาของประจำเดือนมาก หรือน้อยเกินไป
- นอนไม่หลับ หรือหลับยาก
นอกจากฮอร์โมนเมลาโทนินที่มีส่วนช่วยให้นอนหลับได้สบายขึ้นแล้ว ยังมีฮอร์โมนโปรเจสโตรโรน ที่ผลิตออกมาจากรังไข่คุณผู้หญิง ที่ช่วยให้คุณผู้หญิงนอนหลับได้สบายมากขึ้น แต่หากฮอร์โมนหนึ่งในสองชนิดนี้มีปริมาณต่ำกว่าปกติ ก็จะส่งผลต่อการนอนหลับได้เช่นกัน รวมไปถึงฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เป็นฮอร์โมนเพศหญิง ถ้ามีฮอร์โมนชนิดนี้ต่ำกว่าปกติ ก็อาจทำให้คุณผู้หญิงรู้สึกร้อนวูบวาบ หนาวๆ ร้อนๆ หรือมีเหงื่อออกตอนกลางคืน ทำให้รบกวนการนอนหลับได้เหมือนกัน
- สิวขึ้นมากผิดปกติ
สิวฮอร์โมนที่ขึ้นเป็นเม็ดๆ บนใบหน้าก่อนมีประจำเดือนเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้น่ากลัวอะไร แต่หากมีสิวขึ้นเป็นประจำไม่หายขาดเสียที อาจมีปัญหาที่ฮอร์โมนแอนโดรเจน ที่หากมีปัญหาจะส่งผลให้ต่อมไร้ท่อ และต่อมไขมันที่เซลล์ของผิวหนัง และรูขุมขนทำงานผิดปกติ จึงทำให้เกิดการอุดตันจนกลายเป็นสิวได้
- หลงๆ ลืมๆ
ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าหากฮอร์โมนเอสโตรเจนมีความผิดปกติ จะส่งผลกระทบต่อการควบคุมในสมอง และสารด้านสื่อประสาท ซึ่งมีผลต่อสมาธิ และความจำด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงใกล้หมดประจำเดือน จะมีอาการหลายอย่างที่เชื่อมโยงกับระดับฮอร์โมนและต่อมไทรอยด์ ทำให้การทำงานของสมองอาจไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่เหมือนช่วงเวลาอื่นๆ
- ปวดท้อง
ไม่ใช่อาการปวดท้องทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน แต่เป็นอาการปวดท้องบริเวณท้องน้อยที่เกิดขึ้นก่อน หรือระหว่างมีประจำเดือนของคุณผู้หญิงนั่นเอง อาการปวดประจำเดือนในผู้หญิงแต่ละคนแตกต่างกัน และไม่ถือว่ามีความผิดปกติมากนักหากเป็นอาการปวดเพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่หากปวดประจำเดือนมากๆ จนทนไม่ไหว ปวดท้องจนหน้าซีด และในบางครั้งยาแก้ปวดประจำเดือนก็เอาไม่อยู่ แบบนี้อาจส่งผลมาจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ผิดปกติ อย่างไรก็ตาม สำหรับอาการปวดท้องมีสาเหตุมากมาย หากมีอาการปวดท้องมากๆ ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง
- เมื่อยล้า อ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา
เมื่อฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์มีจำนวนน้อยลง อาจส่งผลให้ร่างกายเหนื่อยล้า และพลังงานลดลง โดยอาจมาจากความผิดปกติของฮอร์โมนที่มาจากการทำงานของท่อมไทรอยด์เอง หรืออาจจะเป็นความผิดปกติของต่อมไทรอยด์เองก็ได้
- เครียด อารมณ์แปรปรวน
หากใครเคยได้ยินคำว่า ฮอร์โมนแปรปรวน หรือ Hormone Swing คงเข้าใจว่ามีอาการเป็นอย่างไร นอกจากอารมณ์หงุดหงิดโมโหง่ายแล้ว ฮอร์โมนเอสโตรเจนยังเป็นกุญแจสำคัญที่ส่งผลต่อสมองและอารมณ์อีกด้วย
- น้ำหนักเพิ่มขึ้น
จะบอกว่าอ้วนขึ้นเพราะฮอร์โมนผิดปกติก็อาจจะเป็นไปได้ เพราะเมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยลง เราก็จะรู้สึกอยากอาหารมากขึ้น ต่อมความหิวก็เริ่มทำงานมากขึ้น จึงทำให้ผู้หญิงหลายคนอยากทานอาหารจุกจิกมากขึ้นจนน้ำหนักเพิ่มขึ้นนั่นเอง
- ปวดศีรษะ
อาการปวดศีรษะมีหลายสาเหตุ แต่หนึ่งในนั้นยังมีเรื่องของฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ โดยเฉพาะช่วงก่อนมีประจำเดือน หากลองสังเกตตัวเองแล้วพบว่ามีอาการปวดศีรษะก่อนช่วงมีประจำเดือนในทุกเดือน อาจเป็นเพราะความผิดปกติของฮอร์โมนเอสโตรเจนได้
- ช่องคลอดแห้ง
โดยปกติแล้วหากคุณผู้หญิงมีช่องคลอดแห้ง ไม่มีน้ำหล่อลื่นระหว่างมีเพศสัมพันธ์บ้างเป็นบางครั้งยังไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ แต่หากเกิดขึ้นบ่อยครั้งเกินไป อาจเป็นเพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนมีปริมาณต่ำ ทำให้ช่องคลอดขาดความสมดุลในการทำงานตามไปด้วย
- ความต้องการทางเพศลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ
ฮอร์โมนที่ควบคุมเรื่องความต้องการทางเพศของเพศชายคือฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน แต่ในเพศหญิงเองก็มีฮอร์โมนนี้ด้วยเช่นกัน หากระดับของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนน้อยเกินไป อาจส่งผลให้มีความต้องการทางเพศลดลงได้
- หน้าอกเปลี่ยนแปลง
ผู้หญิงหลายคนน่าจะเคยสังเกตตัวเองว่าช่วยงมีประจำเดือนจะรู้สึกว่าขนาดของหน้าอกใหญ่ขึ้น เป็นเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนเพศหญิงอื่นๆ ดังนั้นหากผู้หญิงคนไหนที่รู้สึกว่าขนาดหน้าอกเล็กลง อาจจะเกิดจากฮอร์โมนเพศหญิงลดต่ำลงได้
แน่ใจได้อย่างไรว่าเป็นเพราะฮอร์โมนไม่สมดุล?
อาการข้างต้นเป็นเพียงสัญญาณเตือนที่ภัยที่อาจเป็นอันตรายมาจากภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล แต่ก็ยังไม่ใช่เรื่องของฮอร์โมน 100% ดังนั้นหากต้องการความแน่ใจว่าเป็นเพราะฮอร์โมนหรือไม่ ควรเข้ารับคำปรึกษา และเข้ารับการตรวจฮอร์โมนจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะดีกว่า โดยสามารถเลือกตรวจได้ตั้งแต่ท่อมไทรอยด์ ฮอร์โมนเพศ อินซูลิน ไปจนถึงสารตั้งต้นของฮอร์โมนเพศได้