ตัวแทน 12 พรรคการเมือง ค้านออกกฎหมายควบคุมภาคประชาสังคม ชี้ควรสนับสนุน รทสช. แจง ไม่ได้กดขี่ แต่ป้องกันประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2566 ไทยแอ็ค ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม จัดงานเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “การรวมกลุ่มของประชาชน ในสายตาพรรคการเมือง” โดยมี 12 พรรคการเมืองเข้าร่วม โดยน.ส.ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาว่า เป็นความท้าทายอย่างมาก ในการที่ประชาชนจะรวมกลุ่มกัน เพื่อเรียกร้องรณรงค์หรือเคลื่อนไหวทางสังคม
น.ส.ปิยนุช กล่าวต่อว่า ขอตั้งคำถามถึงความพยายามของรัฐบาล ในการจะออกพ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากําไร ซึ่งคล้ายต้องการจำกัดและควบคุมการรวมกลุ่มทำกิจกรรมของประชาชน และบั่นทอนการทำงานขององค์กรไม่แสวงหากำไร
“ขออย่าพยายามที่จะผลักดันกฎหมายมาปิดปากประชาชน และองค์กรภาคประชาสังคม แม้ว่าพวกเขาจะส่งเสียงที่แตกต่างจากผู้นำประเทศก็ตาม หากภาครัฐพยายามที่จะทำลายองค์กรภาคประชาสังคมจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ขอให้รัฐบาลชุดใหม่ปัดกฎหมายนี้ให้ตกไป ประเทศไทยเป็นความหวังของภูมิภาค ถ้าเกิดมีข้อจำกัดเหล่านี้ ภูมิภาคก็ไม่มีความหวัง เราหวังว่าแผ่นดินไทยจะเป็นแผ่นดินธรรม แผ่นดินทองของภาคประชาสังคม” น.ส.ปิยนุช กล่าว
ด้าน นายสมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์การคุกคามการรวมกลุ่มทางสังคม ทั้งในประเด็นสิ่งแวดล้อมและการเมือง ตั้งแต่ยุค คสช. 2557 มีประชาชนถูกดำเนินคดีจำนวนมาก แม้จะสิ้นสุดยุค คสช. ไปแล้ว แต่รัฐบาลที่สืบทอดอำนาจก็ยังมีการร่างกฎหมายออกมาเพื่อคุกคาม โดยเฉพาะพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558
นายสมบูรณ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ความสวยงามของประชาธิปไตย คือ การเปิดพื้นที่ให้คนคิดและแสดงออกได้อย่างตรงไปตรงมา แต่ที่ผ่านมาภาคประชาสังคมไทยถูกกล่าวหามาอย่างยาวนาน โดยหนึ่งในข้อครหาที่ฝ่ายต่อต้านมักหยิบยกมา คือ เรื่องการรับเงินจากองค์กรต่างชาติ ซึ่งเป็นเรื่องปกติขององค์กรภาคประชาสังคม เพราะงบประมาณในประเทศไทยมีอย่างจำกัด
ขณะที่ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการรวมกลุ่มของประชาชน 30 ข้อ ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สิทธิของชุมชน การแก้ไขกฎหมาย SLAPP (ฟ้องปิดปาก) และการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ยืนยันพรรคไม่รับกฎหมายควบคุมภาคประชาสังคมอย่างเด็ดขาด
น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการ และรักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การมีภาคประชาสังคมร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเป็นหัวใจสำคัญ ต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วม ในการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาของประเทศ ประชาธิปไตยจะเข้มแข็งได้ ถ้าหากภาคประชาสังคมเข้มแข็ง
ด้าน นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า การชุมนุมของภาคประชาชนเป็นเรื่องที่ต้องส่งเสริม เพื่อให้เกิดการแข่งขันได้อย่างเสรี และไม่ก่อให้เกิดปัญหาทุนผูกขาด ขณะเดียวกันรัฐควรเปิดรับข้อมูลจากองค์กรภาคประชาสังคม ไม่ใช่ไปควบคุม แต่ควรที่จะสนับสนุนการทำงาน แลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน
นายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารพื้นที่ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ควรให้การสนับสนุนการรวมกลุ่มของประชาชน แต่รัฐบาลชุดที่ผ่านมานั้นเป็นเผด็จการซ่อนรูป ที่ใช้กฎหมายมาปิดปากประชาชน และหากนักการเมืองในวันนี้ให้ความสำคัญกับเสรีภาพของประชาชนจริงๆ ก็ควรจะทำให้ได้ตามที่พูด
นายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า การออกกฎหมายควบคุมภาคประชาสังคมไม่ได้ออกมาเพื่อกดขี่ หรือริดรอนเสรีภาพ ไม่ได้จำกัดการทำงานของประชาสังคม แต่การออกแบบกฎหมายมาให้มีขอบเขตที่กว้าง เพื่อจะได้ครอบคลุมทุกภาคส่วน สำหรับพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีไว้เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ความรุนแรงจากการชุมนุมซ้ำรอย
ด้าน นายรงค์ บุญสวยขวัญ กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ กล่าวย้ำถึงการก้าวข้ามความขัดแย้ง และทางพรรคเห็นคุณค่าของทุกภาคส่วน ที่ผ่านมาในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ได้เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนนำเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาฯ แต่จะผ่านหรือไม่นั้นเป็นหน้าที่ของภาคประชาสังคม ที่จะต้องโน้มน้าวพรรคการเมืองอื่นด้วยตนเอง