แพ้คาเฟอีน อาจเกิดขึ้นได้ในบางคน ซึ่งส่งผลทำให้มีอาการคัน บวม ผิวแดง หายใจลำบาก ใจสั่นมากกว่าปกติ การแพ้คาเฟอีนอาจมีสาเหตุมาจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อต้านคาเฟอีนเหมือนกับการต่อต้านสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ พันธุกรรม รวมถึงสารก่อภูมิแพ้หรือเชื้อราบางชนิดในเมล็ดกาแฟ ดังนั้น ผู้ที่แพ้คาเฟอีนควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เพื่อป้องกันการเกิดอาการแพ้
อาการ “แพ้คาเฟอีน” คืออะไร
แพ้คาเฟอีน คือ อาการแพ้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อต้านคาเฟอีนเหมือนกับการต่อต้านเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น การอักเสบ อาการคัน บวม ผิวแดง หายใจลำบาก ในบางคนอาการแพ้คาเฟอีนอาจเกิดขึ้นอย่างรุนแรงจนกระทบต่อกระบวนการทำงานของร่างกาย ซึ่งอาจทำให้หมดสติหรือเสียชีวิตได้
สาเหตุของการแพ้คาเฟอีน
โดยปกติเมื่อบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน คาเฟอีนจะถูกดูดซึมภายในลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด จากนั้นฤทธิ์ของคาเฟอีนจะส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย อาจทำให้มีอาการนอนไม่หลับ ตื่นตัว กระสับกระส่าย เนื่องจากคาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นประสาท ซึ่งจะแตกต่างกับอาการแพ้คาเฟอีน เพราะร่างกายของผู้ที่แพ้คาเฟอีนจะต่อต้านคาเฟอีนเช่นเดียวกับการต่อต้านเชื้อโรค โดยระบบภูมิคุ้มกันจะผลิตแอนติบอดี (Antibody) อย่างอิมมูโนโกลบิน อี (Immunoglobulin E หรือ lgE) ที่มีหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย และเข้าไปกระตุ้นให้เซลล์ปล่อยฮีสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยต้านอาการแพ้ เช่น การอักเสบ ลมพิษ อาการคัน บวม
สาเหตุของการแพ้คาเฟอีนอาจยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากสาเหตุบางประการ เช่น
- การสืบทอดทางพันธุกรรม
- กรรมวิธีการผลิต การคั่วและฝุ่น ที่มากับเมล็ดกาแฟอาจเป็นสารก่อภูมิแพ้
- การปนเปื้อนของเชื้อรากลุ่มแอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus) และเพนนิซิเลียม (Penicillium) ที่ทนทานความร้อนในกระบวนการคั่ว ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของอาการแพ้
สัญญาณอันตราย อาการแพ้คาเฟอีน
อาการแพ้คาเฟอีนมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากได้รับสารก่อภูมิแพ้ โดยอาจแสดงอาการ ดังนี้
- ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล
- หายใจมีเสียงหวีด
- ตาแดง คันตา น้ำตาไหล
- ลมพิษ ผื่นแดง คัน
- ริมฝีปากและลิ้นบวม คันปาก ริมฝีปากและลิ้น
- อาการหอบหืด โรคผิวหนังอักเสบ
- ตา ริมฝีปาก ใบหน้า และลิ้นบวมอย่างรุนแรง
- หายใจลำบาก หายใจมีเสียงดังหวีด มีปัญหาในการพูด
- ไอ คลื่นไส้ ปวดท้อง หรืออาเจียน
- วิงเวียนศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น
- ช็อก หมดสติ หรือเสียชีวิต
การรักษาอาการแพ้คาเฟอีน
การแพ้คาเฟอีนอาจรักษาได้หลายวิธี ดังนี้
หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ อาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันอาการแพ้ โดยการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม ช็อกโกแลต เครื่องดื่มชูกำลัง ยาบางชนิด เช่น ยาบรรเทาอาการปวดไมเกรน (Excedrin Migraine)
รับประทานยาภูมิแพ้ เมื่อสังเกตเห็นอาการแพ้ โดยยาแก้แพ้อาจมีดังนี้
- ยาแก้แพ้ เช่น คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) ไฮดรอไซซีน (Hydroxyzine) สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ไม่รุนแรง
- ยาใช้เพื่อลดอาการคัดจมูก เช่น ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine) ยาหดหลอดเลือด (Decongestant)
- ยาสเตียรอยด์ เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone) เบตาเมทาโซน ไดโพรพิโอเนต (Betamethasone Dipropionate) โคลเบทาซอล (Clobetasol) สามารถช่วยลดการอักเสบที่เกิดจากอาการแพ้ บรรเทาลมพิษ โรคหอบหืด
- ยาเฉพาะที่อย่างโลชั่นและครีม เช่น คาลาไมน์ อีโมลเลียนต์ (Emollients) เพื่อให้ความชุ่มชื้นกับผิว ลดอาการผิวแดง คัน ลดการอักเสบ
ภูมิคุ้มกันบำบัด (Desensitization) ใช้รักษาอาการแพ้อย่างรุนแรงและเรื้อรังที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ โดยผู้ป่วยจะได้รับสารก่อภูมิแพ้ในปริมาณเล็กน้อยเป็นครั้งคราวผ่านการฉีด ยาหยอด หรือยาเม็ด เพื่อให้ร่างกายสามารถปรับตัวกับสารก่อภูมิแพ้ได้เอง การรักษาด้วยวิธีนี้จำเป็นต้องอยู่ในการควบคุมของคุณหมอ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้อย่างรุนแรงได้