10 สาเหตุทำ "สมองล้า" เสี่ยง "สมองเสื่อม" ก่อนวัย

Home » 10 สาเหตุทำ "สมองล้า" เสี่ยง "สมองเสื่อม" ก่อนวัย
10 สาเหตุทำ "สมองล้า" เสี่ยง "สมองเสื่อม" ก่อนวัย

  • มีงานวิจัยพบว่า ในผู้ที่ต้องใช้ความคิดหรือทำงานหลายทักษะไปพร้อมกัน หากไม่สามารถปรับตัวกับงานได้ จะทำให้ประสิทธิภาพและคุณภาพในงานลดลง เกิดปัญหาสุขภาพเช่น ภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) ภาวะสมองล้า (Brian Fog) อีกทั้งยังมีผลต่อระดับไอคิวที่ลดลงในบางคนด้วย

  • ภาวะสมองล้า หรือ Brain Fog เกิดจากสมองทำงานหนักมาก อาการที่พบบ่อยคือ รู้สึกหัวตื้อ มึนงง ปวดหัว คิดช้า จำเรื่องราวหรือสิ่งที่เพิ่งจะทำลงไปไม่ได้ เหนื่อยล้าทางจิตใจง่าย อารมณ์แปรปรวน หากปล่อยไว้เรื้อรัง อาจมีโอกาสเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะสมองเสื่อมก่อนวัยได้

ในยุคที่องค์กรใหญ่หรือบริษัทเอกชนไม่ว่าที่ไหน ต่างก็นิยมพนักงานที่สามารถทำงานได้หลากหลายทักษะในคนเดียวกัน เรียกว่า มัลติ ทาสกิ้ง (MULTI-TASKING EMPLOYEE) ซึ่งคนที่ทำงานแบบนี้ได้ดีโดยสามารถจัดสรรเวลาเองได้แบบลงตัว หาไม่ง่าย หลายคนที่ต้องทำงานภายใต้สภาวะเช่นนี้ อาจเกิดความล้าของร่างกายและจิตใจ เพราะการที่จะทำได้ดีจริงๆ มีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้องได้แก่ นิสัยพื้นฐานในการยอมรับและปรับตัว ความฉลาดทางสติปัญญาและอารมณ์

ในผู้ที่ต้องใช้ความคิดหรือทำงานหลายทักษะไปพร้อมกัน เช่น เช็กอีเมล คุยโทรศัพท์ พิมพ์ไลน์ ประชุม คิดกลยุทธ์ ประสานงานกับผู้อื่น ทำสรุปและนำเสนอเจ้านาย ซึ่งพบเจอได้ในหลายสายงาน เช่น สายการตลาดดิจิตอล สายวางแผน สายวิเคราะห์ สายออกแบบ ซึ่งมีงานวิจัยพบว่า หากไม่สามารถปรับตัวกับงานได้ จะทำให้ประสิทธิภาพและคุณภาพในงานลดลง เกิดปัญหาสุขภาพเช่น ภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) ภาวะสมองล้า (Brian Fog) อีกทั้งยังมีผลต่อระดับไอคิวที่ลดลงในบางคนด้วย

สมองล้า (Brian Fog) อาการเป็นอย่างไร

พญ.จิตแข เทพชาตรี  แพทย์ผู้ชำนาญการสาขาตจวิทยา รพ. สมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า Burnout Syndrome หรือภาวะหมดไฟในการทำงาน ซึ่งเกิดจากความเครียดสะสมเรื้อรังจากการทำงาน จนคุกคามชีวิต ส่งผลต่อสภาพจิตใจ และมีผลต่อการลาออกของพนักงาน แต่หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับคำว่า Brain Fog หรือภาวะสมองล้า ซึ่งเกิดจากสมองทำงานหนักมากเนื่องจาก

  1. พักผ่อนน้อย จนมีอาการอ่อนล้า
  2. ขาดการดูแลด้านโภชนาการที่ดี
  3. มีการสะสมของสารพิษโลหะหนัก สารพิษจากยาฆ่าแมลงที่ปนเปื้อนมากับอาหาร
  4. ความเครียดสะสม
  5. อนุมูลอิสระในร่างกาย
  6. การอักเสบซ่อนเร้น
  7. ขาดการออกกำลังกาย
  8. ความไม่สมดุลของฮอร์โมนต่างๆ
  9. ขาดน้ำหรือดื่มน้ำไม่เพียงพอ
  10. มีอาการทางจิตประสาทหรือโรคเรื้อรังอื่นๆ ร่วมด้วย

สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ความสามารถในการทำงานของร่างกายถดถอย ต่อมหมวกไตจึงทำงานหนักขึ้น สารสื่อประสาทในสมองเริ่มแปรปรวน  การไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงสมองเริ่มลดลง จึงมักจะรู้สึกหัวตื้อ มึนงง ปวดหัว คิดช้า จำเรื่องราวหรือสิ่งที่เพิ่งจะทำลงไปไม่ได้ เหนื่อยล้าทางจิตใจง่าย อารมณ์แปรปรวน หากปล่อยไว้อาจมีโอกาสเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะสมองเสื่อมก่อนวัยได้

ปรับพฤติกรรมลดความเสี่ยงภาวะสมองล้า

  • จัดลำดับงานที่สำคัญจากมากไปน้อย
  • หยุดเล่นโทรศัพท์สักพักหรือหยุดเสพติดข่าวหรือสื่อที่ทำให้เครียดในช่วงที่กำลังเครียดจากงาน
  • มองโลกในแง่บวก และหาเวลาทำกิจกรรมโปรด เพื่อปรับอารมณ์และผ่อนคลาย
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอวันละ 6-8 ชั่วโมง
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารเช้า
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือบุหรี่ ในช่วงที่มีความเครียด เพราะยิ่งทำให้สมองล้า
  • ฝึกสมาธิ

อาหารเสริมที่ช่วยบำรุงสมอง

  • น้ำมันปลา (Fish Oil) ซึ่งประกอบด้วย ดีเอชเอ (DHA) ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมก้า 3 ช่วยเสริมความแข็งแรงของสมอง ระบบเส้นประสาท และระบบการมองเห็นของจอประสาทตา (Retina)
  • สารสกัดจากแปะก๊วย (Ginkgo Biloba Extract) ช่วยทำให้ระบบไหลเวียนเลือดให้ไปเลี้ยงสมองและส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้ดีขึ้น ป้องกันภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่ทัน นอกจากนั้นยังมีสารจำพวกกลุ่มฟลาโวนอยด์ช่วยป้องกันความเสื่อมของสมองและหลอดเลือด
  • สารสกัดจมูกข้าว (Gamma Oryzanol) ซึ่งมีสาร GABA ช่วยปรับสมดุลสารสื่อประสาทในสมองที่ได้รับการกระตุ้นอยู่ตลอดเวลาให้เกิดการผ่อนคลาย
  • กรดอะมิโนแอลธีอะนีน (L – Theanine) ช่วยเพิ่มสารซีโรโทนิน (Serotonin) โดพามีน (Dopamine) และกาบา (GABA) ทำให้เกิดความผ่อนคลาย (Relaxation) และลดความเครียดได้
  • ฟอสฟาติดิลซีรีน (Phosphatidylserine) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของเยื่อหุ้มเซลล์ประสาทในสมอง จึงช่วยป้องกันความเสื่อมของเซลล์ประสาทในสมอง ลดความเครียด  ลดความอ่อนล้าของสมอง
  • โคลีน (Choline Bitartrate) และอิโนซิทอล (Inositol) ทั้ง 2 ชนิดเป็นวิตามินบีชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ เยื่อหุ้มสมอง กล้ามเนื้อ เซลล์ประสาท อีกทั้งยังเป็นสารตั้งต้นในการสร้างอะเซททิลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ใช้ในการจดจำ ช่วยป้องกันภาวะความจำเสื่อมได้
  • วิตามินบีรวม (Vitamin B Complex) ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองและระบบประสาท กระตุ้นระบบการย่อยอาหาร เผาผลาญและดูดซึมอาหาร ทำให้สมองได้รับพลังงานจากสารอาหารอย่างเต็มที่

การตรวจวินิฉัย ภาวะสมองล้า

ปัจจุบันมีการตรวจสุขภาพในกลุ่มที่เริ่มมีภาวะสมองล้า เพื่อป้องกันความเสื่อมของสมองก่อนที่จะเกิดโรค ซึ่งจะมีการตรวจดังนี้

  • ฮอร์โมนไทรอยด์ (TSH, Free T3, Free T4) เนื่องจากฮอร์โมนไทรอยด์ช่วยทำให้สมองทำงานได้ปกติ กระฉับกระเฉง และกระตุ้นระดับการเผาผลาญในร่างกาย
  • ฮอร์โมนดีเอชอีเอ (DHEA: Dehydroepiandrosterone) หรือฮอร์โมนต้านความเครียด ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับร่างกาย กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ และชะลอความเสื่อมของร่างกาย ผู้ที่มีความเครียดสะสมนานๆ ระดับฮอร์โมนตัวนี้จะลดลง
  • ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนแห่งความเครียด หากมีมากจนเกินไปจะส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ
  • การตรวจหากรดอินทรีย์ในปัสสาวะ (Urine Organic) เป็นการตรวจการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย โดยมีรายการตรวจดังนี้
    • ระบบการเผาผลาญสารอาหารคาร์โบไฮเดรต, กรดไขมัน, วิตามินบี, โปรตีน
    • สมดุลสารสื่อประสาทในสมอง
    • สมดุลแบคทีเรียในลำไส้
    • การสัมผัสสารพิษในร่างกายและการดีท็อกซ์
  • การตรวจสารพิษโลหะหนักสะสมในปัสสาวะ (Toxic Heavy Metal) เพราะอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะสมองล้า จนมีอาการสับสน และสูญเสียความจำ เกิดจากสารพิษโลหะหนักที่สะสมอยู่ตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ เช่น สมอง ดังนั้นการหาสารพิษที่ตกค้างในร่างกาย จึงต้องอาศัยการตรวจจากปัสสาวะ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ