10 เลขสำคัญ “ดาวเทียม THEOS-2” แต่ละตัวมีความหมายอย่างไรบ้าง

Home » 10 เลขสำคัญ “ดาวเทียม THEOS-2” แต่ละตัวมีความหมายอย่างไรบ้าง
10 เลขสำคัญ “ดาวเทียม THEOS-2” แต่ละตัวมีความหมายอย่างไรบ้าง

ผ่านไปแล้วกับโมเม้นต์ประวัติศาสตร์ของไทย เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา เราได้ทำการส่ง “ดาวเทียม THEOS-2” ขึ้นสู่อวกาศเป็นที่สำเร็จ ถือเป็นการส่งดาวเทียมระดับปฏิบัติการดวงที่ 2 ของไทย ที่สร้างความปราบปลื้มให้กับคนไทยทั้งประเทศ นอกจากจะขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่สำรวจโลกและถ่ายภาพส่งข้อมูลมาที่สถานีภาคพื้นดินแล้ว ดาวเทียม THEOS-2 ยังมีความน่าสนใจอีกมากมาย โดยเฉพาะ “10 ตัวเลขสำคัญ” ที่ทำให้ดาวเทียม THEOS-2 เป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของโครงการพัฒนาดาวเทียมของไทย และอาจจะช่วยให้เหล่า “คอหวย” ได้เลขถูกใจไปเสี่ยงโชค ให้ติดจรวดพุ่งสู่ความรวยกันเลย

  • นาทีประวัติศาสตร์ ดาวเทียมสำรวจโลก “THEOS2” ผลงานคนไทย ขึ้นสู่อวกาศสำเร็จ
  • รู้จัก “ดาวเทียม THEOS-2” ผลงานคนไทย ทำหน้าที่อะไร และมีประโยชน์อย่างไร

10 เลขสำคัญของ “ดาวเทียม THEOS-2” มีดังต่อไปนี้

เลข 2

ดาวเทียม THEOS-2 สามารถถ่ายภาพได้ทุกพื้นที่ทั่วโลกทั้งในและต่างประเทศ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย ทั้งพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และนวัตกรรม ซึ่ง THEOS-2 เป็นดาวเทียมรุ่นที่ 2 ต่อยอดมาจาก THEOS-1 (ไทยโชต) ที่ส่งขึ้นสู่อวกาศตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2551 

เลข 621

ดาวเทียม THEOS-2 เป็นดาวเทียมสำรวจโลกประเภทวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit: LEO) ที่โคจรอยู่ในห้วงอวกาศด้วยความเร็วสูง 621 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก โดยปกติกลุ่มดาวเทียมประเภทนี้จะมีความสูงของการโคจรไม่เกิน 2,000 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก 

เลข 425

ดาวเทียม THEOS-2 มีขนาดกว้าง 1.2 เมตร ยาว 1.2 เมตร และสูง 1.8 เมตร มีน้ำหนักประมาณ 425 กิโลกรัม ซึ่งเป็นน้ำหนักเฉพาะตัวดาวเทียม นอกจากนั้นภายในดาวเทียมยังมีเชื้อเพลิงที่ใช้ในการปรับวงโคจร หรือเพื่อการบำรุงรักษาในกรณีต่างๆ อีกประมาณ 30 กิโลกรัม ดังนั้น ดาวเทียม THEOS-2 จะมีน้ำหนักรวมประมาณ 455 กิโลกรัม

เลข 10.3

กล้องที่ติดตั้งบนดาวเทียม THEOS-2 เป็นแบบ Optical อาศัยคลื่นแสงจากดวงอาทิตย์ตกกระทบที่ผิวโลก แล้วสะท้อนสู่กล้องของดาวเทียมเพื่อถ่ายภาพ ดาวเทียม THEOS-2 จะเปิดหน้ากล้องเพื่อถ่ายภาพกวาดเป็นแนวยาวตามแนวเหนือใต้ ซึ่งแต่ละแนวจะมีระยะความกว้างประมาณ 10.3 กิโลเมตร โดยสามารถถ่ายภาพและส่งข้อมูลลงมาที่สถานภาคพื้นดินได้ ไม่ต่ำกว่า 74,000 ตารางกิโลเมตร/วัน 

เลข 50

ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม THEOS-2 มีรายละเอียดภาพหรือขนาดพิกเซล 50 เซนติเมตร สามารถถ่ายภาพวัตถุใดๆ บนพื้นผิวโลกที่มีขนาดใหญ่กว่า 50×50 เซนติเมตรได้ และด้วยคุณสมบัตินี้ทำให้ดาวเทียม THEOS-2 ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มดาวเทียมสำรวจโลกรายละเอียดสูงมาก (Very High Resolution) 

เลข 10

ดาวเทียม THEOS-2 มีการออกแบบให้มีอายุการใช้งานอยู่ที่ประมาณ 10 ปี โดยปกติแล้วการพัฒนาดาวเทียมและทดสอบอุปกรณ์ หรือระบบต่างๆ บนดาวเทียมจะต้องสามารถรองรับการทำงานตามเงื่อนอายุการใช้งาน อย่างไรก็ตาม การทดสอบดาวเทียมจะมีการทดสอบที่มากกว่าอายุการใช้งานที่คาดการณ์ไว้ประมาณ 2-3 เท่า จึงเป็นเหตุผลว่าดาวเทียม THEOS-1 ที่มีการออกแบบอายุใช้งาน 5 ปี แต่ปัจจุบันผ่านมา 15 ปีแล้วก็ยังสามารถใช้งานได้ปกติ 

เลข 26

ดาวเทียม THEOS-2 มีวงโคจรแบบสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ (Sun Synchronous Orbit) ซึ่งเป็นระนาบการโคจรในแนวเหนือใต้ ประกอบกับการหมุนตัวของโลกเป็นปัจจัยที่่ทำให้ดาวเทียมสามารถเข้าถึงทุกพื้นที่ทั่วโลก โดยดาวเทียม THEOS-2 ถูกออกแบบให้มีแนวการถ่ายภาพ 386 แนววงโคจร และทุกๆ 26 วัน ดาวเทียมจะโคจรกลับมายังตำแหน่งเดิม 

เลข 4

ดาวเทียม THEOS-2 จะโคจรผ่านประเทศไทยวันละ 4 รอบ แบ่งเป็นช่วงเวลากลางวัน 2 รอบ และช่วงเววลากลางคืน 2 รอบ เมื่อดาวเทียม THEOS-2 โคจรผ่านประเทศไทย สถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียม ซึ่งตั้งอยู่ที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จะทำการเชื่อมต่อกับดาวเทียม THEOS-2 เพื่อดาวน์โหลดข้อมูลภาพที่ถ่ายและบันทึกไว้บนตัวดาวเทียม อัพโหลดคำสั่งถ่ายภาพสำหรับภารกิจใหม่ รวมถึงตรวจสอบสุขภาพของดาวเทียม ซึ่งใช้เวลาทั้งหมดประมาณ​ 15 นาที

เลข 1

ดาวเทียม THEOS-2 นับว่าเป็นดาวเทียมสำรวจโลก ประเภททรัพยากรธรรมชาติแบบรายละเอียดสูงมาก (Very high resolution) ดวงแรกของประเทศไทย ด้วยรายละเอียดภาพ 50 เซนติเมตรต่อพิกเซล นอกจากจะเห็นลักษณะของสัตถุที่มีขนาดใหญ่กว่า 50×50 เซนติเมตรแล้ว ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพของวัตถุนั้นๆ ด้วย เช่น ชนิดของต้นไม้ สีและประเภทของรถยนต์ สภาพตัวอาคาร และลักษณะความเสียหายต่อโครงงสร้างพื้นฐานต่างๆ เป็นต้น

เลข 9

ดาวเทียม THEOS-2 มีกำหนดส่งขึ้นสู่วงโคจรวันที่ 7 ต.ค. 2566 แต่เนื่องจากพบข้อมูลขัดข้องเล็กน้อย จึงทำให้ต้องเลื่อนการส่งไปอวกาศ เป็นวันที่ 9 ต.ค. 2566 เวลา 08.36 น. ด้วยจรวดนำส่ง VEGA จากท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา (Guiana Space Center) ในทวีปอเมริกาใต้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ