10 องค์กรสิทธิมนุษยชน บุก ทส. ยื่นหนังสือถึงปลัด จี้ให้ “ชัยวัฒน์” ออกจากราชการโดยด่วน

Home » 10 องค์กรสิทธิมนุษยชน บุก ทส. ยื่นหนังสือถึงปลัด จี้ให้ “ชัยวัฒน์” ออกจากราชการโดยด่วน



10 องค์กรสิทธิมนุษยชน บุก ทส. ยื่นหนังสือถึงปลัด เรียกร้องให้ปฏิบัติตามหน้าที่และใช้อำนาจตามกฎหมาย โดยไม่ละเว้นให้ “ชัยวัฒน์” ออกจากราชการโดยด่วน

วันที่ 21 เม.ย.2566 ที่สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชน กว่า 10 องค์กร อาทิ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ร่วมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวง ทส. ในฐานะผู้บังคับบัญชาของ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กับพวกรวม 4 คน เพื่อเรียกร้องให้ปลัดกระทรวง ทส. ปฏิบัติตามหน้าที่และใช้อำนาจตามกฎหมาย โดยไม่ละเว้น

โดยมีคำสั่งหรือดำเนินการให้มีคำสั่งให้จำเลยทั้ง 4 ออกจากราชการโดยด่วน เนื่องจาก นายชัยวัฒน์และพวกตกเป็นจำเลยในคดีอาญาร้ายแรง หลังพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ อท.166/2565 ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและข้อหาอื่นๆ

หนังสือร้องเรียนระบุว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 นายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นหลานชายของ นายโคอิ มีมิ หรือ ปู่คออี้ ผู้นำทางจิตวิญญาณและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวกะเหรี่ยงได้ถูกจับกุมและเอาตัวไปโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

หลังจากนั้นไม่มีผู้ใดทราบชะตากรรรมของเขาอีกเลย จนกระทั่งต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ และพนักงานอัยการได้ร่วมกันสอบสวนคดีจนได้พยานหลักฐานที่น่าเชื่อได้ว่า เจ้าหน้าที่ที่จับกุม นายพอละจี ไปนั้นได้ร่วมกันกระทำผิดต่อ นายพอละจี

หนังสือระบุว่า ดังนั้น เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 พนักงานอัยการจึงได้ยื่นฟ้อง นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร พร้อมกับเจ้าหน้าที่หรือพนักงานอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอีก 3 คน ได้แก่ นายบุญแทน บุษราคัม นายธนเสฏฐ์ หรือ ไพฑูรย์ แช่มเทศ และนายกฤษณพงษ์ จิตต์เทศ เป็นจำเลย ต่อศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลางในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ร่วมกันโดยมีอาวุธข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจ ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตาย ร่วมกันโดยทุจริตหรืออำพรางคดี กระทำการใด ๆ แก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพ

หนังสือระบุว่า นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงในสื่อออนไลน์ว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชดำเนินการตรวจสอบโครงการปลูกป่าเพื่อลดปัญหาอุทกภัยและภาวะโลกร้อนในพื้นที่ป่าแก่งกระจานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 84พรรษา ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฎิบัติเกี่ยวกับความผิดทางละเมิดเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539

ซึ่งนายชัยวัฒน์ เป็นผู้เสนอโครงการปลูกป่าเพื่อลดปัญหาอุทกภัยและภาวะโลกร้อน ในพื้นที่ป่าแก่งกระจานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ว่ามีการกระทำประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายต่อหน้าที่ราชการตามระเบียบเกี่ยวกับความผิดทางละเมิดเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 หรือไม่ อย่างไร และการดำเนินการพิสูจน์ความจริงดังกล่าวมีการตรวจสอบไปถึงขั้นตอนใด องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนจึงยังมีข้อห่วงกังวลต่อการปฎิบัติหน้าที่ราชการอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของราชการในสังคมวงกว้างอีกด้วย

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) องค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรภาคประชาสังคม ชุมชนและและเครือข่าย เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 101 บัญญัติว่า “ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือถูกฟ้องคดีอาญา หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุ ตามมาตรา 57 มีอำนาจสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนหรือพิจารณาหรือผลแห่งคดีได้”

ประกอบกับ มาตรา 83 ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องไม่กระทำการใด อันเป็นข้อห้าม ตาม (4) ต้องไม่ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ และตามมาตรา 84 ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดไม่ปฏิฎิบัติตามข้อปฏิฎิบัติ มาตรา 81 และมาตรา 82 หรือฝ่าฝืนข้อห้าม ตามมาตรา 83 ผู้นั้นเป็นผู้กระทำความผิด นั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กับพวกรวมทั้ง 4 คน ได้ถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญา หมายเลขคดีดำ อท 116/65ต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในข้อหาความผิดที่ร้ายแรง โดยคดีดังกล่าวจะเริ่มการสืบพยานโจทก์ในวันที่ 24เมษายน 2566 นี้

ทั้งตามข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมาข้างต้นฯ ว่า นายชัยวัฒน์ ยังถูกกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตรวจสอบการดำเนินโครงการปลูกป่าเพื่อลดปัญหาอุทกภัยและภาวะโลกร้อนในพื้นที่ป่าแก่งกระจานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 84 พรรษา แม้คดียังไม่พิพากษายังไม่มีผลตรวจว่าคดีดังกล่าวอยู่ในชั้นตอนใด แต่การที่เจ้าหน้าที่รัฐถูกดำเนินคดีอาญาในความผิดร้ายแรงดังกล่าวข้างต้น ร้องเรียนและถูกตรวจสอบการประมาทเล่นเล่ออยู่นั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของข้าราชการไทยให้มีความน่าเชื่อถือต่อประชาชนน้อยลงอีกด้วย

“ขอเรียนให้ท่านในฐานะผู้บังคับบัญชาของนายชัยวัฒน์ กับพวกทราบว่า ขณะนี้ท่านยังไม่มีคำสั่งหรือดำเนินการเพื่อให้มีคำสั่งให้นายชัยวัฒน์ และพวกรวมทั้ง 4 ออกจากราชการไว้ก่อนตามกฎหมายข้างต้น แต่ยังคงปล่อยให้จำเลยทั้งส 4 ยังคงปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อไป ทั้งบางคนยังได้รับการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งอีกด้วย อาจถือว่า เป็นการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจ ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่ี่งเชื่อว่า จะมีผลทำให้เกิดความความเสื่อมเสียต่อทางราชการ ก่อผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ความไม่ปลอดภัยต่อครอบครัวผู้เสียหายและพยาน และส่งผลต่อการดำเนินคดี

โดยอาจเป็นไปได้ว่า นายชัยวัฒน์กับพวกฯ จะอาจอาศัยตำแหน่งหน้าที่เข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักหลักฐานในคดีและเป็นอุปสรรคต่อผู้เสียหายในการเข้าถึงความยุติธรรมได้

ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ท่าน ปฏิบัติตามหน้าที่และใช้อำนาจตามกฎหมาย โดยไม่ละเว้น โดยขอให้ท่านมีคำสั่งหรือดำเนินการให้มีคำสั่งให้จำเลยทั้ง 4 ออกจากราชการไว้ก่อนตามกฎหมาย โดยด่วน” หนังสือระบุ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ