อาหารทะเลจากแหล่งขายที่ไม่น่าไว้วางใจ อาจมีสิ่งแปลกปลอมอย่าง “ฟอร์มาลิน” ได้ หากเผลอกินเข้าไป จะมีวิธีสังเกตอาการได้อย่างไร
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการหลายรายมักจะใช้วิธีการผิดๆ ในการเก็บรักษาอาหารทะเลให้คงความสดและชะลอการเน่าเสียด้วยการแช่สารฟอร์มาลิน ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย
จากการสำรวจข้อมูลการตรวจรายการวิเคราะห์ปีงบประมาณ 2563 ของกระทรวงสาธารณสุข จำนวนทั้งหมด 14,046 ตัวอย่าง พบการปลอมปนของฟอร์มาลิน 705 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 5.02 โดยพบมากที่สุดในปลาหมึกกรอบ ร้อยละ 31.35 รองลงมาคือ ปลาหมึก ร้อยละ 2.36 แมงกะพรุน ร้อยละ 1.55 และกุ้งร้อยละ 0.14 ตามลำดับ
พวกเราในฐานะผู้ซื้อควรเลือกแหล่งจำหน่ายอาหารทะเลที่น่าเชื่อถือ และมั่นใจในคุณภาพได้เท่านั้น แต่หากเราเผลอรับประทานอาหารทะเลที่มีการใส่สารฟอร์มาลินเข้าไปแล้ว จะมีวิธีสังเกตอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกายเราอย่างไรได้บ้าง
อาการเริ่มต้น เมื่อกินอาหารทะเลที่มี “ฟอร์มาลิน” มากเกินไป
หากร่างกายได้รับฟอร์มาลินมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดพิษต่อระบบทางเดินอาหาร อาจมีอาการที่แสดงออกมา ดังต่อไปนี้
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
- หัวใจเต้นเร็ว
- แน่นหน้าอก
- ปากและคอแห้ง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ถ่ายท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง
- กระเพาะอาหารอักเสบ เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
- ปัสสาวะไม่ออก
- หมดสติ
- ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเสียชีวิต เพราะระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว
วิธีหลีกเลี่ยงอาหารทะเลแช่ฟอร์มาลิน
- ควรเลือกซื้ออาหารทะเลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ตลาดที่ได้มาตรฐาน ตลาดสดน่าซื้อของกรมอนามัย
- ควรสังเกตอาหารทะเลที่จะเลือกซื้อ เช่น เลือกปลาที่เนื้อแน่น กดไม่บุ๋ม ไม่มีกลิ่นคาว เกล็ดไม่มีรอยแยกหรือแตกออก เลือกซื้อปู ตาต้องใส และขาต้องติดตัวปูครบทุกขา เลือกซื้อกุ้ง หัวกุ้งต้องใส หัวกับตัวจะยังติดกันแน่น และไม่ซื้ออาหารทะเลที่เป็นมีพิษ เช่น ปลาหมึกบลูริง
- อาหารทะเลที่จำหน่าย ควรแช่เย็นหรือแช่น้ำแข็งที่สะอาด และต้องทำความสะอาดภาชนะด้วยน้ำผสมน้ำคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรค
- เมื่อซื้ออาหารทะเลมาแล้ว หากไม่กินทันที ควรเก็บใส่ตู้เย็นเพื่อชะลอการเน่าเสีย ก่อนนำมาปรุงอาหารต้องล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง
- การกินอาหารทะเลให้เลือกกินอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อนใหม่ๆ หลีกเลี่ยงการกินอาหารทะเลดิบ หรือ สุกๆ ดิบๆ และควรแยกอาหารทะเลที่ปรุงสุกและที่ยังไม่สุกออกจากกัน