หลังรับราชการทหารมากว่า 15 ปีตั้งแต่อายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ ตูระ (นามสมมุติ) อดีตร้อยเอกแห่งกองทัพเมียนมาหันหลังให้กับอาชีพที่เขารักในวัย 32 ปี ทันที่ที่เห็นปากกระบอกปืนที่ควรจะใช้เพื่อปกป้องประเทศ หันมาหาประชาชน
“ผมมาเป็นทหาร เพราะอยากปกป้องประชาชน และทำงานเพื่อประเทศชาติ ทหารไม่น่าจะมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทหารต้องปกป้องประเทศ” ตูระกล่าวด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่นกับบีบีซีไทยระหว่างการซ่อนตัวอยู่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา
หลังการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อ 1 ก.พ. 2564 ตูระและเพื่อนทหารหลายคนตัดสินใจละทิ้งตำแหน่งเพื่อมาอยู่ข้างประชาชน แม้ดูเป็นเรื่องยากสำหรับนายทหารสัญญาบัตรหลายคน แต่สำหรับผู้กองอย่างเขา การปกป้องประชาชนถือเป็นภารกิจหลักในชีวิต
- รัฐประหารเมียนมาลดทอนการศึกษาในโรงเรียนตะเข็บชายแดนไทยอย่างไร
- หมอและพยาบาลผู้ต่อต้านกองทัพเมียนมา
- บีบีซีพบหลักฐานกองทัพทรมาน-สังหารประชาชนอย่างน้อย 40 คน
เกือบหนึ่งปีแล้วที่พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย นำกำลังเข้ายึดอำนาจมาจากรัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของ นาง ออง ซาน ซู จี และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ด้วยข้ออ้างที่ว่ารัฐบาลของเธอโกงการเลือกตั้ง หัวหน้าคณะรัฐประหารให้สัญญาว่าจะนำประเทศกลับสู่ประชาธิปไตยอีกครั้ง จัดให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น แต่จนถึงวันนี้ ประชาธิปไตยก็ยังไม่ได้ถูกคืนให้ประชาชนเมียนมา
เช่นเดียวกับชาวเมียนมาผู้รักชาติและประชาธิปไตยคนอื่น ตูระต้องการต่อสู้เพื่อบ้านเกิดอันเป็นที่รัก แต่การถูกคุกคามรายวันโดยทหารเมียนมาทำให้ชีวิตของพวกเขาต้องถึงจุดเปลี่ยน หลายคนเลือกที่จะข้ามมาขอลี้ภัยที่ฝั่งไทยเป็นการชั่วคราว ด้วยความหวังที่จะได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองต่อในประเทศที่สาม แต่บางคนก็ยังมีความหวังจะได้กลับไปทำงานเพื่อประชาชนต่อไป
อยู่ข้างประชาชน
ตูระ จบหลักสูตรปริญญาตรีด้านการทหารมาจาก Defence Services Academy (DSA) โรงเรียนทหาร 3 เหล่าทัพของกระทรวงกลาโหม เขาเติบโตต่อเนื่องในเส้นทางทหารจนได้รับตำแหน่งในด้านการดูแลปราบปราม
ด้วยใจรักชาติ ตูระไม่ได้มองเห็นอนาคตของตัวเองไปกับการทำอาชีพอื่นนอกจากการเป็นทหาร ที่เป็นอาชีพที่มีรายได้ค่อนข้างดีและทำให้พวกเขามีสถานะทางการเงินที่มั่นคง
“ตั้งแต่เข้ามารับงานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็มีความตั้งใจจะดูแลประชาชน ลองจินตนาการดูว่าถ้าคนจะมาทำร้ายครอบครัวของคุณ คุณจะยอมไหม นั้นคือสิ่งที่ผมรู้สึกว่าประชาชนชาวเมียนมาเป็นครอบครัวของผม ฉะนั้นผมต้องปกป้อง ไม่ใช่ทำร้ายพวกเขา” ตูระเล่าถึงความตั้งใจ
วันที่เกิดการรัฐประหาร เขาประจำการอยู่ที่ฐานในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของประเทศ โดยเขาไม่ได้รับรู้ถึงการยึดอำนาจที่เกิดขึ้นเพราะสัญญาณอินเตอร์เน็ตถูกตัด ไม่สามารถเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ แต่หลังจากนั้นไม่กี่วันลูกพี่ลูกน้องของเขาก็ส่งภาพมาให้และอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น
ในช่วงแรกหลังการรัฐประหาร ตูระแทบไม่รู้สึกถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นเพราะที่ยะไข่ไม่มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทหาร แต่หลังจากนั้น 4 เดือน ตูระถูกส่งให้ไปประจำการที่ค่ายในรัฐกะยา ทางฝั่งตะวันออกของประเทศ อยู่ติดกับ จ.แม่ฮ่องสอน และที่นั่นเอง เขาเริ่มได้เห็นความรุนแรงที่ทหารต้องหันมาต่อสู้กับประชาชน
“พอเห็นเหตุการณ์ในรัฐกะยา ผมก็มีความคิดแน่วแน่แล้วว่าไม่อยากมีส่วนร่วมกับรัฐประหาร และไม่อยากทำร้ายประชาชน ก็เลยตัดสินใจออกจากทหารมาร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนการอารยะขัดขืน” ซึ่งใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Civil Disobedience Movement หรือ CDM
ตูระบอกกับบีบีซีไทยผ่านล่ามว่า “ตำแหน่งทางทหารไม่สำคัญ ผมไม่อยากทำงานภายใต้เผด็จการ ก็เลยทิ้งตำแหน่งมาอยู่ข้างประชาชน”
หนีออกจากค่ายทหาร
เมื่อตัดสินใจได้แล้ว ตูระเริ่มติดต่อเพื่อนสมัยเรียนที่ DSA แล้วพบว่าบางคนออกจากการเป็นทหารมาเข้ากับกลุ่ม CDM บ้างก็เข้าร่วมกับ “กองกำลังพิทักษ์ประชาชน” หรือ People’s Defense Force (PDF) เพื่อเป็นทหารของประชาชนต่อสู้กับรัฐบาลทหาร
เขาใช้เวลาอยู่หลายเดือนเพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจากคนใน CDM ว่าไม่ใช่สายสืบของรัฐบาล เมื่อได้รับความไว้วางใจให้เข้าร่วมขบวนการ เขาจึงวางแผนหนีจากค่าย
“ตอนที่หนีออกมาเป็นช่วง 17 ต.ค. ผมบอกกับผู้บังคับบัญชาว่าจะออกมารับภรรยาที่อยู่ต่างเมืองเข้ามาอยู่ด้วยในค่ายด้วยกัน ก่อนจะได้รับอนุญาตให้ออกมานอกค่าย” ตูระอธิบาย
“ตอนนั้นลำบากมากเพราะต้องผ่านด่านตรวจหลายด่าน กว่าจะออกมาสู่พื้นที่ปลอดภัยได้ และมีความกังวลมากว่าคนที่จะมารับเขาจะพาไปส่งพื้นที่ปลอดภัยหรือส่งตัวให้ทางการ ช่วงที่มาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยต้องเดินทางต่ออีก 3 วันกว่าจะหลบหนีออกมาได้สำเร็จ”
ตูระหลบหนีออกมาจากเมียนมาเพื่อนำครอบครัวของเขามาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ถึงแม้ว่าตูระจะไม่ได้มีบทบาทโดยตรงในการร่วมต่อสู้หรือชุมนุมร่วมกับ CDM โดยตรง แต่เขายังทำหน้าที่ด้านการวางแผนและยุทธศาสตร์ในการเคลื่อนไหวของกลุ่ม
มาถึงตอนนี้ตูระไม่มีความคิดที่จะจับอาวุธต่อสู้กับประชาชนอีกต่อไป แต่สิ่งเขายังอยากทำงานเพื่อประเทศชาติอีก เขากล่าวย้ำว่าทำอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่การต่อสู้กับประชาชน และคิดว่าวันหนึ่งถ้าเมียนมากลับไปสู่ภาวะปกติก็จะกลับไปอยู่บ้าน ทำงานเพื่อประชาชน
เยาวชนอนาคตของชาติ
กลุ่มคนที่ออกมาประท้วงต่อต้านการรัฐประหารมากที่สุดคือเยาวชนและนักศึกษาที่เปรียบเสมือนอนาคตของชาติ เหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างประชาชนและทหารทั่วเมียนมาที่เห็นตามสื่อต่าง ๆ มักจะเป็นการเคลื่อนไหวอย่างสงบของกลุ่ม CDM เพื่อต่อต้านรัฐบาลทหาร แต่เยาวชนถูกปราบปรามโดยทหารด้วยความรุนแรง
เซยะ (นามสมมุติ) อดีตนักศึกษาด้านจิตวิทยา ชั้นปีที่ 2 จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเมียนมา คือผู้ลี้ภัยอีกคนที่ซ่อนตัวอยู่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา
ใน วัย 23 ปี เขาเป็นหนึ่งในแกนนำนักศึกษาที่ร่วมประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารมาตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร และนั่นทำให้ชีวิตของเขาต้องเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
วันที่เกิดรัฐประหาร เซยะอยู่บ้านและกำลังเรียนออนไลน์อยู่ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางคณะจึงงดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย
“ผมตัดสินใจมาเป็นนักเคลื่อนไหวหลังจากเกิดรัฐประหารได้ 5 วัน โดยตอนที่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงแรกก็กลัวโดนยิง กลัวโดนจับ และโดนทำร้าย แต่คิดในใจว่ายอมความไม่ยุติธรรมไม่ได้ เลยรวมตัวกันกับเพื่อน ๆ ช่วยกันผลักดันให้ระบบรัฐประหารในเมียนมาออกไป” เซยะอธิบายให้บีบีซีไทยฟัง
“การทำรัฐประหารจะทำให้ประเทศล้าหลัง และไม่ส่งผลดีให้ประเทศ ไปไหนก็ไม่ได้ ไปเรียนหนังสือก็ไม่ได้ เพื่อน ๆ ที่เคยร่วมชุมนุมด้วยกันโดนจับหลายคน ถ้าเห็นว่าวันนี้โดนจับไปได้ พรุ่งนี้ก็กลับออกมาเป็นศพ ผมไม่รู้จะพูดอะไร เพราะมองไม่เห็นอนาคต”
ครอบครัวของเซยะมีสมาชิก 6 คน พ่อและแม่ไม่ชอบรัฐประหาร แต่ก็ไม่อยากให้ลูก ๆ ออกมาชุมนุมเพราะเป็นห่วง ส่วนเขากับพี่ชายออกไปประท้วงตามท้องถนนทุกวัน จนมีทหารมาค้นบ้าน พอรู้สึกไม่ปลอดภัย เขาจึงหนีออกจากบ้านไปอยู่ที่หอพักของมหาวิทยาลัย แต่แล้วก็มีทหารมาบุกค้นพร้อมควบคุมตัวแกนนำนักศึกษาไปหลายคน
- ทหารใช้วิธีประทุษร้ายทางเพศและซ้อมทรมาน เพื่อปราบปรามผู้ประท้วงหญิง
- “ดาวดับแสง” ในวันที่เลือดไหลนองมากที่สุดของประเทศ
- ตำรวจยิงเด็กหญิง 7 ขวบ “ขณะวิ่งไปหาพ่อ” ระหว่างบุกค้นบ้านประชาชน
ตัวเขาเองถูกทหารทุบหลังด้วยด้ามปืนก่อนจะพยายามวิ่งหนี แล้วกระโดดลงมาจากอาคารชั้นสอง ทันทีที่ร่างของเขากระแทกลงกับพื้น เซยะพบว่าตัวเองขยับขาไม่ได้ เพราะหลังหัก เพื่อน ๆ จึงมาช่วยกันพยุงเขาหลบหนีไป นอกจากนี้มีเพื่อนบางส่วนที่หลบหนีมาไม่ทันและถูกทหารจับหมด ตอนนี้ยังไม่รู้ชะตากรรมว่าเป็นอย่างไร
สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners–AAPP) กลุ่มนักเคลื่อนไหวระบุตัวเลขล่าสุดผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมที่ 1,498 คน และองค์กรช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลด้านสิทธิเด็ก ระบุว่า ในบรรดาผู้เสียชีวิตนับพัน มีเด็กรวมอยู่ด้วยกว่า 70 คน
“ถ้าเราไม่ออกไปประท้วง ทหารจะคิดว่าสิ่งที่พวกเขาทำเป็นสิ่งที่คนยอมรับ แต่ที่ออกมาเรียกร้องเพราะอยากให้ประชาคมโลกรู้ว่าพวกเราไม่เอารัฐประหาร” เซยะกล่าว
“ตอน NLD ชนะการเลือกตั้ง แล้วเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แต่รัฐบาลที่นำโดยทหารจะไม่ทำให้ประเทศได้ประโยชน์อะไร”
เซยะ ย้อนไปเมื่อปี 1988 ที่ทหารเข้ายึดอำนาจเขามองว่า “ประเทศล้าหลังไปเยอะ” มาในปี 2021 ประเทศ “กลับไปเหมือนเดิมอีก” นักเรียนไปโรงเรียนไม่ได้ ทหารเริ่มสอน เรื่องชวนเชื่อให้เด็กตามโรงเรียน จนเยาวชนตกเป็นเป้าของทหารไป
ตอนนี้เซยะ พี่ชายของเขา และกลุ่มนักศึกษาที่เป็นแกนนำการชุมนุม กลายเป็นบุคคลที่ทางการต้องการตัว พวกเขาจึงต้องหนีออกนอกประเทศ และมีความหวังว่าจะขอลี้ภัยไปประเทศที่สาม
“ถ้าเลือกได้ อยากจะขอลี้ภัยไปออสเตรเลีย และอยากกลับไปเรียนหนังสือต่อ โดยที่เลือกออสเตรเลียเพราะชอบประเทศนั้นอยู่แล้ว และมีญาติอาศัยอยู่ที่นั่นด้วย แต่ถ้าขอลี้ภัยประเทศที่สามไม่สำเร็จ ก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ เพราะยังไม่ได้คิดถึงแผนเสริมเลย ถ้าได้ย้ายไปจริง ๆ ก็อยากจะเรียนต่อสายจิตวิทยาจนจบและอยากทำงานด้านนี้”
ประชาชนต้องชนะ
นอกจากความรุนแรงที่ทหารทำต่อประชาชน ผู้กองตูระกล่าวว่าในค่ายทหารเองก็มีเรื่องความรุนแรงและความไม่ยุติธรรมอยู่มาก เขาถูกสั่งให้ทำหลายเรื่องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และตัวเขาเองก็ถูกข่มเหง ในค่ายทหารมาด้วยเช่นกัน
“การจะทำให้คนอื่นเชื่อฟัง เขาต้องทำให้กลัวก่อน คนรับฟังไม่ใช่เพราะยินยอม แต่เพราะกลัว ครอบครัวใดที่อยู่ในค่ายทหาร ก็จะถูกบังคับใช้งานเยี่ยงทาสโดยไม่มีค่าตอบแทนใด ๆ เลย บางครั้งเสบียงอาหารก็ไม่พอให้กิน เรื่องพวกนี้มีในค่ายทหารมาก่อนจะเกิดรัฐประหารอยู่แล้ว” ตูระกล่าว
“ขนาดทหารด้วยกันเองยังไม่มีความยุติธรรม แล้วจะมาให้ความยุติธรรมกับประชาชนได้อย่างไร และการทำร้าย ทุบ ตี ที่เป็นระบบการปกครองที่ใช้ในค่ายทหารก็จะถูกนำมาใช้ปกครองประชาชนด้วย”
ถึงตูระเกิดไม่ทันช่วงการรัฐประหารที่เมียนมาในปี 1988 แต่เขาเห็นว่าการยึดอำนาจในอดีตไม่เหมือนปัจจุบัน เพราะตอนนี้ประชาชนถูกปิดหูปิดตาเหมือนแต่ก่อนไม่ได้ ทุกคนเข้าถึงสื่อ และตอนนี้มีแนวร่วมเกือบทั้งประเทศมาต่อต้านการรัฐประหาร
“ตอนนี้ที่เมียนมามีใจเดียวกันคือกำจัดรัฐบาลทหารออกไปให้ไม่เหลือรากเหลือโคนด้วยซ้ำ” ตูระยืนยัน
ในฐานะอดีตทหาร ตูระมองว่า กองทัพเมียนมาอยู่มายาวนาน ามีอาวุธพร้อม และวางแผนมาอย่างดี เพราะฉะนั้นประชาชนทั่วไปที่เพิ่งมาจับอาวุธและอยากสู้กับทหารก็ต้องใช้เวลา แต่ถ้าทุกคนร่วมกัน วันหนึ่งก็ต้องชนะ และในอนาคตชาวเมียนมาทุกคนก็หวังว่าประเทศจะกลับไปเป็นอิสระและเป็นประชาธิปไตย
“ทหารยังไงก็อยู่ไม่ได้ พวกเขาอยู่ที่เนปิดอว์ที่เดียว แต่ที่อื่นต่อต้านทหารและสู้รบกันอยู่ ยังไงก็ปกครองประเทศไม่ได้อยู่ดี ทหารไม่สามารถคุมประชาชนทั้งหมดได้”
………………………………………….
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว