‘ชัชชาติ’ ยังอยากตื่นตี 3 มาทำงาน รับ ‘สนุก-มาถูกทาง’ โฆษกกทม. แถลงผลงานครบรอบ 1 เดือน 30 วัน สร้างความร่วมมือทุกมิติ โปร่งใสสำหรับทุกคน เผยใช้งบน้อยมาก
เมื่อเวลา 9.45 น. วันที่ 7 ก.ค. อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม. ดินแดง นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯกทม. ในฐานะ โฆษกกทม. แถลงผลงานในรอบ 30 วันของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ภายใต้ สโลแกน 30 วัน กทม. สร้างความร่วมมือทุกมิติ โปร่งใสสำหรับทุกคน พร้อมทั้งเผยแพร่วิดีโอนำเสนอข้อมูล
นายเอกวรัญญู กล่าวว่า เป็นการแถลงสรุปการทำงานของผู้ว่าฯชัชชาติ ในรอบ 30 วัน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นบุคลิกและตัวตนของผู้ว่าฯชัชชาติ ที่เข้าถึงง่าย และติดดิน ขณะเดียวกันการไลฟ์สดในการลงพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเห็นปัญหาไปพร้อมกัน ซึ่งเมื่อพบปัญหา ในเช้าวันรุ่งขึ้นจะเห็นได้ว่าปัญหานั้นได้รับการแก้ไข โดยที่ไม่ได้มีการสั่งการ
สำหรับสโลแกน 30 วัน กทม. สร้างความร่วมมือทุกมิติ โปร่งใสสำหรับทุกคน ทีมงานได้นำนโยบาย 216 ข้อ ที่ต้องใช้งบประมาณ ไปผูกกับยุทธศาสตร์ของกทม. เพื่อจัดทำโครงการ ในการขอจัดสรรงบประมาณประจำปี งบประมาณ2566 ซึ่งงบประมาณเป็นหัวใจสำคัญที่จะผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้น
นอกจากนี้มี 4 เรื่องเร่งด่วนที่ดำเนินการไปแล้ว ประกอบด้วย 1. การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ซึ่งการขุดลอกท่อระบายน้ำเป็นเรื่องสำคัญในการแก้ไขปัญหา พื้นที่กรุงเทพฯ มีท่อระบายน้ำความยาว 6,564 กิโลเมตร (กม.) ปีนี้ตั้งเป้าลอกท่อระบายน้ำ 3,390 กม. ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 2,387 กม. คิดเป็น 74.4% และคาดว่าจะสำเร็จตามเป้าหมายในเร็วๆนี้ เพราะได้รับความร่วมมือจากกรมราชทัณฑ์
2.เรื่องความปลอดภัยทางถนนและทางม้าลาย ปัจจุบันพบว่าทางม้าลายมีปัญหา 2,591 จุด มีปัญหา 1,620 จุด ซึ่งในเดือนกย.นี้ จะติดตั้งสัญญาณแจ้งเตือน 80 จุด แบ่งเป็นไฟกะพริบ 50 จุด และปุ่มกด 30 จุดที่บริเวณทางม้าลาย 80 จุด นอกจากนี้ยังมีโครงการจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจ ประจำจุดทางข้ามหน้าโรงเรียน (School Care) ซึ่งเป็นโครงการเดิมที่มีอยู่แล้ว จึงต่อยอดจากที่ดำเนินไปแล้ว
โดยวันที่ 11 ก.ค. ผู้ว่าฯกทม. สั่งเพิ่มให้ครบร.ร.สังกัดกทม. ทั้ง 437 โรง พื้นผิวจราจร ทำการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าแก้ไขปัญหา เช่น ถ.พระราม3 แนวทางพัฒนาทางเท้า การจัดระเบียบสายสื่อสาร และการแจกหมวกกันน๊อค ซึ่งกทม. ได้รับความร่วมมือจากเอกชน ในการสนับสนุนหมวกกันน๊อคด้วย
3.หาบเร่แผงลอย ปัจจุบันมีจุดผ่อนผัน ที่หาบเร่แผงลอยสามารถทำการค้าได้อย่างถูกกฎหมาย 55 จุด กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บชน.) ได้อนุมัติเพิ่มอีก 31 จุด ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอผู้ว่าฯกทม. ลงนามประกาศ นอกจากนี้อยู่ระหว่างสำรวจพื้นที่ เพื่อให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ได้ทำการค้า โดยมีพื้นที่สาธารณะ 198 จุด และพื้นที่ของภาครัฐและเอกชน 124 จุด
ซึ่งขณะนี้ได้เปิดให้ผู้ค้าลงทะเบียน รวมทั้งลดอัตราค่าเช่าแผงค้า 50% และลดดอกเบี้ยสถานธนานุบาล เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ค้าและประชาชน
4.สัมปทานสายสีเขียว ได้มีการประชุมร่วมกับ นายธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) (ประธานบอร์ดเคที) ที่มีข้อสรุปให้จัดเก็บเริ่มเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยายในเดือนส.ค.นี้ เพื่อนำรายได้มาจ่ายดอกเบี้ยและค่าจ้างเอกชนเดินรถตลอดจนการเปิดเผยตัวสัญญา ตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540
ขณะเดียวกันผู้ว่าฯกทม. ได้ประกาศนโยบายโปร่งใสอย่างชัดเจน โดยได้ประกาศนำงบประมาณประจำปี 2566 ขึ้นบนเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนรับทราบ รวมทั้งประสานหน่วยงานต่อต้านทุจริตคอรัปชั่น เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในการผลักดันนโยบายให้เกิดความโปร่งใส นอกจากนี้นโยบายปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ขณะนี้ได้รับการประสานจากหน่วยงานต่างๆ ที่จะร่วมปลูกต้นไม้แล้ว 1.3 ล้านต้น
ขณะที่การรายงานปัญหาเส้นเลือดฝอย ผ่านทราฟฟี่ฟองดูว์ คนกรุงเทพฯ รายงานปัญหาในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ รายงานปัญหา 60,750 เรื่อง เฉลี่ยแจ้ง 2,025 เรื่องต่อวัน ภายหลังเริ่มใช้ทราฟฟี่ฟองดูว์ ได้รับรายงานปัญหาเพิ่มสูงขึ้นกว่า 54.5 เท่า
ปัจจุบันได้รับรายงาน 70,806 เรื่อง และ ตั้งแต่เริ่มใช้จนถึงปัจจุบัน พบ 5 ปัญหาที่ร้องเรียนมากสุด คือ ถนน 12,264 เรื่อง ทางเท้า 4,061 เรื่อง แสงสว่าง 3,231 เรื่อง ขยะ 2,559 เรื่อง และน้ำท่วม 2,389 เรื่อง
ส่วนหน่วยงานที่รับเรื่องเข้ามามากที่สุด คือ สำนักการโยธา 8,023 เรื่อง เขตจตุจักร 4,766 เรื่อง สำนักการจราจรและขนส่ง 3,858 เรื่อง เขตประเวศ 2,100 เรื่อง และคลองเตย 1,995 เรื่อง ซึ่งความคืบหน้าการแก้ปัญหา แก้ไขเสร็จแล้ว 27,937 เรื่อง คิดเป็น 39% กำลังแก้ไข 24,142 เรื่อง คิดเป็น 34% ส่งต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบให้แก้ไข 16,618 เรื่อง คิดเป็น23% รอเจ้าหน้าที่รับเรื่อง 2,757 เรื่อง คิดเป็น 4% ทั้งนี้
ด้าน นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า การทำงานของผู้ว่าฯชัชชาติ เป็นการเก็บปัญหา และเชื่อมโยงหน่วยงานที่รับผิดชอบ ก่อนจะส่งให้ฝ่ายบริหาร ไปบริหารจัดการ ซึ่งมีรองผู้ว่าฯกทม. 4 คน บริหาร และฝ่ายประจำ ที่เป็นข้าราชการ คือ ผู้ปฏิบัติที่ดีที่สุด
ทั้งนี้ เรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญ แต่ทีมงานใช้เวลาไม่ถึง 20 วัน ในการเชื่อมนโยบายเข้าไปยังยุทธศาสตร์ของกรุงเทพมหานคร จึงเห็นได้ว่าผลงาน 1 เดือน เป็นโครงการที่ใช้งบประมาณน้อยมาก ดังนั้นการใช้เงิน คน และการบริหารจัดการ เป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นได้จริง
ขณะที่ นายชัชชาติ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังร่วมประชุมกับวงโยธวาทิต ก่อนมีการแถลงข่าวในครั้งนี้ โดยเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมาการทำงานพึงพอใจเรื่องใดมากที่สุด ? นายชัชชาติเผยว่า เป็นเรื่อง Traffy Fondue เป็นการให้อำนาจประชาชนมีส่วนร่วม และทำให้ทุกอย่างคึกคักขึ้น
“ตอนนี้รู้สึกสนุกกับการทำงาน ยังอยากตื่นตี 3 มาทำงาน ทำงานสนุก ทำงานแล้วได้ผล เห็นประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น เป็นสิ่งที่คิดว่ามาถูกทาง และคอยฟังคำติเอามาปรับปรุงให้ดีขึ้น” นายชัชชาติเผย
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องที่ยากที่สุดในการทำงาน คืออะไร ? นายชัชชาติ ระบุว่า เป็นเรื่องความโปร่งใส การสร้างความไว้ใจให้กลับคืนมา ที่ผ่านมามีข้อสงสัยเรื่องการให้บริการ เรื่องความโปร่งใส พอได้ความไว้ใจจากประชาชนคืนมา จะได้ความร่วมมือมากขึ้น