ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม อัดรัฐบาล แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่จริงจัง เป็นกรรมของคนไทย ซ้ำผู้ว่า ไม่ประกาศเป็นพื้นที่สาธารณภัย
วันที่ 29 มี.ค.2566 นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์การแก้ปัญหาฝุ่นPM2.5ในภาคเหนือ ที่กำลังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประชาชนในพื้นที่ ความว่า กรรมของคนไทย ไม่ประกาศพื้นที่ประสบภัยเพราะเกรงผลกระทบต่อการท่องเที่ยว
- นักวิชาการ เสนอ วิธีแก้ปัญหา PM2.5 ภาคเหนือ ถือเป็นภัยพิบัติ ต้องสั่งอพยพด่วน
1.ฝุ่นภาคเหนือโดยเฉพาะจ.เชียงรายและจ. เชียงใหม่สูงมากจนเป็นอันตรายต่อชีวิตแล้ว
แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 2 แห่งไม่ยอมประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและไม่ยอมประกาศให้เป็นเขตความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพ.ศ.2550 อ้างว่าจะเกิดผลกระทบต่อการท่องเที่ยว
ขณะที่รัฐมนตรีมหาดไทยอ้างที่ไม่ประกาศเพราะไม่เคยทำมาก่อนปกติทำเฉพาะน้ำท่วม ภัยแล้ง ภัยหนาว ภัยฝุ่น ไม่ชัดเจนและไม่ทราบว่าจะใช้ค่าฝุ่น PM2.5 ที่ตัวเลขเท่าใด สำหรับประกาศและไม่รู้ว่าจะกำหนดขอบเขตประสบภัยแค่ไหน
ทั้งที่ใน พ.ร.บ.มีคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ หรือ กปภ. โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ เสนอแนะได้หมดแต่ยังไม่ทำทั้งๆที่ฝุ่น ภาคเหนือเกิดขึ้นรุนแรงทุกปี จนปีนี้ฝุ่นขึ้นสูงถึง 600 มคก.ต่อลบ.ม ขณะที่ค่ามาตรฐานต้องไม่เกิน 50 มคก.ต่อลบ.แต่ยังไม่มีความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากภาครัฐไม่พร้อมก็เลยเป็นกรรมของคนภาคเหนือ
2.มาตรา 4 ใน พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพ.ศ.2550 มาตรา 4
กำหนดให้ “สาธารณภัย” หมายความว่า อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง โรคระบาดในมนุษย์ โรคระบาดสัตว์ โรคระบาดสัตว์น้ำ การระบาดของศัตรูพืช ตลอดจนภัยอื่น ๆ อันมีผลกระทบต่อสาธารณชน ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติ มีผู้ทำให้เกิดขึ้น อุบัติเหตุ หรือเหตุอื่นใด ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐและให้หมายความรวมถึงภัยทางอากาศและการก่อวินาศกรรมด้วย..ฝุ่นPM2.5 คือเหตุอื่นซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต..นั่นเอง
3.ห้องปลอดฝุ่น
ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการมีน้อยไม่มีงบประมาณทำจึงไม่มีสถานที่ให้คนแก่ เด็กเล็ก คนป่วย คนกลุ่มเปราะบางมาหลบภัย,ราชการนำหน้ากากกันฝุ่น N95 มาแจกแก่ประชาชนทุกคนไม่ได้ หรือได้ไม่ทั่วถึงเนื่อง จากงบประมาณมีน้อย, หากประชาชนหลบภัยฝุ่นอยู่ที่บ้านก็ไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชยใดๆจากภาครัฐจึงต้องเสี่ยงออกไปทำมาหากินข้างนอก
แต่หากเจ็บป่วยจากการหายใจเอาฝุ่น2.5 เข้าไปมากๆก็ไม่มีเงินชดเชยใดๆจากภาครัฐ ในอนาคตถ้าป่วยเป็นโรคมะเร็งปอด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หลอดเลือดสมองอักเสบหรือโรคหัวใจขาดเลือด เป็นต้น ถือว่าซวยไปกลายเป็นว่าประชาชนต้องป้องกันและดูแลตัวเอง
ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นผลมาจากที่ผ่านมาภาครัฐไม่เต็มที่กับการจัดการฝุ่นPM2.5อย่างจริงจังนั่นเอง