วันที่ 18 มี.ค.เว็บไซต์เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า มณฑลไหหลำหรือมณฑลไห่หนาน ทางตอนใต้ของประเทศจีนเริ่มเก็บเกี่ยวทุเรียน ราชาแห่งผลไม้ของอาเซียนได้เป็นครั้งแรก โดยราว 2.45 กิโลกรัมของทุเรียนที่ผลิตได้บนเกาะเขตร้อนแห่งนี้ จะวางขายในเดือนมิ.ย. 2566 นักวิเคราะห์ระบุว่า ทุเรียนไห่หนานอาจลดราคาลง แต่จะไม่เป็นปัญหาที่ท้าทายสำหรับชาติอาเซียนที่ส่งออกทุเรียน
ถือเป็นการเริ่มเก็บเกี่ยวทุเรียนที่ปลูกภายในประเทศครั้งแรกของจีนในฤดูร้อนนี้ ปลูกบนพื้นที่ 93.3 เฮกตาร์หรือราว 580 ไร่ ในเมืองซานย่ากำลังออกผลอ่อน คาดการณ์ผลผลิต 116.64 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ มูลค่าผลผลิต 6,665 หยวนต่อเฮกตาร์หรือราว 33,000 บาทต่อ 6 ไร่ ผู้เชี่ยวชาญจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วยปลูกทุเรียน จากนั้นผู้เชี่ยวชาญชาวจีนพัฒนาเมล็ดที่นำเข้ามาเพื่อให้เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น คาดว่าทุเรียนมีระดับน้ำตาลสูงกว่าและวัฏจักรการเติบโตถูกปรับให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีรายงานว่า เมืองซานย่าตั้งเป้าจะสร้างเขตอุตสาหกรรมทุเรียนครอบคลุมพื้นที่ 3,333 เฮกตาร์หรือราว 20,800 ไร่ ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะผลิตทุเรียนได้มูลค่า 5 พันล้านหยวนหรือราว 25,000 ล้าน บาท ภายในปี 2028 นักวิเคราะห์ระบุว่า ทุเรียนที่จีนปลูกเองอาจลดราคาขายในประเทศ ทำให้การกระจายทุเรียนเข้มข้นขึ้นและส่งเสริมความร่วมมือทางการเกษตรระหว่างประเทศ แต่กุญแจแห่งความสำเร็จคือ ผู้บริโภคจะคิดว่ารสชาติอร่อยจนเป็นที่น่าพอใจหรือไม่
“กุญแจสำหรับทุเรียนปลูกเองในตลาดขนาดใหญ่คือ ความสามารถที่จะผลิตทุเรียนที่มีรสชาติเหมือนทุเรียนจากประเทศต้นกำเนิด” นายเวิง หมิง นักวิจัยจากศูนย์การพัฒนาชนบทภายใต้สถาบันสังคมศาสตร์ของจีนกล่าว
นายเวิงกล่าวยกตัวอย่างมะเดื่อ ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเป็นหลัก และรสชาติของผลมะเดื่อจากมณฑลซานตงของจีนไม่ได้ใกล้เคียงรสชาติมะเดื่อนำเข้า ผลก็คือ การจู่โจมปลูกทุเรียนของจีนจะไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทุเรียนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เทคโนโลยีเก็บเกี่ยวทุเรียนที่ก้าวหน้าของจีนอาจเปิดโอกาสสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศผ่านการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีการเกษตร
“เราต้องการเห็นพัฒนาการที่เป็นหมุดหมายสำคัญจากความตระหนักแห่งการร่วมมือกันมากกว่าการแข่งขันกัน” นายเวิงกล่าว
ข้อมูลจากหอการค้าเพื่อการนำเข้าและส่งออกอาหารการผลิตและสัตว์พื้นถิ่นของจีน (CFNA) ระบุว่า ทุเรียนเป็นผลไม้ที่จีนนำเข้าเป็นอันดับ 1 มูลค่า 4.03 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐหรือราว 12,000 ล้านบาท เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณนำเข้ารวม 825,000 ตัน
ทุเรียนเป็นผลไม้ที่เป็นที่นิยมที่สุดในหมู่คนหนุ่มสาวจีน โดยร้อยละ 60 ของทุเรียนในจีน ถูกซื้อโดยผู้บริโภคอายุ 16-35 ปี นอกจากนี้ จากปัจจัยต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น ควบคู่กับช่วงขาดแคลนทุเรียนในระยะสั้นและความต้องการของตลาดในจีนเพิ่มขึ้น ทำให้ทุเรียนในจีนราคาสูง
ภายในปี 2026 ตลาดทุเรียนในจีนจะมีมูลค่าขายปลีกใกล้แตะ 130,000 ล้านหยวนหรือราว 650,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ในปี 2565 จีนนำเข้าทุเรียนจากไทยคิดเป็นมูลค่าร้อยละ 96 และปริมาณร้อยละ 95 ของทุเรียนที่นำเข้าทั้งหมด และจากการที่ชาติอาเซียนและจีนให้สัตยาบันข้อตกลงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรืออาร์เซปเมื่อเดือนม.ค.ปี 2565 ซึ่งให้สิทธิทางภาษีศุลกากรและการผ่านพิธีศุลกากรที่รวดเร็วขึ้นดึงดูดหลายชาติอาเซียนให้ส่งออกผลไม้ไปจีน
…………..