"ไส้เลื่อน" เพราะไม่ใส่ "กางเกงใน" จริงหรือ?

Home » "ไส้เลื่อน" เพราะไม่ใส่ "กางเกงใน" จริงหรือ?
"ไส้เลื่อน" เพราะไม่ใส่ "กางเกงใน" จริงหรือ?

หนุ่ม ๆ ทั้งหลายคงเคยได้ยินคำที่ว่า ไม่ใส่กางเกงใน ระวังเป็นไส้เลื่อน จนหลายคนคิดว่า โรคไส้เลื่อนส่วนหนึ่งมาจากการไม่ใส่กางเกงใน แต่ความจริงแล้วไส้เลื่อนนั้นเป็นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง แถมสาเหตุจริง ๆ ก็ไม่ได้เกิดจากการไม่สวมกางเกงใน วันนี้มาทำความรู้จักโรคนี้ให้มากยิ่งขึ้นกัน

ไส้เลื่อน เกิดจากอะไร ?

คณะศัลยแพทย์ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า “โรคไส้เลื่อน” คืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งในช่องท้องเคลื่อน เกิดเป็นรู มีพังผืดยื่นออกไป การใส่หรือไม่ใส่กางเกงในมีโอกาสเป็นไส้เลื่อนพอ ๆ กัน เพราะกางเกงในไม่สามารถเสริมความแข็งแรงของผนังหน้าท้องได้

สาเหตุของโรคไส้เลื่อน

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเป็นโรคไส้เลื่อน ประกอบด้วย

  • ความผิดปกติของช่องท้องมาตั้งแต่กำเนิด
  • อายุที่เพิ่มขึ้น
  • เกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงกับหน้าท้อง
  • มีภาวะแรงดันในช่องท้องสูงจากการออกแรงยกของหนัก
  • ไอหรือจามอย่างหนักบ่อย ๆ
  • มีการเบ่งอุจจาระหรือปัสสาวะเป็นประจำ
  • ผนังช่องท้องมีความอ่อนแอหลังการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง
  • การสูบบุหรี่
  • มีภาวะโรคอ้วน

ในเพศชายจะมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิงจากปัจจัยข้างต้น ทำให้ความเชื่อที่ว่าไม่ใส่กางเกงในจะทำให้เกิดโรคไส้เลื่อนนั้น ไม่เป็นความจริง 

ไส้เลื่อนในผู้ชายที่พบบ่อยที่สุดคือ ไส้เลื่อน ขาหนีบ (Inguinal Hernia) ซึ่งพบมากในผู้ชายวัย 40 ปีขึ้นไป ถ้ามีอาการมาไม่นานจะพบเป็นก้อนบริเวณขาหนีบร่วมกับอาการปวดท้องหน่วง ๆ แต่ถ้าปล่อยไว้นานไส้เลื่อนจะมีขนาดใหญ่ขึ้นแล้วไหลลงอัณฑะ นำไปสู่โรคแทรกซ้อนได้ เช่น ลำไส้อุดตัน

ประเภทของไส้เลื่อน

ไส้เลื่อน แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตามความรุนแรงของโรค คือ

  1. ไส้เลื่อนที่สามารถดันกลับเข้าไปในช่องท้องได้
  2. ไส้เลื่อนที่โป่งออกมา ไม่สามารถกลับเข้าสู่ช่องท้องได้ เพราะมีการอุดตันที่คอถุงไส้เลื่อน ซึ่งอาจทำให้ลำไส้อุดตันและขาดเลือด เกิดลำไส้เน่าตายได้ 

วิธีรักษาโรคไส้เลื่อน

วิธีการรักษาไส้เลื่อนสามารถทำได้ด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง เป็นการผ่าตัดด้วยเครื่องมือเฉพาะ เป็นหนึ่งวิธีที่ได้รับความนิยม โดยใช้กล้องส่องเข้าไปเพื่อทำการเลาะผนังช่องท้อง โดยวิธีนี้ช่วยให้แผลมีขนาดเล็ก เจ็บน้อยและฟื้นตัวเร็ว ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ ผู้ป่วยสามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้หลังการผ่าตัด และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติอย่างรวดเร็ว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ