วิษณุ เผยไร้ปัจจัยเสี่ยงยุบสภา แจงหากเกิดอุบัติเหตุ เชื่อรัฐบาล-กกต.หาทางออกได้ ชี้รักษาการลากยาวไม่ได้ เหตุรธน.บังคับต้องจัดเลือกตั้งตามกรอบเวลา
วันที่ 1 พ.ย.2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความชัดเจนกรณีสภาผู้แทนราษฎรอยู่ครบวาระวันที่ 23 มี.ค.2566 หากส.ส.ต้องการย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ 90 วัน จะเริ่มนับตั้งแต่วันใด เนื่องจากมีการพูดว่าต้องลาออกจากพรรคเดิมก่อนวันที่ 24 ธ.ค.2565 ว่า หากอยู่ครบวาระถึงวันที่ 23 มี.ค.2566 จะต้องนับระยะเวลา 90 วันไปถึงวันเลือกตั้ง
ส่วนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ระบุ หากสภาฯอยู่ครบวาระจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ค.2566 หมายความว่าจะต้องเริ่มนับเวลาจากนั้นลงมาใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า โมเดลของ กกต.เป็นการคิดเผื่อไว้เท่านั้น เพราะ กกต.ก็ไม่ทราบว่าสภาจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ จะยุบสภาหรือครบวาระ
เมื่อถามว่าสมมติการเลือกตั้งมีขึ้นวันที่ 7 พ.ค.2566 ช่วงเวลาที่ส.ส.สามารถลาออกไปอยู่พรรคใหม่วันสุดท้ายตามกรอบ 90 วัน คือ 7 ก.พ.2566 หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่เคยลองนับ เมื่อถามย้ำว่าขณะนี้สังคมสับสนว่าวันสุดท้ายที่ส.ส.จะย้ายพรรคได้ เพื่อให้ทันกรอบ 90 ในกรณีสภาฯอยู่ครบวาระ คือวันที่ 24 ธ.ค.65 นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีอะไรสับสน เมื่อสภาเปิดแล้วใครจะเริ่มคิดอ่านอย่างไรก็ควรเริ่มคิดได้ตั้งแต่วันนี้ เผื่อสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปได้หลายอย่าง
เมื่อถามถึงข้อสังเกตว่าหากยุบสภา แต่กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งยังไม่ผ่าน รัฐบาลจะถืออำนาจรักษาการต่อไปยาวนานจนกว่าจะมีกฎหมายลูก นายวิษณุ กล่าวว่า อันนั้นเป็นเรื่องที่บางคนคิด แต่รัฐบาลไม่รู้หากเกิดเหตุอย่างนั้นขึ้นมาจะอยู่กันอย่างไร จะใช้กฎหมายอะไร เพราะรัฐบาลไม่ได้เป็นคนชี้เรื่องนี้ เป็นเรื่องของ กกต.จะเป็นคนชี้ และถ้าใครไม่เชื่อก็ต้องไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลไม่มีอำนาจไปกำหนดอย่างนั้น
เมื่อถามว่ารัฐบาลจะไม่ยื้อเวลารักษาการช่วงที่ไม่มีเลือกตั้งใช่หรือไม่ เนื่องจากมีเงื่อนไขระยะเวลาในรัฐธรรมนูญบังคับอยู่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้ อย่างไรต้องมีเลือกตั้ง เลือกผิดเลือกถูกก็เลือกไปก่อน และให้ศาลไปชี้เอา สุดท้ายหากไม่มีกฎหมายลูกก็ต้องหาทางร่วมกันจนได้ว่าจะเอากฎเกณฑ์อะไรมาจากไหน ส่วนความคืบหน้ากฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับนั้น ศาลรัฐธรรมนูญขอให้ กกต.ชี้แจงภายใน 15 วัน ซึ่งวันนี้ยังไม่ครบ 15 วัน และหากชี้แจงแล้ว ศาลคงตัดสินได้ ไม่คิดว่าจะช้าเพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ไม่ต้องสืบพยาน
เมื่อถามว่าสุดท้ายหากกฎหมายเกิดอุบัติเหตุ และเวลารัฐบาลเหลือน้อย ไม่ทันพิจารณากฎหมายใหม่จะทำอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ต้องคิดด้วยกันทั้งรัฐบาลและกกต. แต่ กกต.จะได้เปรียบ เขาจะถือสิทธิมากกว่า สามารถออกกฎเกณฑ์อะไรออกไปได้ก่อน หากใครเห็นว่าผิด ก็ไปฟ้องเอา
เมื่อถามว่าหากไม่มีกฎหมายลูก รัฐบาลสามารถออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)การเลือกตั้งได้หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า “ถ้าถามผมที่สุดของที่สุดจริงๆ ก็ต้องทำอย่างนั้น แต่มันไม่สมควร เพราะการออก พ.ร.ก.เป็นการใช้อำนาจฝ่ายเดียว”
ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐบาลเริ่มคิดหรือยังหากกฎหมายลูกไม่ผ่าน นายวิษณุ กล่าวว่า “ยืนยันว่ารัฐบาลยังไม่ได้เริ่มคิดเพราะยังไม่มีเหตุ วันนี้ศาลยังไม่ได้ทำอะไรเลย เราจะมาคิดก่อนไม่ได้ เพราะมีหลายทาง คิดแล้วก็จะบ้า วิกลจริตกันเปล่าๆ หากมี ก. และ ข. แต่ถ้ามี ก. ถึง จ. ก็อย่าไปคิดเลย ฟุ้งซ่าน และไม่มีเหตุในสภาต้องมานั่งคิดเตรียมรับสถานการณ์ว่าจะยุบสภา ซึ่งมันไม่มี เพราะไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติ กฎหมายสำคัญรัฐบาลก็ไม่เสนอ ดังนั้น ไม่มีอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยง อย่างมากก็แค่สภาล่ม”