ไม่ใช่หอมซอย! พบพยาธิตัวกลมยั้วเยี้ยในปลาซาบะ กินดิบเสี่ยงโรค-ปวดท้องหนัก

Home » ไม่ใช่หอมซอย! พบพยาธิตัวกลมยั้วเยี้ยในปลาซาบะ กินดิบเสี่ยงโรค-ปวดท้องหนัก



ไม่ใช่หอมซอย! พบพยาธิตัวกลมยั้วเยี้ยในปลาซาบะ กินดิบเสี่ยงโรค-ปวดท้องหนัก แจต่หากปลาสุกสามารถทานได้อย่างปลอดภัย

กระแสไวรัลในโลกออนไลน์กำลังให้ความสนใจกับคลิปวิดีโอของผู้ใช้เฟซบุ๊กเอฟเอ็มซีคลินิกเวชกรรมโพสต์คลิปปลาซาบะที่มีเครดิต Saowapa Pokpong ซึ่งมีลักษณะปรุงสุกจากห้างสรรพสินค้า แต่ภายในเนื้อปลา มีเส้นกลม ๆ งอ ๆ กระจายอยู่เป็นจำนวนมาก

ระบุข้อความว่า “หากท่านซื้อปลาซาบะมาแล้วพบตัวกลม ๆ ยาว ๆ 1 – 3 เซนติเมตรขดอยู่ นั่นคือพยาธิตัวกลมอะนิซากิส พยาธินี้หากกินปลาดิบ ๆ พยาธิยังไม่ตายจะทำให้ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หลังกินเข้าไปประมาณ 1 -3 วัน แต่ถ้าสุกแล้วแบบนี้ ปลอดภัย

ภาพจาก เอฟเอ็มซีคลินิกเวชกรรม

นอกจากนี้ ทางศูนย์วิจัยโรคปรสิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี-pdrc SUT ยังให้ความเห็นว่า ชำแหละ ล้างให้สะอาด เอาออกให้หมด ทำให้สุกก็ปลอดจากพยาธิต่าง ๆ โดยเฉพาะพยาธิอะนิซากิส

ทางทีมข่าวสดจะขอให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ พยาธิตัวกลมอะนิซากิส (Anisakis simplex) โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเผย พยาธิตัวกลมอะนิซากิส เป็นหนอนพยาธิที่พบในปลาทะเลเขตอบอุ่นและเขตร้อน

ภาพจาก เอฟเอ็มซีคลินิกเวชกรรม

ในประเทศไทยตรวจพบตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้ในปลามากกว่า 20 ชนิด เช่น ปลาดาบเงิน ปลาตาหวาน ปลาสีกุน ปลาทูแขก ปลากุเลากล้วย ปลาลัง เป็นต้น ส่วนในต่างประเทศจะพบในปลาจำพวก ปลาคอด ปลาแซลมอน ปลาเฮอริ่ง

ระยะตัวอ่อนที่ติดต่อสู่มนุษย์จะอยู่ในอวัยวะ ภายในช่องท้องของปลาทะเล มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ขนาดยาวประมาณ 1 – 2 เซนติเมตร กว้างประมาณ 0.3 – 0.5 มิลลิเมตร บริเวณปากจะมีหนามขนาดเล็ก บริเวณปลายหางจะมีส่วนแหลมยื่นออกมา พยาธิชนิดนี้จะใช้หนามขนาดเล็กบริเวณปากและปลายหางแหลมในการไชผ่านเนื้อเยื่อต่าง ๆ

ภาพจาก เอฟเอ็มซีคลินิกเวชกรรม

อาการที่สําคัญ คือ อาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่คลื่นไส้อาเจียนและท้องเสีย เนื่องจากปากของตัวอ่อนพยาธินี้จะมีหนามขนาดเล็กและปลายหางแหลม ขณะเคลื่อนที่ ไชในกระเพาะอาหาร และ ลําไส้ของคนจะทําให้เกิดแผลขนาดเล็กและอาจทําให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร มีอาการปวดท้อง แน่นท้อง คลื่นไส้ท้องอืด อาการมักไม่เฉพาะเจาะจง คล้ายกับอาการของโรคกระเพาะอาหาร บางรายอาจมีอาการท้องเสีย หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือดถ้ามีแผลในกระเพาะอาหารขนาดใหญ่

อาการมักจะเริ่มเกิดหลังจากรับประทานอาหารที่มีพยาธิชนิดนี้เป็นชั่วโมงหรือเป็นวันก็ได้ซึ่งอาการปวดท้อง บางครั้งอาจจะวินิจฉัยผิดพลาดว่าเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือไส้ติ่งอักเสบได้บางรายอาจถ่ายออกมาเป็นมูกเลือดใน 1-5 วัน ผู้ป่วยอาจจะอาเจียนออกมา เป็นตัวพยาธิหรืออาจจะส่องกล้องเข้าไปในหลอดอาหารแล้วพบตัวพยาธิ

สำหรับใครที่มีความกังวลเกี่ยวกับพยาธิดังกล่าว การแช่แข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า -35 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 15 ชั่วโมง หรือ ต่ำกว่า -20 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 7 วัน หรือ หากปลาปกติผ่านความร้อนมากกว่า 60 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 5 นาที ก่อนการประกอบอาหารจะทำให้พยาธิชนิดนี้ตายได้ ดังนั้น ก่อนทานปลาดิบควรสังเกตให้ถี่ถ้วนก่อน

ขอบคุณที่มาจาก fmcclinic คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ