ใกล้ถึงเทศกาลสงกรานต์ พี่น้องหลายคนเตรียมเดินทางกลับภูมิลำเนา หนึ่งในเส้นทางสายหลักมุ่งตรงสู่อ้อมอกครอบครัว โดยเฉพาะสำหรับพี่น้องชาวอีสาน ก็คือ “ถนนมิตรภาพ” ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 เริ่มต้นที่จังหวัดสระบุรี มุ่งหน้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไปสิ้นสุดที่จังหวัดหนองคาย รวมระยะทางทั้งสิ้น 509 กิโลเมตร
เราสัญจรบน ถนนมิตรภาพมานาน แต่น้อยคนจะรู้ที่มาของชื่อ “มิตรภาพ” นั้นหมายถึงมิตรภาพระหว่างใคร บ้างก็ว่าเป็น มิตรภาพไทย-ลาว แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ และยิ่งไปกว่านั้น ก่อนจะมาเป็นชื่อ “มิตรภาพ” ทางหลวงสายนี้
ยังเคยใช้ชื่ออื่นมาก่อนด้วย
ประวัติความเป็นมาของ ถนนมิตรภาพ
ถนนมิตรภาพเป็นทางหลวงที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางสหรัฐในด้านงบประมาณการก่อสร้าง เทคนิควิชาการในการก่อสร้าง นับเป็นทางหลวงสายแรกที่ก่อสร้างถูกต้องตามแบบมาตรฐานการก่อสร้างทางหลวงทุกขั้นตอน และเป็นทางหลวงสายแรกของประเทศไทยที่มีผิวจราจรลาดยางแบบแอสฟอลต์คอนกรีต โดยเปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2508
คณะรัฐมนตรี อนุมัติให้ตั้งชื่อถนนช่วงสระบุรี–ปากช่อง–นครราชสีมาว่า “ถนนสุดบรรทัด” และในช่วงนครราชสีมา–ขอนแก่น–อุดรธานี–หนองคายได้รับการตั้งชื่อถนนว่า “ถนนเจนจบทิศ” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2493 ก่อนที่จะได้รับการสนันสนุนการก่อสร้างจากสหรัฐ ซึ่งเริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2498 จากสระบุรีจนถึงนครราชสีมา ระยะทางประมาณ 148 กิโลเมตร
ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้เปลี่ยนชื่อ ขนานนามใหม่ให้ถนนสายนี้ว่า ถนนมิตรภาพ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 เพื่อแสดงถึงมิตรภาพของประเทศไทยกับสหรัฐในการก่อสร้างถนนร่วมกัน โดยมีพิธีมอบถนนให้ประเทศไทย ในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2501