เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2564 องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ อดีต ส.ส.พรรคภูมิใจไทย, นายภูมิศิษฎ์ คงมี อดีต ส.ส.พรรคภูมิใจไทย และนางนาที รัชกิจประการ อดีต ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ในความผิดฐานร่วมกันให้บุคคลอื่นใช้บัตรลงคะแนนแทนในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
ตามฟ้องโจทก์ระบุว่า ในช่วงวันที่ 8-11 มกราคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 จำเลยทั้งสามซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ส.ส. ได้ลงชื่อเข้าร่วมประชุม แต่ปรากฏว่า นายฉลอง ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมในช่วงวันที่ 10 มกราคม 2563 เวลา 19.30 น. ถึงวันที่ 11 มกราคม 2563 เวลา 17.38 น. นายภูมิศิษฎ์ ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมในช่วงวันที่ 10 มกราคม 2563 เวลา 19.30 น. ถึงวันที่ 11 มกราคม 2563 เวลา 11.10 น. และนางนาที ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมในช่วงวันที่ 11 มกราคม 2563 เวลา 14.28-15.46 น. ต่อเนื่องกัน
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันกับบุคคลอื่นที่ไม่ปรากฏชื่อชัดเจน โดยให้ผู้อื่นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของตนเองแสดงตนและลงมติในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 แทนตนเอง ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในตำแหน่ง ส.ส. ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการและกระบวนการใช้อำนาจนิติบัญญัติในการตราพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา
- จนท.บุกจับ หลาน ชาดา และเพื่อน คาห้องพัก พบสารเสพติด และอาวุธปืน
- ไม่สนนามสกุล! ตร.แจ้งข้อหาหนัก หลายชายชาดา เปิดห้องปาร์ตี้ยากับสาว
- ‘เศรษฐา’ เผย ครม.ไฟเขียว แก้กฎหมายยาบ้า 1 เม็ดก็ถือว่าผิด
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ให้จำคุกคนละ 1 ปี แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสามให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงลดโทษให้คนละหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 9 เดือน
ศาลฎีกาฯ ยังพิพากษาให้จำเลยทั้งสามพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นวันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของจำเลยทั้งสามตลอดไป โดยไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ส., ส.ว., สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81 วรรคหนึ่งและวรรคสอง
จำเลยทั้งสามได้ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา แต่ระหว่างการพิจารณา จำเลยทั้งสามได้ยื่นคำร้องขอสละประเด็นข้อต่อสู้ตามอุทธรณ์ทุกข้อ และขอให้การรับสารภาพในชั้นอุทธรณ์ รวมทั้งขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุก
องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาได้พิจารณาคำร้องของจำเลยทั้งสามแล้ว มีมติเสียงข้างมากเห็นว่า ความผิดฐานเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งการที่ศาลฎีกาฯ วางโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 1 ปี ก่อนลดโทษให้นั้น ถือเป็นการลงโทษในอัตราขั้นต่ำสุดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และยังลดโทษให้อีกหนึ่งในสี่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสามมากแล้ว จึงไม่มีเหตุที่องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข
ส่วนที่จำเลยทั้งสามขอให้รอการลงโทษนั้น องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยทั้งสามในฐานะ ส.ส. มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติต่างๆ และการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะและต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต แต่จำเลยทั้งสามกลับละเลยหน้าที่ในฐานะผู้แทนปวงชนไปปฏิบัติงานอย่างอื่นโดยไม่ยึดมั่นในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย จนทำให้เกิดความด่างพร้อยต่อระบบรัฐสภา
นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เป็นกฎหมายสำคัญที่จะให้รัฐบาลนำเงินของแผ่นดินไปใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน หากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่ผ่านความเห็นชอบหรือเกิดความล่าช้าจากสภาผู้แทนราษฎร ย่อมส่งผลกระทบถึงการบริหารราชการแผ่นดินและเศรษฐกิจของประเทศ แม้จำเลยทั้งสามอ้างกำหนดนัดที่มีก่อนวันนัดประชุมอันเป็นการขาดประชุมโดยมิได้ลาประชุมตามระเบียบ แต่จำเลยทั้งสามกลับมอบบัตรลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติของตนให้บุคคลอื่นแสดงตนและออกเสียงลงคะแนนแทนอันเป็นความผิดอีกส่วนหนึ่งเพิ่มขึ้นมา
พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทยเป็นการกระทำที่ไม่ชื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ทำให้ประโยชน์ส่วนรวมได้รับความเสียหาย ไม่เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่และคำปฏิญาณที่ให้ไว้ และไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย ถือเป็นเรื่องร้ายแรงกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสามก็เพื่อให้จำเลยทั้งสามหลาบจำ เป็นการป้องปรามไม่ให้ผู้อื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่างกระทำความผิดเช่นนี้อีก แม้ต่อมาจำเลยทั้งสามรู้สำนึกในการกระทำความผิดโดยให้การรับสารภาพและไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ทั้งได้กระทำคุณความดีต่อสังคมตามที่จำเลยทั้งสามอ้าง ก็ยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสาม อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้จำเลยทั้งสามเดินทางมาฟังคำพิพากษาตามนัด ต่อมาเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวนายฉลองและนายภูมิศิษฎ์ไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ส่วนนางนาที ซึ่งเป็นภรรยา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ถูกนำตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางต่อไป