ไม่มีอาจดีกว่า ? : กำแพงมนุษย์ฟรีคิก ปราการที่เป็นอาวุธร้ายทำลายผู้รักษาประตู

Home » ไม่มีอาจดีกว่า ? : กำแพงมนุษย์ฟรีคิก ปราการที่เป็นอาวุธร้ายทำลายผู้รักษาประตู
ไม่มีอาจดีกว่า ? : กำแพงมนุษย์ฟรีคิก ปราการที่เป็นอาวุธร้ายทำลายผู้รักษาประตู

เสน่ห์หนึ่งของเกมลูกหนัง คือลูกยิงฟรีคิก ที่สร้างชื่อให้กับนักฟุตบอลมากมาย ทั้ง คริสเตียโน่ โรนัลโด้, เดวิด แบ็คแฮม, จูนินโญ แปร์นัมบูกาโน, ซินิซ่า มิไฮโลวิช และอีกมากมายนับไม่ถ้วน

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ดาวยิงจำนวนมากสร้างชื่อ กับการยิงฟรีคิก ผู้รักษาประตูกลับต้องปวดหัวให้การยิงแบบนี้ เพราะพวกเขาต้องเจอปัญหาสำคัญในการป้องกันประตู

ปัญหาที่ว่า คือกำแพงฟรีคิกที่ถูกสร้างมาเพื่อป้องกันลูกยิง แต่กลายเป็นว่า ทำให้เหล่ามือกาวทำงานได้ยากลำบากขึ้น และประสบปัญหาอย่างหนัก กับการป้องกันลูกฟรีคิก ซึ่งผ่านการรับรองจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า กำแพงสร้างปัญหาให้ผู้รักษาประตูจริง

วิสัยทัศน์ และระยะที่หายไป

ประวัติศาสตร์ของการยิงฟรีคิก ไม่มีการบันทึกอย่างแน่ชัด แต่อยู่คู่กับกีฬาฟุตบอลมาตั้งแต่ยุกแรกเริ่ม ก่อนจะมาถูกบันทึกเป็นกฎกติกาอย่างจริงจัง ในปี 1863 โดยสมาคมฟุตบอลของประเทศอังกฤษ หรือ เอฟเอ

ด้วยในตอนที่ยังไม่บันทึกกฎอย่างเป็นทางการ กำแพงจะอยู่ห่างจากจุดยิง เพียงแค่ 1 เมตรเท่านั้น ปัญหาที่ตามมาคือ ผู้ยิงฟรีคิกรู้สึกว่ากำแพงเป็นสิ่งที่ทำให้การยิงเป็นไปอย่างยากลำบาก หลังจากนั้นเป็นต้นมา ระยะของกำแพงจึงถูกเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งปี 2000 ระยะของกำแพงต้องอยู่ห่างจากจุดตั้งเตะ อย่างน้อย 10 หลา หรือ 9.1 เมตร นับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

ระยะห่างจากกำแพงที่มากขึ้น ช่วยให้ผู้เล่นเกมบุกเล่นลูกฟรีคิกได้มากขึ้น แต่ปัญหาไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่โยนกลับมาให้ผู้เล่นเกมรับ โดยเฉพาะผู้รักษาประตู

 

ปัญหาแรก และเป็นปัญหาใหญ่ของผู้รักษาประตู กับกำแพงฟรีคิก นั่นคือการถูกบดบังวิสัยทัศน์การมองเห็นลูกฟุตบอล ที่ส่งปัญหาต่อการคาดการณ์วิถีทางลูกฟุตบอลที่กำลังพุ่งเข้าหาประตู

หากไม่มีกำแพงขวางกั้น ผู้รักษาประตูสามารถคาดการณ์การพุ่งของลูกฟุตบอลได้ทันทีที่ลูกบอลถูกเตะออกมา หรือจะอ่านหน้าเท้าของผู้ยิงได้ด้วยซ้ำ เหมือนเวลาที่ผู้รักษาประตูต้องป้องกันลูกจุดโทษ

หากแต่กำแพงจะเข้ามาบดบังการมองเห็นของผู้รักษาประตู … ซึ่งจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่า ปกติแล้วผู้รักษาประตูจะเห็นลูกฟุตบอลช้ากว่าความเป็นจริงที่ควรเห็น เป็นระยะเวลา 2 วินาที เพราะช่วงเวลานั้น ลูกฟุตบอลมักจะยังไม่ผ่านกำแพง ทำให้วิสัยทัศน์ของผู้รักษาประตูที่จะมองเห็นลูกฟุตบอล ถูกบดบังด้วยกำแพงมนุษย์ที่อยู่ด้านหน้า

2 วินาที คือเวลาที่สั้นมากแค่ช่วงพริบตาเดียวเท่านั้น แต่สำหรับการป้องกันลูกฟรีคิก ช่วงเวลานี้ที่หายไปของผู้รักษาประตูส่งผลเสียมหาศาลให้กับพวกเขา 

เพราะกว่าจะเห็นลูกฟุตบอล มันก็สายเกินไปเสียแล้ว กับการจะกระโดดไปปัดบอลให้ทัน หรือป้องกันลูกยิงที่กำลังจะเสียบตาข่าย

 

งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้เผยต่ออีกว่า วิสัยทัศน์ที่หายไป นำมาซึ่งปัญหาต่อมาของผู้รักษาประตู นั่นคือสูญเสียระยะของการป้องกันประตู

เทียบให้เห็นภาพกับการยิงลูกจุดโทษ เราจะเห็นว่าผู้รักษาประตูสามารถพุ่งได้แบบสุดตัว มีระยะป้องกันประตูได้มากตามขีดความสามารถของแต่ละคน ถ้าเป็นมือกาวระดับโลกก็สามารถกระโดดสร้างระยะป้องกันได้สุดโคนเสาประตูแบบสบาย ๆ

อย่างไรก็ตาม พอเปลี่ยนเป็นการยิงฟรีคิก ช่วงเวลา 2 วินาทีที่หายไป เท่ากับการลดระยะที่ในการเคลื่อนที่ของผู้รักษาประตู เพราะสามารถเคลื่อนที่ได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น หรือพูดง่าย ๆ คือ ผู้รักษาประตูต้องออกตัวช้ากว่าลูกฟุตบอล ถึง 2 วินาที ดังนั้นระยะทางในการเคลื่อนที่ของลูกฟุตบอล ย่อมไปได้ไกลกว่าผู้รักษาประตู

แม้ว่าจากการวิจัย การสูญเสีย 2 วินาที จะลดระยะการป้องกันประตูเพียง แค่ 10 เซนติเมตร แต่แค่นี้ก็ถือว่ามากแล้วสำหรับผู้รักษาประตู เพราะช่องว่างเพียงนิดเดียวที่ไปไม่ถึง ไม่สามารถนำมือไปปัดลูกฟุตบอลได้ อาจหมายถึงการเสียประตู

ยิ่งใกล้ ยิ่งแย่ 

ถ้าจะถามว่า กำแพงฟรีคิกให้ผลเสียกับผู้รักษาประตูขนาดนี้ จะตั้งกำแพงกันลูกบอลไปเพราะเหตุใด ? แท้จริงแล้วกำแพงฟรีคิกสามารถป้องกันลูกฟุตบอลให้เข้าประตูได้ แต่มันต้องใกล้กว่านี้มาก

ระยะทางปัจจุบันระหว่างจุดตั้งเตะกับกำแพงคือ 10 หลา ซึ่งเป็นระยะที่ได้รับการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์มาเป็นอย่างดีว่า เอื้อให้กับฝ่ายรุกมากกว่าฝ่ายรับ กล่าวคือระยะตรงนี้ คือระยะที่เหมาะสมหากลูกบอลจะเริ่มทำการไซด์โค้งเพื่อหนีกำแพง หรือพุ่งทะยานทะลวงด่านหน้าที่ยืนขวางประตูอยู่ เพราะหากใกล้กว่านี้ ลูกบอลคงยิงติดกำแพงไปเสียหมด

เมื่อเอื้อประโยชน์ให้ทีมบุก ความซวยจึงมาตกกับทีมรับ กำแพงที่ถูกถอยออกไป มีประสิทธิภาพลดลง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากผู้เล่นในกำแพง พยายามจะเขยิบมายืนกินระยะให้ใกล้ขึ้นเป็นประจำ เพราะนักฟุตบอลเหล่านี้รู้ดีว่า ยิ่งยืนห่างจากลูกบอลมากเท่าไหร่ การเป็นกำแพงก็ยิ่งไร้ประโยชน์มากเท่านั้น

 

แต่ที่ซวยหนักสุดคือผู้รักษาประตู เพราะแค่กำแพงต้องยืนห่างจากลูกฟุตบอล 10 หลา ประสิทธิภาพของการป้องกันประตูก็ลดลงอยู่แล้ว 

แต่หากกำแพงต้องถอยห่างจากจุดยิงมากขึ้นอีก วิสัยทัศน์ของผู้รักษาประตูยิ่งน้อยลงไปอีก เพราะกำแพงในสายตาของมือกาวจะใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ ตามระยะกำแพงที่ถูกถอยลงมา

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากเราจะเห็นผู้เล่นฝ่ายรุกชอบมายืนอยู่หลัง หรือเพิ่มความยาวให้กำแพง ส่วนหนึ่งเพื่อทำให้กำแพงดูใหญ่ขึ้น สร้างปัญหาให้กับเหล่าจอมเซฟ

มีดีกว่าไม่มี

กำแพงดูจะสร้างผลเสียให้กับผู้รักษาประตูมากมาย ซึ่งถ้ามือกาวได้รับผลเสียขนาดนี้ เหตุใดกติกากีฬาฟุตบอล จึงไม่ยอมยกเลิกกฎนี้ ปล่อยให้ผู้ยิงฟรีคิก ดวลเดี่ยวตัวต่อตัว กับผู้รักษาประตูให้รู้เรื่องรู้ราวไปเลย

 

คำตอบที่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์บ่งบอกแล้วว่า ถ้าการยิงฟรีคิกไม่มีกำแพง ก็แทบไม่ต่างอะไรกับการยิงจุดโทษ พูดง่าย ๆ คือโอกาสเข้าประตูเยอะแน่นอน

ปัจจุบัน อัตราการยิงเข้าของการยิงลูกจุดโทษอยู่ที่ 75 เปอร์เซนต์โดยประมาณ หรือจากโอกาส 4 ครั้งยิงเข้าถึง 3 ครั้ง หากเป็นลีกฟุตบอลชั้นนำของโลก อัตราการยิงจุดโทษเข้าสามารถพุ่งสูงถึง 78-83 เปอร์เซนต์ ตามแต่ละฤดูกาล

ขณะที่ปัจจุบัน โอกาสทำประตูจากลูกฟรีคิก อยู่ที่ 16 เปอร์เซนต์เท่านั้น แต่หากเอากำแพงออกไป โอกาสทำประตูด้วยฟรีคิก สามารถขยับสูงได้ถึง 50-75 เปอร์เซนต์เลยทีเดียว

เพราะว่า การยิงฟรีคิกแบบไม่มีกำแพง จะช่วยให้นักฟุตบอลไม่ต้องมาคิดหาวิธียิงลูกบอลให้ผ่านกำแพง สามารถหวดลูกฟุตบอลได้ตามใจต้องการเพื่อให้บอลเข้าประตู 

จากการศึกษาเผยว่า ในลีกฟุตบอลระดับโลก มือยิงฟรีคิกของแต่ละทีม สามารถส่งบอลเข้าประตูได้แบบสบาย ๆ ไม่ต่างกับการยิงจุดโทษ ต่อให้มีระยะที่ไกลกว่า หรือมุมการยิงที่เปลี่ยนไป 

เพราะนักเตะเหล่านี้ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี และความสามารถของพวกเขายอดเยี่ยมจนหลายคาดไม่ถึงว่า หากไม่มีกำแพง ยอดแข้งเหล่านี้จะเปลี่ยนการยิงฟรีคิก ให้เป็นการทำประตูสุดขนมได้แค่ไหน

ประโยชน์ของกำแพงในความจริงแล้ว ไม่ใช่การป้องกันประตู แต่เป็นการทำให้นักฟุตบอลต้องคิดเยอะขึ้น กับการหวดลูกบอล เพราะไม่ใช่แค่คิดถึงการส่งบอลเข้าโกล หากยังต้องคำนวนถึงการส่งลูกบอลให้ข้ามสิ่งกีดขวางไปด้วย 

การวิจัยแสดงให้เห็นว่า ก่อนการยิงฟรีคิกทุกครั้ง นักฟุตบอลจะคิดมาเป็นอย่างดีแล้วว่า พวกเขาจะยิงลูกบอลอย่างไร ทำให้การคาดเดาล่วงหน้าเป็นไปได้ง่ายกว่า ตรงกันข้ามกับการยิงจุดโทษ ที่นักบอลสามารถเปลี่ยนใจหน้างาน ด้วยการหักเท้าหลอกยิงไปอีกทาง หลังจากผู้รักษาประตูออกตัวเซฟไปก่อน

นอกจากนี้ หากยกกำแพงออกไป มือยิงฟรีคิกมีแนวโน้มจะหวดลูกบอลด้วยน้ำหนักที่แรงขึ้นกว่าเดิม เพราะไม่ต้องกังวลว่าลูกเตะจะไปอัดกระแทกศรีษะ หรือลำตัวผู้เล่นคนไหน ด้วยลูกยิงที่แรงขึ้น ย่อมทำให้ผู้รักษาประตูป้องกันลูกยากขึ้นเป็นธรรมดา

สรุปแล้ว การยิงฟรีคิกเอื้อให้กับผู้เล่นเกมรุกได้เปรียบมากกว่าโดยธรรมชาติ ขณะที่ทีมรับต้องยอมรับความเสียเปรียบนี้ไป อย่างไม่มีทางเลือก เพราะการสร้างกำแพงขึ้นมา ถึงจะลดประสิทธิภาพการเซฟของผู้รักษาประตู แต่ก็เป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันได้มากที่สุดแล้ว ตามกติกาของโลกฟุตบอลในปัจจุบัน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ