ไม่ต้องเดา "เสี่ยเค้ก" พ่อค้าบะหมี่ ใส่ทองขายก๋วยเตี๋ยว บอกเองกำไรต่อวันเท่าไหร่

Home » ไม่ต้องเดา "เสี่ยเค้ก" พ่อค้าบะหมี่ ใส่ทองขายก๋วยเตี๋ยว บอกเองกำไรต่อวันเท่าไหร่
ไม่ต้องเดา "เสี่ยเค้ก" พ่อค้าบะหมี่ ใส่ทองขายก๋วยเตี๋ยว บอกเองกำไรต่อวันเท่าไหร่

เปิดใจ เสี่ยเค้ก เจ้าของร้านบะหมี่เกี๊ยวฮ่องเต้ เข้าปรึกษาสื่อและทนายดัง​ หลังสวมใส่ทอง​เส้นใหญ่​ รวม 25 บาท​ ขายก๋วยเตี๋ยว​ แต่จะถูกสรรพากรตรวจสอบ​

จากกรณี นายรังสรรค์​ สุวรรณศร​ อายุ​ 57 ปี​ เจ้าของร้านบะหมี่เกี๊ยวชื่อดัง “ฮ่องเต้บะหมี่เกี๊ยวปูหมูแดง” ร้านตั้งอยู่บริเวณหน้าหมู่บ้านกฤษดานคร​ ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี​ ซึ่งพ่อค้ารายนี้เป็นที่รู้จักกันดีในโซเชียลมีเดียหลายคนเรียกกันว่า “เสี่ยเค้ก” พ่อค้าบะหมี่เกี๊ยวปู​ที่มักจะสวมใส่ทองเส้นใหญ่เท่าโซ่​เหลืองอร่ามเต็มคอ​และข้อมือ​ เสี่ยเค้กยังเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะที่เป็นพ่อค้าบะหมี่เกี๊ยวใจดีติดป้ายที่หน้าร้านไว้ว่า “สตรีมีครรภ์ คนจน คนไร้ที่พึ่งขอกินฟรีได้ตลอด” 

ล่าสุด ทีมข่าวลงพื้นที่ไปทำข่าว​เสี่ยเค้กอีก​ เพราะทราบข้อมูลมาว่าเสี่ยเค้กกำลังจะซื้อสร้อยคอทองคำน้ำหนัก 100 บาท สวมใส่อีก 1 เส้น ซึ่งเป็นเรื่องที่สวนกระแส สภาวะเศรษฐกิจในตอนนี้​ แต่ปรากฏว่ามีสำนักข่าวบางสำนักนำภาพและเนื้อหาบางส่วนของทีมข่าวไปนำเสนอในมุมที่แตกต่างออกไป​ โดยระบุว่าเสี่ยเค้กงานเข้า สรรพากรจะลงมาตรวจสอบเส้นทางการเงินของเสี่ยเค้ก​ ที่ร่ำรวยผิดปกติ 

เรื่องนี้ทำให้เสี่ยเค้กไม่สบายใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ โดยเสี่ยเค้กบอกกับทีมข่าวว่าส่วนตัวแล้วตนเองไม่ได้กังวลหากสรรพากรจะมาตรวจสอบเพราะเงินที่ได้มานั้น เป็นเงินที่ได้มาโดยสุจริต แต่ที่เสียใจและนอนไม่หลับ เพราะรู้สึกว่า

เพียงเพราะตนขายก๋วยเตี๋ยวมีผิวคล้ำ มีรอยสัก พอใส่ทองเส้นใหญ่​ และมีความฝันว่าจะได้สวมใส่ทองเส้นละ 100 บาท ถึงกับต้องลงพื้นที่มาตรวจสอบกันเลยหรือทางที่ตนเป็นพ่อค้า ริมทาง​ และเกิดข้อสงสัยว่า เจ้าของร้านบะหมี่เกี๊ยวจะใส่ทองคำ เส้นละ 10 บาทไม่ได้เลยหรือ

เสี่ยเค้ก ยังเปิดใจถึงที่มาที่ไป ของทองที่ใส่อยู่ที่คอและข้อมือด้วยว่า​ จุดเริ่มต้นมาจากการขายที่ดินของทางครอบครัว เมื่อ 20 ปีก่อน ตอนนั้นตนได้เงินมาประมาณ 80,000 บาท เพราะเป็นการขายต่อให้กับพี่สาว จึงนำเงินจำนวนนี้ไปซื้อทองเก็บไว้​และขายบะหมี่มาก่อนหน้านั้น

จนกระทั่งขายไปขายมาก็รวบรวมเงินทอง จนกลายเป็นตอนนี้ที่ใส่อยู่คือทองคำเส้นละ 10 บาท 2 เส้น และที่ข้อมือเส้นละ 5 บาท รวม แล้ว 25 บาท มูลค่าตอนนี้ 1​ ล้านบาท​ และใส่แบบนี้มาขายบะหมี่เกี๊ยวทุกวันและยังบอกอีกว่ากว่าตนเอง จะเก็บหอมรอมริบได้ทองเส้นใหญ่ขนาดนี้

ตนขายก๋วยเตี๋ยวมา 32 ปี เป็นคนที่ประหยัดมัธยัสถ์มาก แม้แต่กาแฟร้านดังก็ไม่กล้ากิน กับข้าวกับปลาก็ทำกินเอง กินกันชามเดียวกับภรรยา​ กำไรที่ได้จากการขายก๋วยเตี๋ยว ต่อวันนำไปหยอดกระปุก อย่างน้อย 1,000 บาทและไม่มีการนำออกมาใช้​ แม้จะใส่ทองเส้นใหญ่ แต่เสื้อและกางเกง ไม่เกิน 200 บาท ทุกวันนี้ยังขับขี่รถจักรยานยนต์ ส่งก๋วยเตี๋ยวให้ลูกค้าที่มาสั่งอยู่เลย​

เพราะในชีวิตมีสิ่งเดียวที่ตนปรารถนา นั่นคือทองคำ จึงเก็บเงินขวนขวายที่จะซื้อทองคำเส้นใหญ่ๆมาใส่ เพราะมันทำให้รู้สึก มีกำลังใจมีแรงผลักดันในการทำงานต่อไป​ ส่วนประเด็นที่บอกว่า ตนกำลังเตรียมเงินเพื่อไปซื้อทอง 100 บาทนั้น ก็ยอมรับว่าได้เข้าไปในร้านทองแห่งหนึ่ง เพื่อไปเปลี่ยนลายทองที่ข้อมือ

ปรากฏว่าพอเข้าไปในร้าน ก็เห็นทองเส้นละ 100 บาท เส้นใหญ่สวยงามมาก มีความตั้งใจ ต่อไปว่าจะต้องเก็บเงิน เพิ่มเพื่อซื้อทอง ให้ครบ 100 บาทซึ่งตอนนี้มีแล้ว 25 บาท ก็เหลืออีก 75 บาท นี่ก็คือความใฝ่ฝันของตัวเอง​

ขณะที่ในวันนั้นแม่ค้าก็เห็นว่าตนใส่ทองเส้นใหญ่เข้าไปในร้านก็เลยให้ตนลองสวมทองเส้นละ 100 บาท เพื่อทำคอนเทนต์โปรโมทร้าน แล้วก็โปรโมทตัวเองด้วย ยืนยันว่าตอนนี้ยังไม่มีเงินซื้อทอง 100 บาท เป็นเพียง ความฝันเท่านั้น

ขณะที่ในวันนี้เสียงเค้กยังได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับ ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม​ ถึงกรณีการค้าขายบะหมี่และมีเงินซื้อทอง รวมแล้ว 25 บาท​

ซึ่งเมื่อทนายรณรงค์ได้ฟังข้อมูลจากเสี่ยเค้กแล้ว ก็บอกว่าไม่น่ากังวลอะไร เพราะกำไรจากการขายบะหมี่เกี๊ยวต่อวัน อยู่ที่ประมาณวันละ 2,000 กว่าบาท หรือบางวันก็ขาดทุนด้วยซ้ำ หากคำนวณจากรายได้แล้ว น่าจะไม่เกิน 1 ล้าน 8 แสนบาท ต่อปี

ส่วนตัวทนายรณรงค์เองเห็นเสี่ยเค้กขายก๋วยเตี๋ยวมาตั้งแต่ตัวเองยังเด็ก เดินผ่านร้านก๋วยเตี๋ยวของเสี่ยเค้กทุกวันและยังรู้ด้วยว่าเสียเค้กเป็นคนที่มัธยัสถ์มาก รู้สึกไม่แปลกใจอะไร ที่เสี่ยเค้กจะสวมใส่ทองเส้นละ 10 บาท 2 เส้นบนคอ ดูเหลืองอร่าม​ ซึ่งเป็นเพียงสิ่งเดียวที่เสียเค้กนำออกมาโชว์​ นอกนั้นก็เห็นว่าแกขับรถธรรมดาแต่งตัวธรรมดาใช้ชีวิตประจำวัน เป็นชาวบ้านธรรมดา ไม่หรูหราอะไร

ซึ่งเรื่องนี้หากสรรพากรลงพื้นที่มาตรวจสอบ ก็ต้องให้เขาตรวจสอบไปตามกระบวนการ ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลและไม่ใช่เรื่องที่จะบอกว่า “งานเข้า” 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ