‘ไพบูลย์’ ลั่นไม่เห็นด้วย คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หาร 500 ชี้ขัดรัฐธรรมนูญ มีปัญหาแน่

Home » ‘ไพบูลย์’ ลั่นไม่เห็นด้วย คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หาร 500 ชี้ขัดรัฐธรรมนูญ มีปัญหาแน่



‘ไพบูลย์’ ลั่นไม่เห็นด้วย คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หาร 500 ชี้ขัดรัฐธรรมนูญ มีปัญหาแน่ ย้ำต้องหาร 100 ตามจำนวนที่ประชาชนเลือก

จากกรณีที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะกมธ.ฯ เตรียมเสนอสูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โดยใช้จำนวน ส.ส.ทั้งสภาฯ คือ 500 คน หาค่าเฉลี่ยเพื่อให้ได้จำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อแบบพึงมี นั้น

เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2565 นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญัติ(พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ… รัฐสภา กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ว่า ตนในฐานะอดีตประธาน กมธ.วิสามัญ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ (แก้ไขเพิ่มเติม) ฉบับที่ 1 พ.ศ.2564 มองว่าข้อเสนอดังกล่าว มีปัญหาสำคัญ 3 ประการ คือ 1.ขัดหรือแย้งต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่1) พ.ศ.2564 มาตรา 91 ที่กำหนดการคำนวณสัดส่วนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับคะแนนรวมของพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งรวมทั้งประเทศ

ซึ่งตามหลักฐานรายงานการประชุมกมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่พรรคการเมืองจะได้รับ กมธ.ฯ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ใช้ 500 คนหาร แต่เห็นด้วยกับจำนวน 100 คนหาร ดังนั้น เจตนารมณ์ของมาตรา 91 ที่แก้ไข ต้องหารด้วย 100 คนเท่านั้น เพราะผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรค ซึ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะมีจำนวน 100 คน เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวม

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า 2.ฝ่าฝืนข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 89 วรรคท้าย ที่ห้ามกมธ.เพิ่มมาตราหรือตัดทอน หรือแก้ไขมาตราที่ขัดกับหลักการแห่งร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่รัฐสภารับหลักการ ทั้ง 4 ฉบับ กำหนดให้ใช้จำนวน 100 คนหาร

และ 3.ทำลายเจตนารมณ์ของประชาชนในการเลือกส.ส.บัญชีรายชื่อ ของพรรคการเมือง จากการแก้ไขบัตรเลือกตั้งเป็น 2 ใบ เพื่อให้ประชาชนเลือกส.ส.เขตจากคนที่ชอบ และอีกใบเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคที่ชอบ ดังนั้น การคำนวณ ส.ส.จึงต้องมีความสัมพันธ์กับคะแนนที่ประชาชนเลือกบัตรแบบบัญชีรายชื่อ

“หากประชาชนหลายล้านคนแสดงเจตจำนงเลือกบัญชีรายชื่อ ส.ส.พรรคการเมืองหนึ่ง แต่พรรคการเมืองนั้นกลับไม่ได้ ส.ส. หรือได้น้อยกว่าที่ประชาชนเลือก จึงเป็นการทำลายเจตนารมณ์ของประชาชนที่กาบัตรเลือกตั้งส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง” นายไพบูลย์ กล่าว

เมื่อถามว่าการเสนอคำแปรญัตติดังกล่าวกมธ.ฯสามารถรับไว้พิจารณาได้หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า หากมีการเสนอก็ต้องอภิปราย และตนพร้อมจะลงมติไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไขให้ใช้จำนวน ส.ส. 500 คนหาร ตามเหตุผลที่กล่าวอ้าง ตนมองว่าจะทำให้เกิดปัญหา ทั้งนี้ กมธ.ฯ จะพิจารณาเรื่องดังกล่าววันที่ 12 พ.ค.นี้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ