ย้อนกลับไปในช่วงยุค 1980s-1990s ฟุตบอลจากชาติในทวีปแอฟริกา ไม่ได้เก่งกาจมากมายนัก จริงอยู่ที่อาจจะมีนักเตะที่สร้างชื่อเสียงส่วนตัวอย่าง โรเจอร์ มิลลา หรือ จอร์จ เวอาห์ ทว่าเมื่อรวมกันเป็นทีมแล้วพวกเขากลับทำได้แย่ และตกม้าตายเสียทุกที
ความสำเร็จแรกที่โลกยอมรับฟุตบอลของชาติในทวีปแอฟริกาอย่างแท้จริงคือ ไนจีเรีย ชุดโอลิมปิก 1996 พวกเขาเป็นแชมป์ที่พลิกล็อกที่สุดในประวัติศาสตร์ และหลังจากนั้นวงการฟุตบอลแอฟริกา ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ก่อนที่เราจะมาเถียงกันเรื่องของการโกงอายุดังคำกล่าวอ้าง เราอยากจะพาทุกท่านย้อนที่มาของทีมชุดเหรียญทองโอลิมปิกชุดนี้ ว่ามันยากลำบากขนาดไหน ในวันที่ผู้นำในประเทศของพวกเขาสั่งยึดวีซ่า และห้ามนักเตะไปแข่งโอลิมปิก
ติดตามเรื่องราวของทีมชาติ ไนจีเรีย ชุดที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของพวกเขาได้ที่ Main Stand
ยากตั้งแต่ตอนมา
ช่วงยุค 1990s ประเทศไนจีเรีย นั้นมีปัญหาเรื่องการเมืองครั้งใหญ่เมื่อรัฐบาลโดนรัฐประหารโดยกองทัพ นำโดย พลเอก ซานี อบาชา ในปี 1993
การรัฐประหารนั้นดีหรือแย่ ? ไม่ต้องบอกทุกคนก็รู้คำตอบอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสถานการณ์ที่ไม่ใกล้ไม่ไกลในละแวกนี้ (เมียนมา) ที่ไนจีเรียเมื่อช่วงยุค 1990s ก็ไม่ต่างกัน บ้านเมืองแตกเป็นสองฝั่ง กลุ่มชาตินิยมตามชนเผ่าต่างเชื่อว่าเผ่าตัวเองถูก อีกเผ่านึงเป็นคนผิด จึงทำให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นมาเป็นระลอก ๆ
หนำซ้ำผู้นำก็ไร้ความสามารถในการบริหารประเทศ เพราะนายพลซานี กลับไม่เลือกเคลียร์ปัญหาในมุ้งให้จบ เขาเลือกที่จะต่อกรกับรัฐบาลประเทศแอฟริกาใต้ นำโดยบุรุษแห่งประชาธิปไตยอย่าง เนลสัน แมนเดลา เนื่องจากแมนเดลา ให้สัมภาษณ์โจมตีถึงความล้าหลังของไนจีเรียยุคนายพลซานี ที่ลงมือประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง เคน ซาโร-วิวา เนื่องจากกล่าวหาว่านายพลซานี ทุจริตในการใช้ทรัพยากรของชาติอย่างก๊าซและน้ำมัน
ในช่วงเวลานั้นประเทศของพวกเขามีทีมฟุตบอลที่แข็งแกร่งมาก ยุค 1990s คือยุคทองของฟุตบอลไนจีเรีย เนื่องจากมีนักเตะเก่ง ๆ หลายคน ทั้ง ตาริโบ เวสต์, เจย์ เจย์ โอโคชา, เอ็นวานโก้ คานู และ วิคเตอร์ อิคเปบ้า โดยกลุ่มนักเตะหลายคนในชุดนี้เคยพาทีมเข้าถึงรอบ 16 ทีมสุดท้าย ในฟุตบอลโลกปี 1994 ก่อนจะถูก อิตาลี ที่นำโดย โรแบร์โต้ บาจโจ้ เขี่ยตกรอบไป
พวกเขาเป็นกลุ่มนักเตะที่อายุน้อย และต้องการประสบความสำเร็จให้ได้สักครั้ง ในปี 1996 มีการแข่งขัน 2 รายการที่ทีมฟุตบอลของ ไนจีเรีย คาดหวังว่าพวกเขาจะเป็นแชมเปี้ยน รายการแรกคือรายการแอฟริกัน เนชั่นส์ คัพ ที่แข่งกันในช่วงต้นปี แถมมีทีมอินทรีมรกตเป็นแชมป์เก่า แต่ถ้าพวกเขาได้มาแข่งง่าย ๆ มันคงไม่มีสตอรี่ที่น่าจดจำ ณ เวลานั้นนายพลซานี โดนประเทศแอฟริการอบข้างคว่ำบาตร ทำให้ทีมฟุตบอลของ ไนจีเรีย ต้องถอนตัวจากการเข้าแข่งขันในรายการนั้น (แถมยังโดนแบนซ้ำในอีก 2 ปีถัดมา) ซึ่งนั่นสร้างความผิดหวังให้กับกลุ่มที่ถูกเรียกว่า “โกลเดน เจเนอเรชั่น” เป็นอย่างมาก
“การตัดสินใจทางการเมืองเริ่มขึ้นและเสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว พวกเราเสียโอกาส เพราะนี่คือกลุ่มผู้เล่นที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่เราเคยมี เราควรจะต้องได้เข้าไปแข่ง ไปป้องกันแชมป์ แต่การเมืองทำให้เราไม่ได้รับสิทธิ์ที่เราสมควรจะได้” อิคเปบ้า ที่ในเวลานั้นเล่นในลีกฝรั่งเศส กับ โมนาโก กล่าว
ขณะที่กองหลังของทีมอย่าง ตาริโบ เวสต์ ก็ให้สัมภาษณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า ทีมนี้สามารถป้องกันแชมป์ทวีปได้แน่หากไปแข่ง และต่อให้เจอเวทียิ่งใหญ่กว่านั้นพวกเขาก็มั่นใจว่าสู้ได้ “ทีมชุดนี้โคตรเก่ง ผมบอกเลย ในวันที่พวกเราเข้าฝักเราสามารถชนะได้ทุกทีมบนโลกนี้” นี่คือสิ่งที่ เวสต์ บอก
อย่างไรก็ตามหลัง แอฟริกัน เนชั่นส์ คัพ ผ่านพ้นไป 6 เดือน มหกรรมกีฬาโอลิมปิกก็มาถึง ทีมนักเตะของไนจีเรียชุดนี้ผ่านเข้ามาเล่นในรอบสุดท้าย และพวกเขาต้องการแสดงให้โลกเห็นว่า พลาดอะไรบ้างในโอลิมปิกหนนี้
ปัญหาของทีมชุดนี้คือ รัฐบาลไม่มีเงินสนับสนุนอะไรเลยสักอย่าง เพราะงบไปลงกับกองทัพหรือดูแลส่วนอื่น ๆ แทน ทีมฟุตบอลไนจีเรีย จึงได้แต่ช่วยเหลือตัวเอง ต้องหาสปอนเซอร์รายย่อยให้ช่วยเหลือพวกเขาในเรื่องเล็ก ๆ แทบทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องที่หลับที่นอน จนถึงเครื่องดื่มเกลือแร่ที่ต้องใช้ระหว่างซ้อม
“เชื่อผมเถอะ ผมเล่นบอลมาจนอายุปูนนี้ผมไม่เคยเจอการเตรียมตัวก่อนเข้าทัวร์นาเมนต์ไหนที่ลำบากสุดขีดเหมือนกับโอลิมปิกในปี 1996 เลย” ซันเดย์ โอลิเซห์ นักเตะทีมชาติไนจีเรีย ที่เคยเล่นให้กับ อาหยักซ์ และ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ กล่าว
“สิ่งไหนที่ไม่ควรจะขาด ทีมชาติไนจีเรียชุดนั้นขาดหมด … อุปกรณ์, โครงสร้างพื้นฐาน, อุปกรณ์ทางการแพทย์, อาหาร, เครื่องดื่ม ทุกอย่างที่พอจะนึกออก สภาพของพวกเราเหมือนกับเด็กยากไร้ที่โดนทอดทิ้งดี ๆ นี่เอง”
พลังแห่งห้องแต่งตัว
เรารู้กันอยู่ว่าไม่ควรจะหาความ Romantic ภายใต้ความยากลำบากในแบบที่ไม่สมควรจะได้รับ แต่ในกรณีของทีมชาติไนจีเรียชุดนั้น คงไม่สามารถทำได้มากกว่าการมองโลกในแง่ดีสำหรับสถานการณ์เช่นนี้
นักเตะไนจีเรียประสบปัญหาขาดแคลนในทุกเรื่อง โดยกลุ่มนักเตะที่ค้าแข้งในยุโรปที่มีรายรับสูงกว่าเพื่อน ๆ ต้องควักเงินส่วนตัวออกมาใช้เพื่อทีมกันทั้งนั้น นักเตะที่ขับรถเป็นก็รับหน้าที่คนขับรถตู้เพื่อไปสนามซ้อมในแต่ละวัน จ่ายค่าโรงแรมและการเดินทางเอง มันเป็นแบบนั้นมาเสมอสำหรับทีมชุดยุคทองชุดนั้น
“ผมเคยคิดนะว่าฟุตบอลไม่ได้อยู่อย่างโดดเด่น แต่ความจริงก็คือความจริง อย่าหลอกตัวเองเลย ประเทศเราเป็นอย่างไร สภาพของทีมฟุตบอลเราก็เป็นแบบนั้นแหละ”
การขาดทุกอย่าง มีข้อดีหนึ่งสิ่งที่พวกเขาได้มา นั่นคือมันสามารถเพิ่มความใกล้ชิดให้กับกลุ่มนักเตะชุดนี้ได้มากขึ้น ประเทศไนจีเรียเวลานั้นมีปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อยที่ถูกปลุกปั่นให้มีความชาตินิยมสูง และมีการแบ่งแยกเชื้อชาติระหว่างเผ่า จนทำให้เกิดการรบรากันไปมาอยู่เนือง ๆ
แต่มนุษย์เราก็แค่นี้ ให้ยึดมั่นถือมั่นในสายเลือดของตัวเองขนาดไหน เมื่อพวกเขาถูกจับมาอยู่ด้วยกัน ใกล้ชิดกัน สัมผัสความลำบาก และมีชีวิตอยู่เพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน พวกเขาก็พบว่าแท้จริงแล้วสายเลือดก็แค่เรื่องสมมติเท่านั้น คนของอีกฝั่งไม่ได้เลวอย่างที่คิด และพวกเขาก็ไม่สูงค่าไปกว่าใคร เมื่อตาสว่าง การอยู่ด้วยกันในฐานะทีมเพื่อจุดมุ่งหมาย ก็กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าใจตรงกันได้ในท้ายที่สุด
“ไนจีเรีย เป็นประเทศที่มีการแบ่งแยกเรื่องเชื้อชาติอยู่แล้ว เราหนีความจริงข้อนี้ไม่ได้เลย แต่ถ้าคุณพูดถึงฟุตบอลไนจีเรีย พวกเราละทิ้งชนเผ่า เชื้อชาติ และลัทธิที่พวกเรานับถือ เรารวมกันเป็นหนึ่งเดียวในนามประเทศไนจีเรียเมื่อเราลงเล่น” โอลิเซห์ กล่าว
ไนจีเรีย ภายใต้การนำของโค้ชชาวดัตช์อย่าง โจ บอนเฟรเร อยู่ในกลุ่ม D ร่วมกับ ฮังการี, ญี่ปุ่น และ บราซิล โดยผลงานในรอบแบ่งกลุ่มนั้น ฮังการี กลายเป็นทีมแจกแต้ม ขณะที่ บราซิล, ไนจีเรีย และ ญี่ปุ่น ผลัดกันแพ้ชนะแบบงูกินหางจนมี 6 แต้มเท่ากันทั้ง 3 ทีม ทว่า ญี่ปุ่น ที่นำทัพโดยกุนซือ อากิระ นิชิโนะ อดีตผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย มีประตูได้เสียเป็นรองทีมอื่น ๆ แม้จะชนะ บราซิล ได้ พวกเขาก็ได้แค่ที่ 3 ของกลุ่ม ทำให้ตกรอบไปอย่างน่าเสียดาย
ในตอนนั้นไม่มีใครมองไนจีเรียในฐานะตัวเต็งเลย เพราะบราซิลชุดนั้นคือของจริง นักเตะอย่าง โรนัลโด้ (R9), จูนินโญ่ เปาลิสต้า และ เบเบโต้ คือดาวดังระดับโลก ที่แสดงคลาสเหนือกว่าทีมอื่นอย่างชัดเจน
Photo : twitter.com/90sfootball
ไนจีเรีย เข้ารอบเป็นอันดับ 2 ของกลุ่ม และเข้าไปเจอกับ เม็กซิโก ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย ก่อนจะชนะมาได้ 2-0 และนั่นทำให้พวกเขาต้องวนกลับมาเจอกับเต็ง 1 อย่าง บราซิล อีกครั้งในรอบรองชนะเลิศ ในรอบแรกพวกเขาแพ้มา 0-1 และรอบนี้คือโอกาสที่พวกเขาจะยืนยันสิ่งที่ตัวเองกล่าวก่อนทัวร์นาเมนต์เริ่มว่า ที่บอกว่า สามัคคีและเป็นหนึ่งเดียวกันจนสามารถชนะได้ทุกทีมในโลก แท้จริงแล้วพวกเขาเก่งขนาดนั้นแน่หรือ ? บราซิล คือบททดสอบที่ดีที่สุด
เราชนะได้ทุกทีม
เกมระหว่าง ไนจีเรีย ปะทะ บราซิล ในรอบรองชนะเลิศ ถือเป็นไฮไลท์ของการแข่งขันฟุตบอลชายในโอลิมปิกก็ว่าได้ เพราะไม่มีใครคาดคิดว่า ไนจีเรีย จะสร้างความพลิกล็อกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกมครึ่งแรกจบลง บราซิล นำ ไนจีเรีย ถึง 3-1 จากการยิงของ ฟลาวิโอ คอนไซเซา 2 ลูก และ เบเบโต้ อีก 1 ลูก ขณะที่ ไนจีเรีย ได้ประตูจากการยิงเข้าประตูตัวเองของ โรแบร์โต้ คาร์ลอส
“ครึ่งแรกเราเล่นกันได้แย่สุด ๆ ตื่นเต้นจนทุกอย่างพังไปหมด” ตาริโบ เวสต์ ว่าไว้กับ BBC
เมื่อเข้าไปอยู่ในห้องแต่งตัว นักเตะไนจีเรียจะถอดใจอยู่แล้วเพราะบราซิลเหนือชั้นจริง ๆ ในเกมวันนั้น อย่างไรก็ตามโควต้านักเตะอายุเกินทั้ง 3 อย่าง ดาเนี่ยล อาโมคาชี่, เอ็มมานูเอล อามูนิเก้ และ อูเช โอเคชุกวู กลายเป็นผู้รีดพลังที่เหลือในการขับเคลื่อนรุ่นน้องในห้องแต่งตัวให้พร้อมกลับมาสู้ต่อในอีก 45 นาทีที่เหลือ เพื่อทำให้ทีมยุคทองทีมนี้ คว้าแชมป์ระดับทัวร์นาเมนต์ให้ได้เป็นครั้งแรก
“เมื่อเข้าห้องแต่งตัวในช่วงพักครึ่ง ผมรู้แล้วว่าเราจะไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ ต้องขอบคุณนักเตะอย่าง อาโมคาชี่, อามูนิเก้ และ โอเคชุควู ที่เปล่งเสียงในฐานะผู้นำในห้องแต่งตัว พวกเขาปลุกให้เราสู้กับช่วงเวลาที่เหลือ ขอแค่ลูกเดียวพอ ถ้ายิงได้เราจะพลิกเกมสำเร็จและเราจะไม่แพ้แน่นอน” เวสต์ ว่าต่อ
บราซิล ยัน ไนจีเรีย ให้ตามหลังด้วยสกอร์ 3-1 จนกระทั่งถึงนาทีที่ 78 ทว่าเมื่อเหลืออีกแค่ 12 นาที ทุกอย่างก็พลิกไปอย่างรวดเร็ว วิคเตอร์ อิคเปบ้า ยิงให้ ไนจีเรีย ไล่มาเป็น 3-2 และหลังจากนั้นบราซิลก็รวนตั้งขบวนไม่ติด แต่ ไนจีเรีย กลับฮึกเหิมมาก เพราะประตูนี้ทำให้คำทำนายให้ห้องแต่งตัวเข้าใกล้ความจริงมากขึ้นแล้ว
พวกเขาตีเสมอได้จริง ๆ จากประตูของ เอ็นวานโก้ คานู ในนาที่ 90 ทำให้สกอร์กลับมาเท่ากันที่ 3-3 ทำให้ผู้เล่น บราซิล พากันแสดงหน้าตาที่บ่งบอกถึงความผิดหวังทั้ง ๆ ที่เกมยังไม่จบ ขณะที่ ไนจีเรีย นั้นตรงกันข้าม พวกเขารู้ดีว่าโชคชะตาอยู่ในมือพวกเขาแล้ว
แทนที่ ไนจีเรีย จะต้องรับและอุดเพื่อลุ้นดวลจุดโทษตามฉบับบอลรอง แต่พวกเขากลับเปิดเกมช่วงต่อเวลาด้วยความเร้าใจก่อนจะใช้เวลาแค่ 4 นาทีจบทุกอย่างลงอย่างรวดเร็ว เมื่อ คานู สังหารประตูชัย และทำให้ ไนจีเรีย ชนะไป 4-3 ทันที เพราะการแข่งขันครั้งนั้นเป็นการใช้กฎแบบโกลเดนโกล หรือ ถ้าใครยิงได้ในช่วงต่อเวลาพิเศษ ทีมนั้นจะเป็นผู้ชนะทันที
Photo : simag.com.ng
ภาพของ เอ็นวานโก้ คานู ถูกเพื่อนร่วมทีมแบกขึ้นไหล่ กลายเป็นภาพที่อยู่บนพาดหัวของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ และเกมนั้นทำให้ทุกคนรู้ว่า ไนจีเรีย ไม่ได้มาเล่น ๆ พวกเขามีศักยภาพพร้อมจะเป็นแชมป์ หลังจากผ่านทีมที่เก่งที่สุดในทัวร์นาเมนต์มาหมาด ๆ
เกมในนัดชิงชนะเลิศกับ อาร์เจนตินา เป็นอีกเกมที่ ไนจีเรีย แสดงถึงความเชื่อมั่นในตัวเองที่ทะยานถึงขีดสุด เพราถึงแม้พวกเขาจะโดน อาร์เจนตินา นำไป 2-1 เมื่อเข้าสู่ 30 นาทีสุดท้ายของเกม แต่ ไนจีเรีย ก็พลิกสถานการณ์กลับมาเป็นผู้ชนะได้โดยใช้เวลาแค่ 16 นาทีเท่านั้น จากประตูของ อาโมคาชี่ และ เอ็มมานูเอล อามูนิเก้ ที่ซัดประตูชัยในนาทีสุดท้ายของเกม
“ตอนที่อาร์เจนตินานำไปก่อน ผมบอกตามตรงนะว่าเรายังมั่นใจถึงขีดสุด ไม่เคยมีคำว่าท้อเกิดขึ้นเลย เราคิดว่าเราจะกลับมาได้ และ อามูนิเก้ ก็ทำให้เราเป็นผู้ชนะจริง ๆ … เมื่อ ปิแอร์ลุยจิ คอลลินา เป่าจบเกม ผมเข่าทรุดเลย เพราะมันคือความฝันที่เป็นจริง เหรียญทองนี้หมายถึงชีวิตที่เปลี่ยนไป อาชีพที่ดีขึ้น รวมถึงเงินในธนาคารของผมด้วย” เวสต์ กล่าว
ยุคทอง … ไม่แท้
หลังจากการคว้าเหรียญทองของ ไนจีเรีย ฟุตบอลของทวีปแอฟริกาก็ได้รับการนับหน้าถือตาจากชาติอื่น ๆ มากขึ้น พวกเขากำลังก้าวหน้าในภาพรวม
“ฟุตบอลแอฟริกันโดนมองว่างั้น ๆ ถึงดีก็ดีได้ไม่สุดทางและสู้ชาติในยุโรปไม่ได้ แต่ชัยชนะครั้งนั้นเปลี่ยนทุกอย่างไปเลย เราได้สิ่งที่พวกเราสมควรจะได้สักทีนั่นคือ ความเคารพ” วิคเตอร์ อิคเปบ้า กล่าว
แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น ทำไมชาติจากทวีปแอฟริกาจึงไม่สามารถต่อยอดความสำเร็จต่อจากไนจีเรียได้ แม้กระทั่งไนจีเรียเองที่ไม่เคยไปได้ไกลเท่ากับที่เคยทำได้ในทัวร์นาเมนต์โอลิมปิก 1996 เลย โดยเฉพาะเมื่อฟุตบอลโลกมาถึง ชาติจากแอฟริกามักจะท่าดีทีเหลว และตกรอบในตอนสำคัญ ๆ ทุกทีไป
สิ่งที่น่าเสียดายคือ ความสำเร็จครั้งนั้นมันเป็นเรื่องของภาพลวงตา เพราะมีการสืบสาวราวเรื่องกันและพบว่ามีการโกงอายุกันเกิดขึ้น พวกเขาบอกว่า เอ็นวานโก้ คานู อดีตดาวเตะชื่อดังของ อาร์เซนอล ถูกกล่าวหาว่ามีอายุจริง 52 ปี ไม่ใช่ 43 ปีตามที่ระบุไว้, เจย์ เจย์ โอโคชา อายุจริงมากกว่า 10 ปี จากที่ลงทะเบียน หรือ ตาริโบ เวสต์ ที่แก่กว่าอายุที่ระบุไว้ถึง 12 ปี แม้ไม่สามารถพิสูจน์ความจริงในกรณีที่กล่าวมาได้ แต่กับอีกหลายเคส ชัดเจนว่าการโกงอายุมีอยู่จริง
“เราใช้นักเตะอายุเกินเพื่อคว้าแชมป์ในรุ่นเยาวชน ผมรู้เรื่องนั้น” แอนโธนี โคโจ วิลเลียมส์ อดีตประธานสหพันธ์ฟุตบอลไนจีเรียให้สัมภาษณ์กับ BBC “ทำไมถึงพูดแบบนั้น เพราะมันคือความจริง เราโกงมาโดยตลอด มันคือความจริง เมื่อคุณโกง จะทำให้คุณพรากโอกาสของนักเตะดาวรุ่งที่ควรได้ลงเล่นในทัวร์นาเมนต์นี้อย่างถูกต้องไป”
ทุกอย่างตอบได้ด้วยสิ่งนี้ การโกงอายุของนักเตะไนจีเรียหรือแอฟริกันมีมานานตั้งแต่ช่วงปลายยุค 1980s และเรื่องนี้ยังคงก่อปัญหาเรื่อยมา ในปี 2013 พวกเขาต้องเสียนักเตะคนสำคัญหลายคนไป ในการแข่งขันฟุตบอลโลกรุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี หลังตรวจ MRI เพื่อดูค่ามวลกระดูกและหาอายุที่แท้จริงไม่ผ่าน ในขณะที่ปี 2018 พวกเขาก็ต้องส่งนักเตะจากชุด U17 จำนวนถึง 15 คนกลับบ้าน หลังพบว่าอายุเกิน ก่อนลงแข่ง แอฟริกัน เนชั่นส์ คัพ รุ่น U17 รอบคัดเลือกที่ไนเจอร์
การโกงอายุส่งผลมากกับการพัฒนาในระยะยาว เพราะถึงแม้ ไนจีเรีย จะสามารถคว้าแชมป์ในเกมระดับเยาวชน หรือการแข่งแบบจำกัดอายุเช่นในโอลิมปิกได้ ทว่าเมื่อพวกเขาต้องลงเล่นทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลกจริง ๆ เหล่านักเตะที่พวกเขามีก็ไม่แข็งแกร่งพอ ในขณะที่ชาติอื่นใช้นักเตะในช่วงพีคของอาชีพ แต่ ไนจีเรีย หรือ ชาติแอฟริกันที่โดนกล่าวหาว่าโกงอายุก็ใช้งานนักเตะที่เลยช่วงวัยที่แข็งแกร่งที่สุดไปแล้ว
สำหรับทีมไนจีเรียชุดดรีมทีม 1996 นั้น อาจจะเป็นกรณียกเว้นได้ เนื่องจากความเก่งกาจของพวกเขานั้นป็นที่ประจักษ์ในการแข่งขันระดับสูง เมื่อนักเตะอย่าง โอโคชา, คานู, บาบายาโร่ และ โอลิเซห์ ได้แสดงออกมาในการลงเล่นในระดับสโมสร ทว่าการสร้างความสำเร็จคือการส่งต่อนักเตะคุณภาพจากรุ่นสู่รุ่น และเมื่อคุณโกงอายุ มันก็ทำให้หลายสิ่งไม่เป็นไปตามแผนการที่วางไว้ เมื่อถึงเวลาของช่วงการส่งไม้ต่อจากยุคสู่ยุคจึงเกิดปัญหา ทีมไม่สามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง จนต้องเน้นสร้างทีมกันใหม่กันทั้งหมดแทนที่จะต่อยอดจากความสำเร็จเดิมได้
ปัญหาการโกงอายุ ยังคงอยู่กับวงการฟุตบอลแอฟริกัน น่าเสียดายที่ ไนจีเรีย อุตส่าห์นำความเคารพกลับมาได้แล้วจากการเป็นแชมป์โอลิมปิก 1996 ทว่าพวกเขาก็ยังไม่ได้เรียนรู้อะไรมากไปกว่าความสำเร็จ ภาพรวมของฟุตบอลในแอฟริกันยังดูสิ้นหวัง และเป็นมวยรองบ่อนไม่เปลี่ยนแปลง แม้เวลาจะผ่านมากว่า 25 ปีแล้วก็ตาม