ไทยดื้อยาดับ4หมื่นคน/ปี ปมใช้ยาปฏิชีวนะเกินจำเป็น เข้าใจผิดฆ่าโควิดได้

Home » ไทยดื้อยาดับ4หมื่นคน/ปี ปมใช้ยาปฏิชีวนะเกินจำเป็น เข้าใจผิดฆ่าโควิดได้


ไทยดื้อยาดับ4หมื่นคน/ปี ปมใช้ยาปฏิชีวนะเกินจำเป็น เข้าใจผิดฆ่าโควิดได้

ส.โรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย เผย คนไทย ดื้อยา เสียชีวิต 40,000 คนต่อปี เหตุใช้ยาปฏิชีวนะเกินจำเป็น ซ้ำ เข้าใจผิดฆ่าโควิดและเชื้อไวรัสได้

วันที่ 30 พ.ย.2564 ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 22-30 พ.ย. เป็นสัปดาห์สร้างความตระหนักรู้เรื่องยาต้านจุลชีพโลกของประเทศไทย โดยปี 2564 ประเทศไทยพบผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยา 2-4 หมื่นคนต่อปี เชื้อดื้อยาเกิดจากเชื้อพัฒนาตนเองเมื่อเจอยาปฏิชีวนะ สาเหตุเกิดจากการใช้ยามากเกินความจำเป็น ส่งผลให้ร่างกายไม่ได้ประโยชน์จากยา

ผศ.นพ.กำธร กล่าวต่อว่า หากดื้อยาไม่มาก ต้องเปลี่ยนยาที่มีราคาแพงขึ้นและใช้เวลารักษานานขึ้น อาการป่วยที่มีอาการน้อยก็จะมีอาการป่วยมากขึ้น อาจทำให้กลายเป็นผู้พิการหรือถึงขั้นเสียชีวิต การใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมคือ เมื่อติดเชื้อหายแล้วต้องหยุดยา บางอาการไม่ต้องใช้ยา เช่น ไข้หวัด อาการปวดบวมอักเสบ ท้องเสีย แผลสด ซึ่งหากร่างกายได้รับยาที่ไม่เหมาะสมหรือใช้ยาเกินขนาดจะทำให้เกิดอาการดื้อยาโดยไม่จำเป็น

ส.โรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย เผย คนไทย ดื้อยา เสียชีวิต 40,000 คนต่อปี เหตุใช้ยาปฏิชีวนะเกินจำเป็น

ส.โรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย เผย คนไทย ดื้อยา เสียชีวิต 40,000 คนต่อปี เหตุใช้ยาปฏิชีวนะเกินจำเป็น

ด้าน นายชาติวุฒิ วังวล ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัญหาเชื้อดื้อยาเป็นปัญหาระดับโลก หากไม่เร่งแก้ไขปัญหา คาดการณ์ว่าในปี 2593 ทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาถึง 10 ล้านคน ในจำนวนนี้อยู่ในเอเชียถึง 4.7 ล้านคน สสส. เห็นความสำคัญของปัญหาเชื้อดื้อยา จึงร่วมกับศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนากลไกเฝ้าระวังและจัดการความรู้ปัญหาเชื้อดื้อยา

นายชาติวุฒิ กล่าวต่อว่า ผลักดันให้ประชาชนตระหนักรู้ตั้งแต่ระดับชุมชนถึงระดับประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ดำเนินการตั้งแต่ปี 2556 โดยพัฒนาสื่อรณรงค์เรื่องเชื้อดื้อยา เผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อกระแสหลัก ทำให้ประชาชนเกิดการรับรู้และเข้าใจสูงถึง ร้อยละ 82

“ขณะนี้ สสส. และภาคีเครือข่าย อยู่ระหว่างเร่งดำเนินงานขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย โดยสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย ระยะที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 ให้แล้วเสร็จ เพื่อให้สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เน้นสร้างความร่วมมือกับภาควิชาการและภาคประชาสังคม ให้เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนเฝ้าระวังและควบคุมปัญหาเชื้อดื้อยา มุ่งเป้าสร้างสุขภาวะผ่านการใช้ยาที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น ลดวิกฤตสุขภาพของคนไทย” นายชาติวุฒิ กล่าว

ขณะที่ ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. กล่าวว่า การระบาดของโควิด 19 ทำให้พบการเป็นไข้หวัดน้อยลง เนื่องจากประชาชนมีสุขอนามัยที่ดี แต่ยังพบปัญหาเชื้อดื้อยา เนื่องจากประชาชนบางส่วนยังขาดความรู้ในการใช้ยาปฏิชีวนะที่ถูกต้อง เข้าใจผิดว่ายาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อไวรัส รวมถึงโควิดได้ มีการเข้าถึงยาปฏิชีวนะจากช่องทางที่ไม่ถูกต้องง่ายขึ้น

ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวต่อว่า ทั้งกระบวนการแจกจ่ายยาปฏิชีวนะของคนในชุมชน และร้านขายของชำที่ทำผิดกฎหมาย ลักลอบจำหน่ายยาปฏิชีวนะโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้การรณรงค์เรื่องอันตรายของเชื้อดื้อยาเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อน กพย. จึงร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย เร่งขยายความร่วมมือกับเครือข่ายภาควิชาการและประชาสังคม ร่วมกับ อย.จัดประชาพิจารณ์ร่างประเด็นในแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาจุลชีพประเทศไทย ระยะที่ 2

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ