ไทยชนะคดี "โฮปเวลล์" ไม่ต้องจ่ายค่าโง่ 2.4 หมื่นล้าน ปิดฉากมหากาพย์ 34 ปี

Home » ไทยชนะคดี "โฮปเวลล์" ไม่ต้องจ่ายค่าโง่ 2.4 หมื่นล้าน ปิดฉากมหากาพย์ 34 ปี
ไทยชนะคดี "โฮปเวลล์" ไม่ต้องจ่ายค่าโง่ 2.4 หมื่นล้าน ปิดฉากมหากาพย์ 34 ปี

“พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” โพสต์แจ้งข่าวไทยชนะคดี “โฮปเวลล์”  ปิดฉากมหากาพย์โครงการคมนาคม ยาวนาน 34 ปี

วันนี้ (18 ก.ย.) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเพจ  พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค – Pirapan Salirathavibhaga  แจ้งข่าว ไทยชนะคดี ที่โฮปเวลล์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ในการยกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นค่าใช้จ่ายจากการเข้ามาลงทุนเป็นเงิน 59,000 ล้านบาท โดยระบุว่า

ยินดีกับคนไทยเราชนะคดีโฮปเวลล์ครับ#ชนะคดีโฮปเวลล์ #สู้ให้ทุกปัญหาพึ่งพาได้ทุกเรื่อง

การแจ้งข่าวดังกล่าวมีขึ้น หลัง ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย จ่ายเงินจำนวน 24,000 ล้าน พร้อมดอกเบี้ย ให้กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด หลังมีการพิจารณาคดีใหม่ ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565

โดยศาลปกครองกลางเห็นว่าบริษัท โฮปเวลล์ ยื่นฟ้องคดีพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ พ้นกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

สำหรับกรณีการฟ้องร้อง โครงการโฮปเวลล์ มาจาก บริษัทโฮปเวลล์ เห็นว่าการที่ รฟท. เข้ามาใช้ประโยชน์จากโครงการก่อสร้างเดิม ถือเป็นการยึดหรือเวนคืนระบบหรือพื้นที่สัมปทาน จึงเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ เรียกค่าเสียหายจากการยกเลิกสัญญาจาก กระทรวงคมนาคม และ รฟท. เป็นเงิน 59,000 ล้านบาท

ย้อนรอย “โครงการโฮปเวลล์”

“โครงการโฮปเวลล์” เป็นโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยมีนายมนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น

แนวคิดก่อสร้างโครงการเริ่มต้นในปี 2532 โดยกระทรวงคมนาคม ประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเดือนตุลาคม ปรากฏว่ามีผู้ยื่นเอกสารข้อเสนอเพียงรายเดียว คือ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิงส์ (ฮ่องกง) สัญญาก่อสร้างทางรถไฟยกระดับระยะทางรวมทั้งสิ้น 63.3 กิโลเมตร

บริษัทโฮปเวลล์ ในฐานะคู่สัญญาฝ่ายเอกชน ได้รับสัมปทานในการประกอบกิจการเดินรถไฟบนรางยกระดับ ระบบขนส่งทางถนนยกระดับ และเก็บค่าผ่านทาง และสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 630 ไร่ มูลค่ารวมของโครงการ 80,000 ล้านบาท โดยมีอายุสัมปทาน 30 ปี กำหนดการก่อสร้างใน 5 ช่วงของเส้นทาง สิ้นสุดในปี 2542 ใช้เวลาทั้งหมด 8 ปี

โครงการโฮปเวลล์สิ้นสุดลง โดยผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมถึง 6 คน

  • นายมนตรี พงษ์พานิช รัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ (2532-2535) ริเริ่มโครงการในปี 2532
  • นายนุกูล ประจวบเหมาะ รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน (2534-2535) เป็นรัฐบาลที่เข้ามาภายหลังรัฐประหาร มีการสั่งการให้ตรวจสอบ และล้มโครงการ
  • พ.อ.วินัย สมพงษ์ รัฐบาลนายชวน หลีกภัย (2535-2538) โครงการได้รับการผลักดันต่อ
  • นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา (2538-2539)
  • นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐบาล พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ์ (2539-2540) เป็นช่วงที่โครงการโฮปเวลล์หยุดก่อสร้างโดยสิ้นเชิง ตามเอกสารคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ระบุว่า ในเดือน กรกฎาคม 2540
    งานก่อสร้างโครงการทั้งบริษัทโฮปเวลล์ และผู้รับเหมาช่วงหยุดชะงักแทบทั้งหมด รฟท. ขอทราบเหตุหยุดงาน แต่โฮปเวลลล์อ้างเหตุอุปสรรคของพื้นที่ก่อสร้าง ทำให้ในเดือนกันยายน กระทรวงคมนาคม นายสุวัจน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการในขณะนั้น ได้เสนอ ครม. ให้บอกเลิกสัมปทาน
  • นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐบาลนายชวน หลีกภัย สมัยที่สอง คณะรัฐมนตรีมีมติบอกเลิกสัญญาสัมปทานเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2540 โดยกระทรวงคมนาคม มีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญา และห้ามไม่ให้โฮปเวลล์ เข้าไปเกี่ยวข้องใด ๆ ในพื้นที่โครงการในวันที่ 27 มกราคม 2541

ค่าโง่ร่วม 24,000 ล้านบาท

บริษัทโฮปเวลล์ ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย หลังจากรัฐบาลเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญา ซึ่งทีดีอาร์ไอ ตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ว่า เป็นเพราะความหละหลวมของข้อสัญญา

หลังบอกเลิกสัญญา รฟท. ถือว่าโครงสร้างทุกอย่างเป็นกรรมสิทธิ์ และมีความพยายามนำโครงสร้างบางส่วนมาใช้ประโยชน์ ในการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต

แต่โฮปเวลล์ เห็นว่าการที่ รฟท. เข้ามาใช้ประโยชน์จากโครงการก่อสร้างเดิม ถือเป็นการยึด หรือเวนคืนระบบ หรือพื้นที่สัมปทาน จึงเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ เรียกค่าเสียหายจากการยกเลิกสัญญาจาก กระทรวงคมนาคม และ รฟท. เป็นเงิน 59,000 ล้านบาท

คณะอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยชี้ขาดในเดือนพฤศจิกายน 2551 ว่า ทั้ง 2 หน่วยงาน บอกเลิกสัญญาไม่เป็นไปตามขั้นตอน จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยไม่มีสิทธิ และให้จ่ายเงินชดเชยแก่โฮปเวลล์ เป็นเงิน 11,889 ล้านบาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย 7.5% หลังจากนั้นทั้งกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ก็ดำเนินการฟ้องต่อศาลปกครอง

ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ สืบเนื่องจากกระทรวงคมนาคม และรฟท. ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างว่า มีการรับฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด และมีพยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป

ผลของคำสั่งดังกล่าวทำให้รัฐต้องคืนเงินค่าตอบแทนที่บริษัทโฮปเวลล์ ชำระและใช้เงินในการก่อสร้างโครงการพร้อมดอกเบี้ยราว 24,000 ล้านบาทให้แก่บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จากการที่รัฐบอกยกเลิกสัญญา

อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมา กระทรวงคมนาคม ยังได้เดินหน้ายื่นเรื่อง เพื่อขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างถึงการนับระยะเวลา หรืออายุความในการยื่นข้อเรียกร้อง ของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ต่ออนุญาโตตุลาการในคดีนี้ และเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 ศาลศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่

ไทยชนะคดีโฮปเวลล์

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ศาลปกครองกลางนัดพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีที่มีคำขอพิจารณาคดีใหม่ คดีที่กระทรวงคมนาคม และ รฟท.ฟ้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการกรณีข้อพิพาทในคดีโฮปเวลล์

โดยตุลาการได้แถลงด้วยวาจามีความเห็นต่อคดีนี้ว่า คดีที่มีการขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้วิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประเด็นของการพิจารณาคดีขาดอายุความนั้น หากนับตั้งแต่วันที่ตั้งศาลปกครองในวันที่ 11 ตุลาคม 2542 จะต้องมีการยื่นคดีต่อศาลภายใน 1 ปี ครบกำหนดในวันที่ 11 ตุลาคม 2543 แต่กลับพบว่าทางโฮปเวลล์ได้ยื่นคดีนี้ต่อตุลาการในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 ล่าช้าถึง 4 ปี ทำให้สิทธิในการฟ้องคดีไม่เป็นผลตามกฎหมาย

ในการพิจารณาดังกล่าว ตุลาการมีความเห็นในการพิจารณาข้อพิพาทครั้งนี้ด้วยว่า

1.ควรเพิกถอนตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่พิจารณาไปก่อนหน้านี้

2.ยกเลิกคำร้องของผู้ร้องคดีทั้งสอง

และ 3.ให้คำสั่งศาลงดบังคับคดีที่เคยพิจารณาไปก่อนหน้านี้ โดยให้มีผลใช้ในช่วงระยะเวลาที่ยังมีการอุทธรณ์คดี หรือจนกว่าศาลจะมีคำตัดสิน

ความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าความพยายามรื้อฟื้นคดีข้อพิพาทโครงการโฮปเวลล์ของกระทรวงคมนาคมเพื่อให้เข้าสู่ขั้นตอนพิจารณาใหม่เป็นผลแล้ว โดยตุลาการเห็นด้วยกับประเด็นของอายุความที่อาจขัดต่อข้อกำหนด เพราะมีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า หากนับอายุความเมื่อศาลปกครองเปิดทำการ ที่กำหนดว่าคดีข้อพิพาทก่อนจัดตั้งศาลปกครองนั้น จะต้องยื่นมายังตุลาการภายใน 1 ปี หลังจัดตั้งศาล และมีอายุความไม่เกิน 10 ปี แต่กลับพบว่าคดีโฮปเวลล์นี้ได้มายื่นคำร้องต่อศาลล่าช้ากว่ากำหนด

ล่าสุด วันที่ 18 กันยายน 2566 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท.ชดใช้ค่าโง่โฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด หลังมีการพิจารณาคดีใหม่ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 โดยศาลปกครองกลางเห็นว่า โฮปเวลล์ยื่นฟ้องคดีพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการพ้นกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ