ไต้หวันปรับ2แสน ห้ามเนื้อหมูจากไทย ต่างชาติอดเข้าไต้หวัน หากไม่จ่ายค่าปรับ

Home » ไต้หวันปรับ2แสน ห้ามเนื้อหมูจากไทย ต่างชาติอดเข้าไต้หวัน หากไม่จ่ายค่าปรับ


ไต้หวันปรับ2แสน ห้ามเนื้อหมูจากไทย ต่างชาติอดเข้าไต้หวัน หากไม่จ่ายค่าปรับ

ไต้หวันปรับ2แสนบาท – วันที่ 11 ม.ค. ซีเอ็นเอ และ แอปเปิ้ลเดลี ไต้หวัน รายงานว่า ศูนย์รับมือภัยพิบัติส่วนกลางสำหรับโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ของไต้หวัน แจ้งข่าวที่กรมปศุสัตว์ของประเทศไทยประกาศการพบโรค ASF อย่างเป็นทางการในประเทศ หลังสุ่มเก็บตัวอย่าง 309 ตัวอย่าง และพบ 1 ตัวอย่างมีผลบวกโรค ASF จากโรงฆ่าสัตว์ในจังหวัดนครราชสีมา หลังจากนี้ จะแจ้งต่อองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) และประกาศให้พื้นที่พบโรค ASF เป็นเขตระบาด และจะดำเนินการควบคุมและกำจัดต่อไป

 

ส่งผลให้จำนวนประเทศในเอเชียที่มีการระบาดของโรค ASF เพิ่มเป็น 15 ชาติ ได้แก่ จีน มองโกเลีย เวียดนาม กัมพูชา เกาหลีเหนือ ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ติมอร์ตะวันออก อินโดนีเซีย อินเดีย มาเลเซีย ภูฏาณ และไทย เป็นประเทศล่าสุด ขณะที่การระบาดของโรค ASF ทั่วโลกในปัจจุบันยังรุนแรง นอกจากเอเชียแล้ว ในยุโรปเอง อิตาลีและมาซิโดเนียเหนือเพิ่งยืนยันการมีของโรค ASF และการระบาดของเชื้อดังกล่าวยังไม่มีท่าทีที่จะหยุด

ศูนย์รับมือภัยพิบัติส่วนกลางสำหรับโรค ASF ของไต้หวันระบุอีกว่า ต่อจากนี้ การนำผลิตภัณฑ์เนื้อหมูจากประเทศไทยเข้ามาไต้หวัน หากฝ่าฝืนเป็นครั้งแรกจะถูกปรับเป็นเงิน 200,000 ดอลลาร์ไต้หวันใหม่ (ราว 240,000 บาท) และหากฝ่าฝืนอีกเป็นครั้งที่สองจะถูกปรับ 1,000,000 ดอลลาร์ไต้หวันใหม่ (ราว 1,200,000 บาท) หากชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาไม่สามารถชำระค่าปรับได้ จะถูกปฏิเสธเข้าไต้หวันและถูกส่งกลับประเทศทันที

 

รายงานระบุว่า ไต้หวันจัดให้ประเทศในอาเซียน รวมถึงไทย อยู่ในประเทศกลุ่มเสี่ยงต่อ ASF อย่างเร็วสุดมาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว โดยใช้เครื่องเอ็กซเรย์กระเป๋าเดินทางของผู้โดยสารเข้า และพัสดุไปรษณีย์ และมาตรการควบคุมต่างๆ ที่เข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ศุลกากรและสำนักป้องกันและตรวจสอบการระบาดของไต้หวันตรวจพบกรดนิวคลีอิกของโรค ASF ในกุนเชียงหมูในพัสดุไปรษณีย์ที่ส่งมาจากประเทศไทย 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2564, 27 ธ.ค. 2564 และ 3 ม.ค. 2565 และแจ้งเจ้าหน้าที่ผู้อำนาจของไทยเพื่อเสริมสร้างเฝ้าระวัง และยังให้ความสนใจต่อสถานการณ์การระบาดของโรค ASF จากประเทศไทย

 

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจพบโรค ASF ในกุนเชียงหมูในพัสดุไปรษณีย์จากประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2564 ไต้หวันแจ้งรัฐบาลไทยไปแล้ว แต่ประเทศไทยแจ้งว่า โรงงานผลิตกุนเชียงดังกล่าวใช้เนื้อหมูนำเข้าจากต่างประเทศ และว่าไม่มีการระบาดของโรค ASF ในประเทศไทย และยังไม่รายงานการระบาดต่อ OIE

ต่อมา หลังไต้หวันตรวจพบโรค ASF ในพัสดุไปรษณีย์จากประเทศไทยอีกเป็นครั้งที่สองเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2564 ประเทศไทยจึงประกาศผลการตรวจพบโรค ASF จากการสุ่มตัวอย่างในวันนี้

 

รายงานระบุอีกว่า ศูนย์รับมือภัยพิบัติส่วนกลางสำหรับโรค ASF ของไต้หวัน ตรวจพบโรค ASF เป็นครั้งแรกก่อนหน้านั้นอีก คือ วันที่ 22 ก.ย. 2564 จากขนมไหว้พระจันทร์ที่ผู้โดยสารนำเข้ามาไต้หวัน แต่เนื่องจากไม่มีบรรจุภัณฑ์ จึงไม่สามารถยืนยันได้ว่า เป็นผลิตภัณฑ์จากประเทศไทยหรือไม่

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ