ได้แค่ผ่าทำฟืน! พายุถล่มสวนทุเรียน เสียหายกว่า 180 ต้น รออีก 4 ปีกว่าจะให้ผลผลิต

Home » ได้แค่ผ่าทำฟืน! พายุถล่มสวนทุเรียน เสียหายกว่า 180 ต้น รออีก 4 ปีกว่าจะให้ผลผลิต


ได้แค่ผ่าทำฟืน! พายุถล่มสวนทุเรียน เสียหายกว่า 180 ต้น รออีก 4 ปีกว่าจะให้ผลผลิต

พายุถล่มสวนทุเรียนตราดกลางดึก หักโค่นกว่า 180 ต้น เสียหายหลายล้าน ชาวสวนระทม ต้องรออีก 4 ปี กว่าจะให้ผลผลิต ต้นที่หักได้แค่เอาไปทำฟืน

เมื่อวันที่ 9 ก.ค.65 ที่บ้านหมู่ 5 ตำบลห้วงน้ำขาว นายวิวัฒน์ แดงตะนุ เจ้าของสวนทุเรียน พาผู้สื่อข่าวไปถ่ายภาพความเสียหายของสวนทุเรียน หลังจากในช่วงกลางดึกวันที่ 7 ก.ค.65 มีพายุพัดผ่านมาในสวนทุเรียน แล้วทำให้ต้นทุเรียนทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กโค่นไป 40 ต้น ซึ่งมีแรงงานกัมพูชากำลังตัดต้นทุเรียนและกิ่งไปเผาทำลาย เพื่อทำการปลูกใหม่ ขณะที่สวนทุเรียนที่อยู่ใกล้เคียงอีก 4 สวน ก็ได้รับความเสียหายไปด้วย โดยมีต้นทุเรียนเสียหายจำนวนรวมกว่า 200 ต้น

นายวิวัฒน์ กล่าวว่า มีพายุฝนลมแรงมาตั้งแต่เวลา 22.00 น.ของเมื่อคืนนี้และช่วงเช้าออกมาตรวจสอบความเสียหายพบว่า มีทุเรียนกว่า 40 ต้น ที่เป็นต้นทุเรียนขนาดใหญ่ และทุเรียนสาว 10 ต้น โค่นและหัก ซึ่งแต่ละต้นจะมีผลผลิตทุเรียนประมาณ 100 ลูก หรือรวม 2,000 ลูก หากคิดเป็นมูลค่าทุเรียนที่จะขายได้ในปีหน้าจะเสียหายราว 4-5 ล้านบาท ซึ่งต้นทุเรียนทั้งหมด ทำได้แค่การตัดต้นนำไปทำฟืนเท่านั้น และสุดท้ายก็จะปลูกใหม่ ซึ่งต้องรออีก 4 ปี จึงจะมีผลผลิตให้

ส่วนที่บ้าน นายสมเกียรติ ทศนิยม เจ้าของสวนทุเรียนอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า ลมพายุลมแรงและมีฝนตกพัดมาทำให้หลังคาได้รับความเสียหายกระเบื้องกว่า 100 แผ่นหลุด และเครื่องใช้ไฟฟ้าพัง รวมทั้งนอนไม่ได้ ส่วนทุเรียนโค่นไปกว่า 20 กว่าต้น เสียหายนับล้านบาท และยังมีของเพื่อนบ้านอีก 2-3 สวน มีทุเรียนโค่นอีก เสียหายมากกว่าของตนอีก

ซึ่งอีก 2 สวนเป็นของ นางจารุวรรณ หงษ์สมุทร ที่ต้นทุเรียนขนาดใหญ่โค่นไป 30 ต้น และยอดหักอีก 5 ต้น นางจารุวรรณ กล่าวว่า ต้นทุเรียนที่หักโค่นแต่ละต้นออกผลต้นละ 100 ลูก ทำรายได้ 3-5 หมื่น/ต้น ซึ่งรวมแล้วเสียหายไปนับล้านบาท

อีกสวนหนึ่งคือ ของนางหมก สินสมุทร จำนวน 35 ต้น ส่วนใหญ่จะเป็นต้นทุเรียนขนาดใหญ่และได้รับความเสียหายทั้งต้น รวมทั้งมีต้นกล้วยอีกจำนวนหนึ่งด้วย

สรุปสวนทุเรียนที่ได้รับความเสียหายมีจำนวน 5 สวน ซึ่งนางเหม้า แดงตะนุ สมาชิกอบต.ห้วงน้ำขาว สรุปความเสียหาย เพื่อส่งให้ อบต.ห้วงน้ำขาว ทำรายงานส่งให้เกษตรจ.ตราดช่วยเหลือ และชดเชยความเสียหาย ประกอบด้วย สวนของนายวิวัฒน์ หงษ์ตะนุ 48 ต้น, นายเขตรัตน์ 40 ต้น นางหมก 35 ต้น นางรัตนาภรณ์ แสงสกุล 28 ต้น สวนใกล้เคียงอีก 3 สวน รวมจำนวน 35 -40 ต้น รวมความเสียหายกว่า 180 ต้น

ล่าสุดในเวลา 15.00 น. เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองตราด ลงพื้นที่เพื่อสำรวจความเสียหาย และจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรที่ลงทะเบียนในบัตรสีเขียว ส่วนกรณีที่ไม่มีจะไม่สามารถช่วยเหลือได้

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ