ไข้หวัดใหญ่ มีอาการอย่างไร วิธีการรักษา พร้อมวิธีป้องกัน

Home » ไข้หวัดใหญ่ มีอาการอย่างไร วิธีการรักษา พร้อมวิธีป้องกัน
ไข้หวัดใหญ่ มีอาการอย่างไร วิธีการรักษา พร้อมวิธีป้องกัน

เมื่อไรก็ตามที่สภาพอากาศเริ่มเปลี่ยน ช่วงนั้นแหละที่จะเริ่มมีโรคระบาดตามมา เพราะนอกจากจะได้เวลาของเชื้อไวรัสที่พร้อมจะเจริญเติบโตอีกครั้งแล้ว ร่างกายของเราก็รีบปรับตัวให้คุ้นชินกับสภาพอากาศใหม่อีกด้วย ใครที่ร่างกายปรับตัวไม่ทัน ไม่แข็งแรงพอ ก็โดนไวรัสเล่นงานกันไป

แถมไวรัสยังร้ายกาจ ถึงขั้นทำให้เราเป็นไข้หวัดใหญ่กันง่ายขึ้น อาการหนักขึ้น และต้องใช้ยาที่แรงขึ้นไปด้วย แถมยังมีหลากหลายสายพันธุ์ให้เรางงกันอีกต่างหาก จะมีสายพันธุ์อะไรบ้าง และมีวิธีรักษา และป้องกันอย่างไร 

ไข้หวัดใหญ่ คืออะไร

ไข้หวัดใหญ่เป็นอาการที่ร่างกายติดเชื้อไวรัส influenza ที่ระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน โดยจะมีอาการไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว และอ่อนเพลีย

อาการของไข้หวัดใหญ่

สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ เมื่อมีอาการแล้วมักจะเกิดขึ้นโดยทันทีด้วยลักษณะมีไข้สูง 38 – 41 องศาเซลเซียส มีความรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะที่บริเวณต้นแขน กระเบนเหน็บ ต้นขา จากนั้นก็มีจะอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตาเวลาที่เคลื่อนไหว เมื่อต้องเผชิญกับแสงจะมีน้ำตาไหลออกมา จากนั้นจะรู้สึกอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ขมในคอ อีกทั้งยังมีอาการเจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอแห้งๆ จุกแน่นท้อง คลื่นไส้ อยากจะอาเจียน แต่ในบางรายก็อาจไม่มีอาการคัดจมูก หรือเป็นหวัดเลยก็ได้

นอกจากนั้นก็ยังมีอาการอื่นๆ แสดงให้เห็นดังนี้

  • ในรายที่เป็นไข้หวัดใหญ่อย่างรุนแรงก็อาจมีอาการของภาวะแทรกซ้อนเข้ามา เช่น มีน้ำมูก หรือเสมหะข้น เหลือง หรือเขียว ปวดหู หูอื้อ หายในเหนื่อยหอบ หายใจมีเสียงหวีด ไอรุนแรง รู้สึกหนาวสั่น ซึม มึน งง และ/หรือหัวใจล้มเหลว
  • อาการที่มาจากการเป็นไข้หวัดใหญ่นั้นจะแสดงอาการอยู่ประมาณ 1 – 7 วัน ที่พบได้บ่อยมากที่สุด คือ 3 – 5 วัน ส่วนอาการไอ รู้สึกอ่อนเพลียก็อาจจะเป็นอยู่ประมาณ 1 – 4 สัปดาห์ ถึงแม้ว่าอาการอื่นๆ จะทุเลาลงแล้วก็ตาม
  • ในผู้ป่วยบางรายเมื่อหายจากไข้หวัดใหญ่แล้วอาจมีอาการบ้านหมุน เนื่องมาจากการอักเสบของอวัยวะการทรงตัวภายในหูชั้นใน

อาการของไข้หวัดใหญ่ แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาอย่างไร

โดยทั่วไปลักษณะอาการค่อนข้างคล้ายไข้หวัดธรรมดา เพียงแต่อาจมีอาการหนักกว่า และยาวนานกว่า เช่น ไข้สูง และนานกว่า ปวดเมื่อยตามตัวมากกว่า อ่อนเพลียมากกว่า และมักเป็นแบบทันทีทันใด ไม่ใช่อาการค่อยเป็นค่อยไปทีละอย่างเหมือนไข้หวัดธรรมดา

ไข้หวัดใหญ่อาจมีอาการนานถึง 6-10 วัน ในขณะที่ไข้หวัดธรรมดาอาจมีอาการเพียงไม่กี่วันเท่านั้น นอกจากนี้ไข้หวัดใหญ่ยังเสี่ยงจะมีภาวะแทรกซ้อนมากกว่า จึงทำให้บางครั้งผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่อาจต้องนอนโรงพยาบาล เพื่อคอยดูอาการ ป้องกันอาการแทรกซ้อน และการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

สาเหตุของไข้หวัดใหญ่

สาเหตุของการเกิดไข้หวัดใหญ่ก็เป็นเพราะ เชื้อไข้หวัดใหญ่ ยังไงล่ะ อ่านไม่ผิด ! นั่นเป็นชื่อที่เราเรียกกันอย่างลำลอง โดยเจ้าเชื้อไข้หวัดใหญ่นี้เป็นไวรัสที่มีชื่อว่า อินฟลูเอนซา (Influenza Virus) ที่มีอยู่ในน้ำลาย น้ำมูก และเสมหะของผู้ป่วย ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มไวรัสที่เรียกว่า Orthomyxovirus 

สายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่

เท่าที่เราทราบกันอยู่ คือ ไข้หวัดใหญ่มีหลายสายพันธุ์ สามารถแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ใหญ่ๆ ได้แก่

  1. ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A
  2. ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B

สายพันธุ์ C มีความรุนแรงน้อย และไม่ทำให้เกิดการระบาด จึงไม่นับรวมอยู่ในกลุ่มของไข้หวัดใหญ่

แต่สำหรับ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A นั้น สามารถแบ่งแยกออกมาย่อยๆ ได้อีกมากมาย ตามที่เราเห็นกันในข่าว เช่น A(H1N1), A(H1N2), A(H3N2), A(H5N1) และ A(H9N2) ตามความแตกต่างของโปรตีนของไวรัสที่เรียกว่า hemagglutinin (H) และ neuraminidase (N) ที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดใหญ่นั้นๆ นั่นเอง

สายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จนเป็นสาเหตุให้มีคนเสียชีวิต คือ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ชนิด H1N1 และ H5N1 เป็นต้น

ใครที่มีความเสี่ยงในการเป็นไข้หวัดใหญ่บ้าง

ไม่ว่าจะเป็นเพศใด อายุเท่าไร ก็สามารถเสี่ยงเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ หากภูมิคุ้มกันร่างกายไม่ดีพอ แต่คนที่มีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่น คือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอดเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ เบาหวาน และกลุ่มผู้สูงอายุ

ไข้หวัดใหญ่ ติดต่อกันได้อย่างไร

ติดต่อกันจากการรับเชื้อไวรัสผ่านอาการไอ จาม พูด ลมหายใจ ของผู้ที่ติดเชื้อ รวมไปถึงน้ำลายจากการใช้ช้อน แก้ว เดียวกัน หรือแม้กระทั่งสัมผัสข้าวของที่ผู้ป่วยสัมผัส หลังจากใช้มือป้องปากเวลาจามหรือไอด้วย

โดยปกติแล้วเชื้อไข้หวัดใหญ่นั้นจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย การติดต่ออาจเกิดจากการสูดหายใจเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอ หรือจามรด หรืออาจติดต่อโดยการสัมผัส ซึ่งเชื้อนั้นก็อาจติดอยู่ที่มือของผู้ป่วย  สิ่งของเครื่องใช้ อาทิ แก้วน้ำ จาน ชาม ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว หนังสือ หรือโทรศัพท์ นอกจากนั้นการติดต่อก็ขึ้นอยู่ที่สิ่งแวดล้อม โดยคนปกติเมื่อมาสัมผัสถูกมือของผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ หรือสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนเชื้อ เชื้อก็จะติดมากับมือของคนๆ นั้นได้ง่าย เมื่อใช้มือขยี้ตา หรือแคะจมูก เชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกายจนทำให้เป็นโรคไข้หวัดใหญ่ได้

นอกจากนี้ เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ก็ยังสามารถแพร่กระจายผ่านทางอากาศได้ด้วย ซึ่งเชื้อนั้นจะติดอยู่ในละอองฝอยๆ เมื่อผู้ป่วยไอ หรือจาม เชื้อก็จะแพร่กระจายออกไปในระยะไกลและแขวนลอยอยู่ในอากาศได้เป็นเวลานานๆ จากนั้น เมื่อคนปกติมาสูดเอาอากาศที่มีฝอยละอองนี้เข้าไป หรือละอองเหล่านี้ได้ไปสัมผัสเข้ากับเยื่อตา หรือเยื่อเมือในช่องปาก โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องไอ หรือจามรดกันโดยตรง ก็สามารถทำให้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมโรคไขหวัดใหญ่จึงสามารถแพร่ระบาดออกไปได้อย่างรวดเร็ว มีระยะที่เชื้อจะแพร่ไปได้มากที่สุดภายใน 1 สัปดาห์แรกของการเจ็บป่วย

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากไข้หวัดใหญ่

สาเหตุของอาการแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคไข้หวัดใหญ่นั้นมีอยู่หลายปัจจัย แต่ที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด คือ สภาพร่างกายที่แตกต่างกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะพัฒนาไปเป็นโรคต่างๆ ได้ตามสภาพ โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนและง่ายต่อการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่นได้ คือ เด็กแรกเกิด , ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป , ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ , ผู้ที่อยู่ในระหว่างกำลังรักษาตัวมาเป็นเวลานาน ไปจนถึงผู้ที่คอยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ

สำหรับในผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เมื่อป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ก็เสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนในขณะที่ป่วยได้ ทั้งยังมีความเสี่ยงสูงที่ไวรัสไข้หวัดใหญ่จะเข้าไปกระตุ้นให้อาการของโรคเดิมที่เป็นอยู่เป็นหนักขึ้น อาทิ โรคภูมิแพ้ , โรคเบาหวาน , โรคที่เกี่ยวกับปอดและหัวใจ , โรคทางกล้ามเนื้อประสาท เป็นต้น

อาการของโรคแทรกซ้อนที่พบในผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่

  • หายใจเร็ว
  • มีปัญหาในการหายใจ
  • หายใจเป็นช่วงสั้นๆ
  • ไม่รู้ตัว
  • เรียกไม่ตื่น
  • ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนอง
  • เจ็บปวด หรือแน่นหน้าอกและช่วงท้อง
  • เวียนหัวเฉียบพลัน
  • ครั่นเนื้อครั่นตัว
  • อาเจียนบ่อย
  • เมื่ออาการจากไข้หวัดทุเลาลง แต่ก็จะกลับมาเป็นอีกครั้งได้ง่าย

ในผู้ป่วยที่เป็นเด็ก ผู้ปกครองจะต้องคอยสังเกตและเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษ อาทิ ดื่มน้ำน้อย , กินอาหารไม่ได้ , ผิวเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ , มีไข้ร่วมกับผดผื่นคัน , มีอาการแพ้ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เป็นต้น

โรคแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในขณะที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ การติดเชื้อในอวัยวะต่างๆ อาทิ การติดเชื้อในหูและไซนัส , ปอดบวม , หลอดลมอักเสบ , กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ , ปอดอักเสบ , หัวใจวาย นอกจากนั้นก็ยังมีโรคแทรกซ้อนบางโรคที่พบได้เพิ่มเติม แต่ยังพบได้น้อย อาทิ หูชั้นกลางอักเสบ , ต่อมทอมซิลอักเสบ , เยื้อหุ้มสมองอักเสบ , ไซนัสอักเสบ , ไข้ชัก และโรคสมองอักเสบ เป็นต้น

การรักษาไข้หวัดใหญ่

หลายคนอาจจะเคยทราบกันมาบ้างว่า ไข้หวัด เป็นโรคที่ไม่มียารักษาโดยตรง ทำได้แต่เพียงรักษาตามอาการที่มีเท่านั้น เช่น มีไข้ก็ให้ยาลดไข้ เจ็บคอก็ให้ยาแก้เจ็บคอ เป็นต้น

ในกรณีของไข้หวัดใหญ่ก็เช่นกัน แพทย์จะรักษาตามอาการ พร้อมกับติดตามอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการรุนแรง แพทย์จึงค่อยพิจารณาการใช้ยาที่กดการเพิ่มจำนวนของไวรัส คือ Amantadine หรือ Rimantadine

วิธีป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

  1. สามารถรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ที่โรงพยาบาลทั่วไป
  2. รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ
  3. หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่สักระยะ เพื่อป้องการการระบาด และแพร่กระจายของเชื้อไวรัสจากคนหนึ่ง ไปยังอีกคนหนึ่ง
  4. ล้างมือให้สะอาด ก่อนทานอาหาร หรือหยิบจับอาหารขึ้นมาทาน
  5. ผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ ควรสวมหน้ากากอนามัย หรือเมื่อจามหรือไอ ควรใช้กระดาษทิชชู่ปิดปาก แล้วขยำทิ้งลงถังขยะ และควรหยุดเรียน หยุดงาน เพื่อรักษาตัวให้หายโดยเร็ว และไม่เป็นการแพร่กระจายเชื้อไวรัสให้คนอื่น

เท่านี้ ไข้หวัดใหญ่ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไปนะคะ อย่างไรก็ตามก็อย่านิ่งนอนใจ ใครที่คิดว่าอาจเสี่ยงต่อการเป็นไข้หวัดใหญ่ สามารถขอรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านค่ะ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ