ภายหลังจากมีราชกิจนุเบกษา ประกาศแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี เป็น องคมนตรีคนใหม่ ทำให้ ปัจจุบัน มีคณะองคมนตรี ที่มีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวง ที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ รวมทั้งสิ้น 19 คน เป็นตามจำนวนที่กำหนดไว้ ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 มาตรา 10
ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและทรงแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่ง และองคมนตรีอื่นอีกไม่เกินสิบแปดคน ประกอบเป็นคณะองคมนตรี และมาตรา 12 ระบุว่าองคมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือดํารงตําแหน่ง ทางการเมืองอื่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่อื่น ของรัฐหรือสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง หรือข้าราชการ เว้นแต่การเป็นข้าราชการในพระองค์ในตําแหน่งองคมนตรี และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใดๆ
โดยก่อนเข้ารับหน้าที่ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ และพ้นจากตำแหน่งเมื่อตาย หรือมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งคณะองคมนตรีทั้งหมด ประกอบด้วย พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี,นายเกษม วัฒนชัย,นายพลากร สุวรรณรัฐ,นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ,นายศุภชัย ภู่งาม,พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข,พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ,พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา,นายจรัลธาดา กรรณสูต,พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์,พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ,นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา,นายอำพน กิตติอำพน,พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท,พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง,นายนุรักษ์ มาประณีต,นายเกษม จันทร์แก้ว, พลเอก บัณฑิตย์ มลายอริศูนย์ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
สำหรับตำแหน่งองคมนตรีนั้น เริ่มมีขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนนั้นเรียกว่า “ปรีวีเคาน์ซิล” หรือ ที่ปรึกษาในพระองค์ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น องคมนตรีสภา ส่วนคำว่า “องคมนตรี” เริ่มใช้ตั้งแต่เมื่อใดนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่ก็ยึดจากนรายงานการประชุมเสนาบดีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ร.ศ.111หรือ พ.ศ.2435 และในประกาศการพระราชพิธีศรีสัจปานกาล พระราชทานพระไชยวัฒน์องค์เล็กแลเครื่องราชอิศริยาภรณ์แลตั้งองคมนตรี เมื่อ ร.ศ.111 ปรากฏว่ามีการใช้คำว่า “องคมนตรี” แล้ว
และจะเห็นได้ว่า ในบรรดารายชื่อองคมนตรีชุดปัจจุบัน ทั้ง 19 คน อย่างน้อย มี 2 คน เคยเป็นนายกรัฐมนตรี รับเงินเดือนในตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของประเทศมาแล้วที่ 125,590 บาท/เดือน แบ่งเป็นเงินเดือน 75,590 บาท และเงินประจำตำแหน่งอีก 50,000 บาท แล้วเมื่อมาเป็นองคมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความพิเศษ เงินเดือนจะน้อยกว่าหรือมากกว่า เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเชื่อว่าหลายคนคงสงสัย
ซึ่งจากข้อมูลพระราชกฤษฎีกา เงินประจำตำแหน่งขององคมนตรีและรัฐบุรุษ พ.ศ.2551 มาตรา 4 ที่ระบุว่า ให้ประธานองคมนตรี ได้รับเงินประจำตำแหน่งเป็นรายเดือนเดือนละ 121,990 บาท และให้องคมนตรีอื่น ได้รับเงินประจำตำแหน่งเป็นรายเดือน เดือนละ 112,250 บาท นอกจากนี้ มาตราที่ 5 ระบุว่า ให้ผู้ซึ่งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องไว้ในฐานะรัฐบุรุษได้รับเงินประจำตำแหน่งเป็นรายเดือน เดือนละ 121,990 บาท ด้วย ดังนั้นจึงได้คำตอบว่า องคมนตรีนั้นมีเงินเดือนน้อยกว่านายกรัฐมนตรี