ไขรหัสความสำเร็จ "รักบี้ญี่ปุ่น" ทำอย่างไรจึงเป็นชาติที่มีนักกีฬามากอันดับ 8 ของโลก?

Home » ไขรหัสความสำเร็จ "รักบี้ญี่ปุ่น" ทำอย่างไรจึงเป็นชาติที่มีนักกีฬามากอันดับ 8 ของโลก?
ไขรหัสความสำเร็จ "รักบี้ญี่ปุ่น" ทำอย่างไรจึงเป็นชาติที่มีนักกีฬามากอันดับ 8 ของโลก?

มองจากภายนอก คำว่า “รักบี้” กับ “ญี่ปุ่น” ดูจะเป็นสองสิ่งที่อยู่ห่างไกล เมื่อกีฬาจากตะวันตกชนิดนี้ ดูจะไม่เข้ากับชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นชาติที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมชาติหนึ่งของโลก

อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริง มันกลับสามารถปักธงลงในแผนที่ญี่ปุ่น จนทำให้พวกเขามีนักรักบี้มากที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลก แถม “เบรฟ บลอสซัม” ทีมชาติของพวกเขา ก็รั้งอยู่ในอันดับ 10 ในการจัดอันดับรักบี้โลก 

พวกเขาทำได้อย่างไร ติดตามได้ที่นี่

สิ่งที่มาหลัง “เรือดำ” 

อันที่จริงจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่างรักบี้และญี่ปุ่น ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงปลายสมัยเอโดะ (1603-1868) เมื่อการมาถึงของ “เรือดำ” ที่นำโดยพลเรือจัตวา แม็ตธิว เพอร์รี ของสหรัฐอเมริกา ได้บีบให้นโยบายปิดประเทศของญี่ปุ่นที่ยาวนานเกือบ 200 ปีต้องยุติลง 

การเปิดประเทศ ทำให้มีชาวตะวันตกจำนวนมาก โดยเฉพาะทหารเรือที่เข้ามาคุ้มครองคนของพวกเขา หลั่งไหลเข้ามาประจำการในญี่ปุ่น และพวกเขาไม่ได้มามือเปล่า แต่ยังได้นำวัฒนธรรมของตัวเองเข้ามาด้วย ซึ่งรักบี้ ก็เป็นหนึ่งในนั้น

1

จากรายงานของ Japan Times ระบุว่าการเล่นรักบี้บนผืนแผ่นดินญี่ปุ่นครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1863 โดยเป็นการแข่งขันระหว่างเหล่าทหารเรือชาวอังกฤษ และเล่นครั้งแรกในฝั่งคันไซ (ตะวันตกของญี่ปุ่น) ที่โอซากาในปี 1868 โดยเป็นการแข่งขันระหว่างชาวอังกฤษและสก็อตแลนด์

แต่นั่นเป็นแค่การเล่นในหมู่ชาวตะวันตกเท่านั้น เพราะกว่าที่รักบี้จะเปิดโอกาสให้คนท้องถิ่นได้เข้าร่วมต้องข้ามเวลามาถึงปี 1899 เมื่อ ศาสตราจารย์ เอ็ดเวิร์ด เบรมเวล คาร์ก และ จินโนะซุเกะ ทานากะ คือคนที่แนะนำกีฬาชนิดนี้ให้คนญี่ปุ่นได้รู้จักอย่างจริงจัง 

พวกเขาที่ตอนนั้นเป็นบัณฑิตจบใหม่จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ได้ก่อตั้งชมรมรักบี้ในมหาวิทยาลัยเคโอ ด้วยเป้าหมายที่จะทำให้กีฬานี้เป็นที่รู้จัก ไปพร้อมกับให้นักศึกษาได้มีกิจกรรมทำในช่วงเวลาว่าง 

“เพื่อไม่ให้พวกเขาอยู่เฉย ๆ อย่างเกียจคร้าน และใช้เวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ในช่วงใบไม้ร่วงที่เย็นสบาย” คาร์ก ระบุเหตุผล 

ก่อนที่มันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รักบี้ เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย และมีการเล่นกีฬาชนิดนี้ในสถาบันชั้นนำของประเทศ ทั้งระดับมัธยมและมหาวิทยาลัย จนสามารถมีการแข่งขันรักบี้มัธยมปลายชิงแชมป์ญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกใน 1917 

จากนั้น รักบี้ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในแดนอาทิตย์อุทัย โดยภายในทศวรรษที่ 1920s พวกเขามีทีมรักบี้มากถึง 1,500 ทีม และมีนักกีฬาที่ลงทะเบียนมากถึง 60,000 คน ก่อนที่ในปี 1926 พวกเขาจะก่อตั้งสมาคมรักบี้ญี่ปุ่นขึ้นมาได้สำเร็จ ซึ่งถือเป็นชาติแรกในเอเชีย  

2

แต่กีฬาชนิดนี้ ก็เกือบจะสูญพันธ์ไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังรัฐบาลทหารฟาสซิสต์ มองว่ารักบี้ คือกีฬาของชาวตะวันตก จนทำให้รักบี้ ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น “โทะคิว” (闘球) ที่แปลว่าการต่อสู้เพื่อแย่งบอล และเอาตัวรอดมาได้

อย่างไรก็ดี กีฬาที่เกือบจะตายไปแล้ว กลับฟื้นคืนชีพอย่างไม่น่าเชื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ระบบบริษัทเกื้อหนุน 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลกระทบต่อญี่ปุ่นอย่างหนัก เมื่อมันทำให้ผู้คนในประเทศบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงระบบสาธารณูปโภค ที่ถูกทำลายไปจากระเบิดในสงคราม

ทว่า หลังสงครามยุติ รักบี้กลายเป็นกีฬาที่ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว แถมยิ่งได้รับความนิยมกว่าเก่า ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1950 โดยเฉพาะในหมู่พนักงานบริษัท โดยมีบริษัท โกเบ สตีล เป็นเหตุผลสำคัญ 

พวกเขาคือบริษัทแรกที่สนับสนุนให้พนักงานเล่นกีฬาชนิดนี้มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 1945 ด้วยความหวังว่ามันจะช่วยฟื้นฟูจิตใจที่บอบช้ำของพนักงาน ที่ได้รับผลกระทบมาจากการเป็นผู้แพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 

3

ก่อนที่พวกเขาจะกลายเป็นต้นแบบ เมื่อมันทำให้เหล่าบริษัทอุตสาหกรรม หันสนใจในกีฬาชนิดนี้มากขึ้น และก่อตั้งสโมสรรักบี้ขององค์กรตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น พานาโซนิค ไวลด์ ไนท์, ริโก แบล็คแรม, โตชิบา เบรฟ ลูปัส หรือ ฮอนด้า ฮาร์ท 

นอกจากนี้ เศรษฐกิจที่เฟื่องฟูของญี่ปุ่นหลังสงครามโลก ยังมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้วงการรักบี้ญี่ปุ่น เติบโตอย่างต่อเนื่อง เมื่อมันทำให้บริษัทมีเม็ดเงินเหลือเฟือมาลงทุนกับทีมของพวกเขา

“การพัฒนาทีมรักบี้ที่เป็นขององค์กร มีบริษัทอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเป็นหัวหอกสำคัญ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า โทรศัพท์มือถือและเครื่องใช้ไฟฟ้า” ดร. เฮเลน แม็คนอตัน ประธานศูนย์วิจัยญี่ปุ่น แห่งวิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา มหาวิทยาลัยลอนดอน กล่าวกับ The New European 

“มันเป็นภาพสะท้อนของพลังภาคการผลิต ในเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และการจ้างงานที่ถูกยึดครองโดยผู้ชาย” 

ในขณะเดียวกัน ความนิยมของรักบี้ ที่เฟื่องฟูอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ 1960 ยังทำให้บริษัทต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับทีมรักบี้ของพวกเขามากขึ้น ด้วยการดึงตัวนักรักบี้ฝีมือดีจากมหาวิทยาลัยเข้าสู่ทีม โดยจ้างเป็นพนักงานบริษัท แต่จะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการซ้อมและแข่งมากกว่าในออฟฟิศ 

4

“แต่แรกแล้ว ทีมกีฬาขององค์กรก่อตั้งขึ้นสำหรับพนักงานของโรงงาน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการออกกำลังกาย มีความเป็นอยู่ที่ดี มีจิตวิญญาณของความเป็นทีม และการทำงานร่วมกัน” ดร. เฮเลน กล่าวต่อ

“แต่ด้วยการเติบโตของการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์แห่งชาติในยุค 60s ทำให้ทีมรักบี้บริษัทญี่ปุ่นเริ่มที่จะดึงตัวผู้เล่นเก่ง ๆ ที่เพิ่งเรียนจบจากทีมรักบี้ของมหาวิทยาลัย และลงทุนไปกับกีฬาชนิดนี้ และใช้ทีมของพวกเขาในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม และสร้างแบรนด์ดิ้งบริษัท” 

นอกจากนี้ การปฏิวัติรูปแบบการเล่นของรักบี้ทีมชาติญี่ปุ่น ที่ใช้จุดแข็งของตัวเอง ซึ่งก็คือความว่องไว รวมถึงเข้าปะทะให้ต่ำ เพื่อมาชดเชยกับรูปร่างและส่วนสูงที่เสียเปรียบ เพื่อไล่ตามชาติตะวันตก ยังเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้พวกเขามีเริ่มที่ยืนในวงการรักบี้โลก

ก่อนที่มันจะเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้กีฬาชนิดนี้ สามารถยืนหยัดอยู่ในแดนอาทิตย์อุทัยมาอย่างยาวนาน รวมไปถึงตอนที่เปลี่ยนผ่านจากทีมกึ่งอาชีพ มาเป็นทีมระดับอาชีพเต็มตัว หลังการก่อตั้งของ ท็อปลีก ลีกอาชีพของพวกเขา ในปี 2003 

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้รักบี้ปักธงได้ในแผนที่ญี่ปุ่น

จิตวิญญาณซามูไร 

มีวินัย อดทน เสียสละ จงรักภักดี จริงใจ กล้าหาญ และแข็งแกร่ง คือค่านิยมของคนญี่ปุ่น มันคือสิ่งที่พวกเขายึดถือมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยยังสวมชุดเกราะฟาดฟันกับศัตรู ในฐานะ “วิถีซามูไร” 

การยึดถือในหลักการดังกล่าว คือส่วนสำคัญที่ทำให้คนญี่ปุ่นเปิดรับกีฬาของชาวตะวันตกอย่าง รักบี้ เมื่อมันสามารถปลุกความเป็นซามูไรของพวกเขาให้ตื่นขึ้นมา จากจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ที่แฝงอยู่ในกีฬาชนิดนี้ 

เนื่องจาก รักบี้ เป็นกีฬาที่ต้องใช้พละกำลังและการปะทะบ่อยครั้ง ทำให้ผู้เล่นต้องมีความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับคู่แข่ง ในขณะเดียวกันต้องอดทนกับความเจ็บปวด และไม่ถอยหนีไม่ว่าคู่แข่งจะโหดหินมากแค่ไหน 

5

“ศิลปะการต่อสู้มีแก่นของจิตวิญญาณการต่อสู้ที่ควบคุมได้ ดังนั้นหากพูดในเชิงวัฒนธรรม สามารถพูดได้ว่ารักบี้ปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติของซามูไร หรือประเพณีของนักรบ” ดร. แม็คนอตันอธิบาย 

“รักบี้เป็นกีฬาที่ใช้ร่างกายมาก และมีการปะทะสูง ซึ่งมันไม่ได้ต้องการแค่ทีมเวิร์ค แต่ต้องการ ‘จิตวิญญาณในการต่อสู้’ มันจึงทำให้ทีมรักบี้ของบริษัท เป็นแบรนด์ที่มีอิทธิพลในภาคอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม ที่ถูกมองว่าต้องการพละกำลัง และความแข็งแกร่งแบบผู้ชาย” 

ในขณะเดียวกัน แม้จะเป็นกีฬามีการปะทะอยู่บ่อยครั้งและดูรุนแรง แต่ทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้กฎกติกา ซึ่งคล้ายกับวิถีนักรบของพวกเขา ที่แม้จะรบราฆ่าฟันเอาชีวิต แต่ต้องสู้กันด้วยเกียรติและศักดิ์ศรี ภายในกรอบที่วางเอาไว้ 

“ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความปลอดภัยมากที่สุดในโลก มีอาชญากรรมเกิดขึ้นน้อยมาก และผู้คนสามารถเดินทางไปทั่วประเทศโดยอย่างอิสระ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกปล้นหรือถูกทำร้าย การเคารพกฎระเบียบ กฎหมายและผู้อื่นเหล่านี้ เห็นได้อย่างชัดเจนมากในรักบี้ของพวกเขา” ไซมอน แชดวิค ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านบริษัทกีฬาแห่ง Salford Business School มหาวิทยาลัยซัลฟอร์ดกล่าวกับ The New European 

“มันอาจจะแตกต่างไปจากปกติเล็กน้อยในรักบี้ ที่ผู้เล่นจะแสดงความเคารพต่อกฎและการตัดสินใจของผู้ตัดสิน พูดให้ชัดเจน คือนักรักบี้ญี่ปุ่นมีพันธสัญญาทางร่างกายกับกีฬานี้เช่นเดียวกับที่ผู้เล่นจากประเทศอื่นมี”

“ดังนั้นในมุมหนึ่ง รักบี้มีกลิ่นอายของประเพณีซามูไร ที่การเคารพและให้เกียรติคือความสำคัญสูงสุด” 

6

นอกจากนี้ การที่มันเป็นกีฬาที่เล่นเป็นทีม ทำให้วัฒนธรรมของรักบี้ เข้ากับสังคมแบบกลุ่มของญี่ปุ่น ซึ่งให้คุณค่ากับคนที่มีขยันขันแข็ง ทำงานหนัก เสียสละตัวเองเพื่อส่วนรวม และมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน 

“รักบี้เป็นกีฬาแบบทีม และสิ่งนี้ก็ถูกใช้ได้ดีในญี่ปุ่น ที่การทำงานเป็นทีมและการให้คุณค่ากับความเป็นกลุ่มเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรก ๆ ไม่เฉพาะในกีฬาเท่านั้น แต่ถึงการจัดการสถานที่ทำงานสไตล์ญี่ปุ่นและในสังคม” ดร.แม็คนอตันให้เหตุผล 

อย่างไรก็ดี ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยผลักดันไม่แพ้กัน

อิทธิพลจากสื่อ 

ญี่ปุ่น ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มองกีฬาในฐานะความบันเทิง ด้วยความที่พวกเขาเป็นนักเล่าเรื่องชั้นดี ที่ทำให้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนมีเรื่องราวที่น่าสนใจ ไม่เว้นแม้แต่รักบี้ 

เนื่องจากมันเป็นกีฬาที่ตรงกับจริตความเป็นญี่ปุ่น ทำให้รักบี้ กลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการนำเสนอผ่านหน้าจอโทรทัศน์ โดยเฉพาะในการแข่งขันรักบี้มัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติ ที่มักจะมีเรื่องราวชวนซึ้งหรือดรามา ไม่ต่างจากกีฬานักเรียนอย่างโคชิเอ็ง หรืออินเตอร์ไฮ

7

ในขณะที่การนำเสนอผ่านวัฒนธรรมร่วมสมัย อย่างมังงะ และอนิเมะ ก็ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กีฬาชนิดกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นเรื่อง All Out!!, Try Knights หรือ Number24

นอกจากนี้ การพยายามช่วยให้ผู้คนเข้าใจในกติการักบี้ ยังเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ทำให้มันเข้าถึงคนหมู่มาก ยกตัวอย่างเช่นในระหว่างการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลก 2019 ได้มีสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง พยายามอธิบายตำแหน่งของนักกีฬารักบี้ทั้ง 15 คน ด้วยการใช้ภาพแทนเป็นสัตว์ 

แต่แน่นอน สิ่งที่ทำให้ รักบี้ กลายเป็นกระแสได้มากที่สุด คือการที่พวกเขาได้เป็นเจ้าภาพชิงแชมป์โลกเมื่อปี 2019 ที่ “เบรฟ บลอสซัม” ทำผลงานได้อย่างโดดเด่น ด้วยการเข้าไปถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แถมยังสามารถเอาชนะทีมแกร่งของโลกอย่างไอร์แลนด์ และสก็อตแลนด์ ได้อีกด้วย 

8

โดยจากการสำรวจของ EY Today ระบุว่าผลงานที่ยอดเยี่ยมของทีมชาติญี่ปุ่น ได้ทำให้เกิดแฟนชั่วข้ามคืน หรือ “Niwaka Fans” หรือแฟนที่เพิ่งมาเชียร์ในทัวร์นาเมนต์มากถึง 33 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ 50 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ติดตามรักบี้ชิงแชมป์โลก เพิ่งจะมาสนใจกีฬาชนิดนี้ได้ไม่ถึงปี 

และในผลสำรวจเดียวกันยังรายงานว่า แฟนรักบี้ 54 เปอร์เซ็นต์ในญี่ปุ่นที่ติดตามรักบี้ชิงแชมป์โลก ยอมรับว่าพวกเขาเพิ่งจะมาดูรายการนี้เป็นครั้งแรก ในขณะที่ 74 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่ารายการนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ หันมาเล่นกีฬาชนิดนี้มากขึ้น

นี่คือสิ่งที่คนในวงการรักบี้ญี่ปุ่นพยายามอย่างหนัก เพื่อยกระดับกีฬานี้ด้วยความหวังจะขึ้นมาเทียบเท่ากีฬาขวัญใจมวลชนอย่างเบสบอล และ ฟุตบอล จนทำให้มันก้าวข้ามคำว่า “กีฬาสถาบัน” มาได้สำเร็จ 

โดยปัจจุบัน ญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในชาติที่มีนักรักบี้เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ด้วยจำนวนนักกีฬาที่ลงทะเบียนมากถึง 105,693 คน รั้งอยู่ในอันดับ 8 เป็นรองเพียงแค่ ฝรั่งเศส แอฟริกาใต้ อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิจิ และสหรัฐฯ ซึ่งต่างเป็นมหาอำนาจของโลกรักบี้ 

9

ในขณะที่ผลงานในทีมชาติ จากการจัดอันดับล่าสุด (วันที่ 15 มีนาคม 2021) พวกเขายังคงรั้งอยู่ในอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชีย ส่วนผลงานที่ดีที่สุดคืออันดับ 7 ของโลกที่เคยทำได้เมื่อปี 2019 

ทำให้แม้ว่า รักบี้ อาจจะดูห่างไกล จากเบสบอล และฟุตบอล ในแง่ความเป็นที่นิยม เนื่องมาจากจุดสตาร์ทที่ต่างกัน จากการเพิ่งเปลี่ยนมาเป็น กีฬาอาชีพได้เพียงแค่ 18 ปี (รักบี้โลกเพิ่งเปลี่ยนเป็นอาชีพเมื่อปี 1995) ต่างจาก เจลีก หรือ นิปปอน โปรเฟสชันแนล เบสบอล ที่อยู่ในสถานะนี้มา 29 ปีและ 71 ปีตามลำดับ แต่พวกเขาก็ไม่ได้ยอมแพ้ และกำลังพยายามอย่างเต็มที่ 

และบางทีวันหนึ่ง มันอาจจะกลายเป็นกีฬาที่คนญี่ปุ่นเล่นทั่วบ้านทั่วเมือง เหมือนที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นกับฟุตบอล ก็เป็นได้ 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ