ไขมันในเลือดสูง เป็นสาเหตุของโรคอันตรายตามมาหลายโรค ควรรีบรักษาก่อนสายไป
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ระบุว่า โรคไขมันในเลือดผิดปกติหรือ dyslipidemia เป็นโรคหนึ่งในกลุ่มโรค NCDs ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีระดับไขมันในเลือดผิดปกติ เกิดการอักเสบในหลอดเลือด มีไขมันสะสมในหลอดเลือด ส่งผลต่อระบบหัวใจ และหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดสมองอุดตัน
ประเภทของไขมันในเลือดที่พบได้
โดยทั่วไปแล้ว ไขมันจะมีอยู่ 2 ประเภท คือ
- คอเลสเตอรอล แบ่งออกเป็น 2 ชนิด
- LDL (low density lipoprotein) ไขมันตัวที่ไม่ดี ยิ่งมีมาก จะทำให้โรคดำเนินต่อไป และแย่ลง
- HDL (high density lipoprotein) ไขมันตัวดี ป้องกันการอักเสบ และการอุดตันของหลอดเลือด
- ไตรกลีเซอไรด์
การรักษาภาวะไขมันในเลือดสูง
แพทย์อาจจะพิจารณาการปรับพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร ลดการรับประทานอาหารไขมันสูง รวมถึงแป้งและน้ำตาลสูง รวมถึงการแนะนำให้ออกกำลังกาย และปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น ซึ่งอาจช่วยลดไขมันในเลือดได้ในรายที่ไขมันในเลือดไม่สูงมากนัก
แต่ในรายที่มีระดับไขมันในเลือกสูงผิดปกติ อาจมีความจำเป็นต้องรับประทานยาลดระดับไขมันในเลือด และอาจจำเป็นต้องใช้ยาในการควบคุมโรคไปตลอด เพราะโรคเหล่านี้หากเป็นแล้วก็จะมีการดำเนินไปของโรคมากขึ้นเรื่อยๆ แต่มักจะไม่แสดงอาการออกมา ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจึงมีความเข้าใจผิดว่าหายแล้ว และอาจหยุดรับประทานยาเองได้ ซึ่งอาจทำให้โรคเลวร้ายลง และเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาได้
การรักษาภาวะไขมันในเลือดด้วยวิธีใช้ยา
การรักษาโรคไขมันในเลือดผิดปกติ แบ่งออกเป็น 2 ช่วง
- ช่วงแรกเป็นการใช้ยา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน
- เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นแล้ว เป้าหมายคือ การใช้ยาเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ
ยากลุ่ม Statin เป็นยาหลัก ในการรักษาผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดผิดปกติที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย สามารถลดปริมาณไขมันตัวที่ไม่ดี ลดปริมาณไตรกลีเซอไรด์ และเพิ่มปริมาณไขมันตัวที่ดีได้ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ต้านการอักเสบ และต้านอนุมูลอิสระได้อีกด้วย โดยทั่วไปแนะนำให้รับประทานวันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน เนื่องจากกระบวนการสร้างคอเลสเตอรอลจะเกิดขึ้นมากในช่วงเวลากลางคืน แต่ยาลดไขมันรุ่นใหม่บางชนิด ออกฤทธิ์ได้นานขึ้น สามารถรับประทานยาเวลาอื่น เช่น หลังอาหารเช้า ได้ ดังนั้น ควรรับประทานยาตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด
หากก่อนนอน ลืมรับประทานลดไขมัน แล้วนึกได้ในเวลาเช้าของอีกวัน ให้รับประทานยาของวันนั้นตามปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา เนื่องจากประสิทธิภาพของการลดไขมันโดยรวมจะไม่กระทบมากนัก การรับประทานยาเกินขนาดกลับจะเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากยามากขึ้น
วิธีลดไขมันในเลือดอย่างยั่งยืน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที
- รับประทานยาลดไขมันนั้นๆ ต่อไป ไม่ควรหยุดยาเอง
- เน้นรับประทานผัก ผลไม้ และอาหารไขมันต่ำ
- ควบคุมน้ำหนัก
- ระวังการใช้อาหารเสริมหรือสมุนไพรที่โฆษณาว่าช่วยลดไขมันในเลือด อาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา และอาจเกิดผลข้างเคียงได้
- เลิกสูบบุหรี่ เพราะ การสูบบุหรี่จะทำให้กระบวนการอักเสบของร่างกายเพิ่มมากขึ้น