“เป็นหัวหมาดีกว่าเป็นหางราชสีห์” ประโยคดังกล่าวใช้อธิบายกับคนที่ประสบความทำงานมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จเมื่ออยู่กับสภาพแวดล้อมที่พวกเขาเป็นคนที่เก่งและโดดเด่นที่สุด
อย่างไรก็ตามเมื่อพวกเขาขยับจากสภาพแวดล้อมเหล่านั้นมาอยู่กับผู้ร่วมงานที่มีประสิทธิภาพ องค์กรที่ใหญ่กว่า มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่า พวกเขาเหล่านี้กลับไม่สามารถทำได้เหมือนที่เคยเป็น …
ในฟุตบอลก็เช่นกัน และเราจะพาคุณไปดูว่าเหตุผลใดที่ทำให้พวกเขาไปไกลกว่าการเล่นทีมขนาดเล็กไม่ได้
ส่วนใหญ่ … เก่งแต่เด็ก
หากจะเอ่ยชื่อนักฟุตบอลที่เก่งกับทีมเล็กในระดับที่ “เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว” แต่ไม่สามารถทำเหมือนเดิมเมื่อเล่นกับทีมใหญ่ได้ ชื่อของ วิลฟรีด ซาฮา ผู้แบกทุกสิ่งอย่างของสโมสร คริสตัล พาเลซ, อาเตม เบน อาร์กฟา นักเตะเทคนิคแพรวพราวที่สุดในฝรั่งเศส, อเดล ทารับต์ เจ้าของฉายา “นิว ซีดาน” หรือแม้กระทั่ง เจสซี่ ลินการ์ด นักเตะที่กำลังมีสิทธิ์พา เวสต์แฮม ไปเล่นในถ้วยยุโรปครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี … ย่อมผุดขึ้นมาในหัวของเหล่าแฟนฟุตบอลแน่นอน
เราเริ่มสำรวจเกี่ยวกับนักเตะเหล่านี้ว่าพวกเขามีจุดที่เหมือนกันหรือมีประสบการณ์ร่วมกันตรงไหนบ้าง ?
Photo : Eurosport
คำตอบที่ได้คือพวกเขาเป็นนักเตะที่มีชื่อเสียงตั้งแต่อายุยังน้อยมาก ได้รับการคาดหมายไว้ใหญ่โตเมื่อครั้งยังลงเล่นในระดับเยาวชนกันทั้งนั้น ซึ่งการเก่งตั้งแต่เด็ก ถือเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ทั้งหมดที่กล่าวมา “มีทัศนคติ” ที่คล้ายกันนั่นคือ “ความมั่นใจ” ที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลายาวนาน และใช้มันจนคุ้นชิน
เรื่อง “ความอันตรายจากการเก่งแต่เด็ก” ถูกพูดถึงโดย เจเรมี่ พิเอ็ตต์ ที่เคยเป็นนักกีฬาฟุตบอลอาชีพ และเคยลงเล่นในระดับเมเจอร์ลีก สหรัฐอเมริกา ที่ปัจจุบันผันตัวมาเป็นโค้ชฟุตบอลในระดับเยาวชนและเขียนบทความเกี่ยวกับกีฬาสำหรับเด็กและผู้ปกครอง ซึ่งเขาพบว่า เด็กที่เก่งเกินกว่าเพื่อนร่วมทีมมาก ๆ จะมีความมั่นใจและทัศนคติที่ควบคุมยากกว่าคนอื่น ๆ
“นักเตะเด็ก ๆ ที่เก่ง ๆ หลายคนมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ ทัศนคติ ความหยิ่งทรนง และ ความภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำ ผมไม่ได้พูดถึงใครเป็นพิเศษนะ แต่พวกเขาโดนคนรอบข้างสรรเสริญเยินยอ จากทั้งสื่อและครอบครัวหรือคนรอบข้าง พวกเขาจะโดนคาดหมายว่าแตกต่างจากเด็กทั่วไป และมีโอกาสสดใสสำหรับการเป็นนักกีฬาแถวหน้า”
Photo : Azer
“สิ่งสำคัญคือพวกเขาหลายคนเห็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เพราะเมื่อพวกเขาก้าวขึ้นมาเล่นในสนามที่ใหญ่ขึ้น พวกเขาจะต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพราะมันไม่ใช่เวทีของคนที่เก่งที่สุดอีกแล้ว มันคือการรวมกันของความเก่ง และคนที่มีทัศนคติที่แข็งแกร่ง สองอย่างนี้เท่านั้น ที่จะช่วยให้คุณไปถึงระดับอาชีพได้ ถ้าคุณมีมันมากพอ”
พวกเขาเหล่านี้มีคาแร็คเตอร์ที่เต็มไปด้วยความมั่นใจแบบสุดขั้ว บางทีอาจจะมากเกินไป จนหลายคนบอกว่าน่าหมั่นไส้ ไม่ใช่ว่าการเก่งแต่เด็กและเติบโตมาด้วยทัศนคติของการเป็นอันดับ 1 มาตลอดเป็นเรื่องไม่ดี แต่การรับมือกับเด็ก ๆ หรือแม้แต่คนสักคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ต้องได้รับการดูแลที่เหมาะ ให้บททดสอบที่ยาก ๆ กับพวกเขา ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง หรือแม้กระทั่งการมอบสิ่งที่ตอบแทนให้แบบสมน้ำสมเนื้อ อัจฉริยะเหล่านี้ จึงสามารถประคองตัวให้อยู่ร่วมกับสังคมใหญ่ได้
“ฟุตบอลเป็นเรื่องยากมากที่จะไต่ไปถึงระดับที่เรียกว่าเก่งสุดยอด หลายสิ่งอย่างต้องใช้เวลาสั่งสมกันหลายปี สิ่งสำคัญสำหรับนักเตะเยาวชนแถวหน้าที่จะต้องเตรียมพร้อมคือพวกเขาต้องมีทัศนคติที่ดี พร้อมจะพัฒนาต่อเสมอไม่ว่าตัวเองจะเก่งแค่ไหนก็ตาม จงอดทนให้เป็น บางครั้งคุณอาจจะไม่สมใจที่ต้องนั่งเป็นตัวสำรอง แต่สิ่งนี้จะแก้ไขได้ ถ้าคุณกลับไปปรับปรุงสิ่งที่มี และเพิ่มเติมสิ่งที่ขาด พวกเขามีของขวัญจากพระเจ้า (พรสวรรค์) อยู่ที่พวกเขาจะเลือกว่าจะใช้มันแบบไหน” โค้ช เจเรมี่ ว่าเช่นนั้น
ทัศนคติเป็นอะไรที่ฝึกฝนและฝืนกันยากที่สุด มัน คือ สิ่งที่ทำให้นักเตะหลายคนเกิดอาการ “ตัน” ไปต่อได้ไม่สุดทาง เราจะลองยกตัวอย่างดังที่กล่าวมาดูก็ได้ … อาเต็ม เบน อาร์กฟา สุดยอดมากในวัยเด็ก เขาคือเด็กนรกแถวหน้าของวงการฟุตบอลฝรั่งเศส แจ้งเกิดแบบเต็มตัวกับ นิวคาสเซิล และ นีซ แต่เมื่อเขาไปอยู่กับ เปแอสเช ในยุคที่กำลังไล่ล่าตำแหน่งตัวท็อปของลีกยุโรป ทัศนคติของอาร์กฟา ทำให้ตัวเขาไม่สามารถไปต่อได้ เมื่อต้องยกระดับการแข่งขันขึ้นมา เขาไม่พอใจที่ตัวเองเป็นตัวสำรอง จนมีปัญหากับโค้ชและสุดท้ายตัวเองก็โดนปรับไปเล่นในระดับทีมสำรอง
นั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาเย่อหยิ่งเกินเหตุ เบน อาร์กฟา เคยทะเลาะกับประธานสโมสรลียง ตั้งแต่ที่เขาอายุ 21 ปี, จากนั้นก็มีปัญหากับการไม่ยอมรับการตัดสินใจจากโค้ชที่ มาร์กเซย ต่อด้วยการปล่อยตัวเองให้น้ำหนักตัวอ้วนฉุในสมัยเล่นกับ ฮัลล์ ซิตี้ จนสโมสรต้องยกเลิกสัญญา
Photo : Football Planet
หากจะเทียบกับใครสักคนให้เห็นภาพ คงต้องไปเทียบกับ คาริม เบนเซมา กองหน้าของ เรอัล มาดริด ที่กลายเป็นตำนานของทีมราชันชุดขาวไปแล้ว ทั้งคู่เกิดปีเดียวกัน เล่นในระดับเยาวชนทีมเดียวกัน ถูกยกย่องเหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่างคือทัศนคติ เบนเซมา เลือกจะโตช้า ๆ แต่มั่นคงกับ ลียง ก่อนได้ย้ายไป มาดริด ขณะที่ เบน อาร์กฟา ทะเลาะกับทุกคนและทะเยอทะยานสุดขีด จนทำร้ายตัวเองในบั้นปลาย
วันเดอร์คิดในวงการฟุตบอลหลายคนเป็นเช่นนั้น อเดล ทารับต์ มีปัญหากับ แฮร์รี่ เรดแน็ปป์ ที่คิวพีอาร์ เพียงเพราะโดนติงเรื่องการโหม่งบอล, ฟาบิโอ ปาอิม นักเตะที่ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ บอกว่าจะเก่งกว่าตัวเขาเองก็มาตายน้ำตื้นเพียงเพราะรับสถานะการเป็นเบอร์ 2 ไม่ได้ … ยังมีอีกเยอะเกินจะกล่าวถึงสำหรับนักเตะเหล่านี้ที่ไม่อาจจะอยู่กับทีมใหญ่ ๆ หรือแม้กระทั่งประสบความสำเร็จได้เท่ากับชื่อเสียงและความคาดหมายในสมัยที่พวกเขายังเป็นนักเตะเยาวชน และเรื่องเหล่านี้มีที่มาลึกยิ่งกว่านั้น …
ทีมระดับโลกไม่ได้ต้องการแค่คนเก่ง
ไม่ว่าจะเป็นทีมกีฬาอาชีพหรือแม้กระทั่งบริษัทวิศวกรซอฟต์แวร์ ไม่ว่าองค์กรไหนก็ล้วนแต่ต้องการคนเก่งมาร่วมทีมเข้ามาในองค์กรทั้งนั้น แต่ความจริงที่โลกนี้ปฎิเสธไม่ได้คือ “มากเกินไปก็ไม่ดี” เช่นเดียวกันกับการทำงานเป็นทีม สิ่งสำคัญกว่าการรวมตัวของคนเก่ง คือการ “มีสมดุล และยืดหยุ่นพร้อมทุกสถานการณ์”
มีการวิเคราะห์ข้อมูลจากการเก็บสถิติของ Psychological Science โดยนักวิทยาศาสตร์ทางจิตวิทยาที่ชื่อว่า Swaab และ Galinsky พวกเขาพบว่าสำหรับทีมกีฬา ไม่ว่าจะเป็นทีมบาสเกตบอล หรือแม้กระทั่ง ทีมฟุตบอลทีมหนึ่ง หากมีซูเปอร์สตาร์มากเกินไปจะเป็นอันตรายต่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ … หากเปรียบให้เห็นภาพคือเหมือนกับภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่ง ถ้าหนังเรื่องนั้นจะสนุกได้ จำเป็นต้องมีหลายองค์ประกอบที่รวมออกมาแล้วทำให้หนังเรื่องนี้มีความกลมกล่อม คนดูรู้สึกอิ่มไม่มีอะไรติดค้างเมื่อหนังจบลง
Photo : Breacher Report
สำหรับทีมกีฬา พวกเขายกตัวอย่างจากทีม ไมอามี ฮีต ในช่วงปี 2010 ที่ดึงตัว 2 ซูเปอร์สตาร์อย่าง เลบรอน เจมส์ และ คริส บอช เข้ามาสู่ทีมโดยยังเก็บสตาร์คนเก่าอย่าง ดเวย์น เหวด ที่ถึงแม้ปลายทางจะจบลงด้วยการเป็นแชมป์ NBA แต่จริง ๆ แล้วในแง่สถิติ ไมอามี่ ฮีต ปี 2010 กลับมีตัวเลขที่ยังไม่ดีเท่าปี 2009 ด้วยซ้ำ
งานวิจัยระบุถึงเหตุผลที่เป็นเช่นนั้นว่า “ไม่ว่าจะเป็นทีม บาส, ฟุตบอล หรือ เบสบอล การมีผู้เล่นระดับซูเปอร์สตาร์ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่อมีผู้เล่นระดับสตาร์รวมตัวกันมากเกินไป ผู้เล่นที่มีธรรมชาติของความเป็นผู้ชนะเหล่านั้น จะพยายามเอาชนะแข่งขันเพื่อรักษาสถานะของตัวเอง มากกว่าการร่วมมือกันในฐานะทีม นักวิจัยเรียกเหตุการณ์เหล่านี้ว่าทฤษฎี ‘Too much talent effect'” (ภาวะที่มีผู้เล่นมากกความสามารถในทีมเยอะเกินไป) บทความจาก สหพันธ์วิจัยเพื่อจิตวิทยา และวิทยาศาสตร์ (APS) ว่าเช่นนั้น
“ผู้เล่นระดับสตาร์ที่มีความสามารถพิเศษสูงสุด จะไม่ค่อยให้ความร่วมมือในฐานะทีม พวกเขาจะมีอัตราการส่งบอลยากกว่าผู้เล่นที่มาตรฐานต่ำกว่า และมันส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการเล่นในที่สุด”
“เหล่าสตาร์สามารถต้องยอมรับการอยู่ร่วมกันในฐานะทีมให้ได้ พวกเขาจึงจะนำมาซึ่งความสมดุลที่ทีมตามหา พวกเขาต้องร่วมมือกัน แต่โดยธรรมชาติแล้วพวกเขาเหล่านี้มีความเป็นผู้ชนะในตัวสูง และชอบการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม” Swaab และ Galinsky พูดถึงงานวิจัยของเขาที่มีการเก็บข้อมูลนานกว่า 10 ปี (ปี 2002-2012)
Photo : Goal
ตลอดระยะเวลา 10 ปี งานวิจัยและเก็บสถิติพวกเขาพบว่า เบสบอล คือกีฬาที่พึ่งพาความสามารถส่วนบุคคลมากกว่าที่ ฟุตบอล และ บาสเกตบอล ที่ต้องการความเป็นทีม และการทำงานร่วมกัน
แม้งานวิจัยอาจจะยืนยันด้วยสถิติ แต่อย่างไรเสีย ทุกอย่างสามารถแก้ไขและปรับปรุงได้ มันไม่ใช่หลักตายตัวว่านักเตะระดับสตาร์จะรวมกันแล้วพังทุกครั้งไป บาร์เซโลนา ในยุคที่ เป๊ป กวาร์ดิโอลา ครองโลก ว่ากันว่าพวกเขามีนักเตะเวิลด์คลาสในทีมทั้ง 11 ตำแหน่ง แต่พวกเขาก็ประสบความสำเร็จได้ ด้วยความเข้าใจในปรัชญาและแนวทางวิธีการเล่นของทีม
แม้ไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า ลิโอเนล เมสซี่ คือสตาร์เบอร์ 1 ของทีม แต่หากดูองค์ประกอบโดยรวมเราจะพบว่านักเตะเวิลด์คลาสคนอื่น ๆ ในทีมสามารถยอมรับสถานะดังกล่าวและทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเต็มที่
ทุกคนแบ่งหน้าที่กันได้อย่างลงตัว อาทิ เซร์คิโอ บุสเกตส์ ตัดเกม, ชาบี เอร์นันเดซ คุมจังหวะการเล่นของทีม, อันเดรียส อิเนียสตา สร้างสรรค์เกมรุก เป็นต้น พวกเขาไปสุดทางในตำแหน่งของตัวเองและเมื่อมารวมกันพวกเขากลายเป็นสุดยอดทีมโดยที่ใคร ๆ ก็ยอมรับ
Photo : Goal
หากจะพูดให้ถูกต้องคือ คำว่าซูเปอร์สตาร์สำหรับงานวิจัยดังกล่าวอาจจะไม่ได้หมายถึงผู้เล่นที่มีฝีมือเก่งกาจอย่างเดียว มันอาจรวมถึงทัศนคติที่ชื่นชอบการยืนกลางแสงสปอตไลท์ และมีความต้องการเป็นคนที่เหนือคนอื่น ๆ อยู่เล็ก ๆ ซึ่งในความ เล็ก ๆ นั้นเอง เมื่อมีคนแบบนี้หลาย ๆ คนเข้าก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ และกลายเป็นจุดอ่อนกับทีมได้ในท้ายที่สุด
เมื่อ 2 สิ่งรวมกัน
จาก 2 เหตุผลที่กล่าวมาในข้างต้น ทั้งเรื่องของทัศนคติในแง่ของบุคคล หรือในแง่ของการรวมตัวกันของคนเก่งมากเกินไป ทำให้นักเตะที่เก่งกาจ มีแววจะเป็นสตาร์ แต่ไม่มีทัศนคติในการเล่นและการใช้ชีวิตที่ดีพอ กลายเป็นนักเตะที่โดนคัดทิ้งจากทีมใหญ่ ๆ เสมอ
ในทีมสโมสรระดับแถวหน้าพวกเขามีสิทธิ์เลือกคนเก่งมากมาย แต่การจะหาคนทีเก่งด้วย ทัศนคติดีด้วย คือสิ่งที่พวกเขาต้องการที่สุด เมาริซิโอ ซาร์รี อดีตกุนซือของ เชลซี และ ยูเวนตุส เคยกล่าวถึงวิธีการทำงานในสโมสรใหญ่ว่า การที่ผู้เล่นสักคนที่โดนมองว่าเก่งมาก แต่กลับดีไม่พอสำหรับการแข่งขันระดับสูง นั่นก็เพราะว่าในทีมระดับบิ๊ก พวกเขามีนักเตะที่ยอดเยี่ยมทุกตำแหน่ง ดังนั้นใครที่มีจุดอ่อน ก็ต้องยอมรับต่อสถานการณ์นั้น รอโอกาสต่อไป หรือถ้าไม่เช่นนั้นก็ต้องถอยไปเล่นให้กับทีมที่เล็กกว่า มีซูเปอร์สตาร์น้อยกว่า และเป็นที่ที่พวกเขาสามารถแสดงความสามารถในแบบที่เป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่
“มันเป็นเรื่องปกติ การจะได้นักเตะสักคนมาเล่นให้กับทีมอย่างยูเวนตุสมันต้องผ่านการคัดกรองอย่างเข้มข้น ที่ ยูเวนตุส สโมสรแห่งนี้มีนักเตะระดับท็อป 27 – 28 คน … ถามว่ามันยากไหมละสำหรับใครสักคนที่จะสอดแทรกพื้นที่ตรงนี้ได้” ซาร์รี ว่าเช่นนั้น
Photo : Azer
เมื่อพวกเขากลายเป็นนักเตะที่ทีมใหญ่คัดทิ้ง นั่นหมายความว่าพวกเขาจะต้องไปอยู่กับสโมสรที่ต้องการตัวพวกเขา และมีพื้นที่ให้พวกเขาเป็นตัวของตัวเอง นักเตะประเภทนี้เป็นเหมือนนักเตะที่เหมาะกับประโยคที่ว่า “เลี้ยงเสือต้องเลี้ยงให้อิ่ม” กล่าวคือเมื่ออยู่กับทีมเล็กพวกเขาจะเป็นสตาร์เบอร์ 1, ได้รับความรักจากแฟน ๆ, ได้รับการการันตีตัวจริงจากผู้จัดการทีม หรือแม้กระทั่งได้ค่าจ้างที่มากที่สุดตามที่พวกเขาสมควรจะได้รับ
นักเตะอย่าง วิลฟรีด ซาฮา คือหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด เขาเล่นให้กับ คริสตัล พาเลซ และสามารถสร้างปาฏิหาริย์จากลูกยิง, การเลี้ยงบอล หรือแม้กระทั่งการเป็นคนชี้ขาดผลการแข่งขันของทีมได้ แต่สุดท้ายเมื่อตลาดซื้อขายมาถึง ทีมใหญ่ ๆ กลับไม่สู้ราคาของเขาที่ พาเลซ ตั้งไว้ที่ 60 ล้านปอนด์ นั่นก็เพราะพวกเขายังไม่มั่นใจพอว่า ซาฮา จะสามารถบันดาลทุกสิ่งให้กับทีมได้เหมือนที่ทำให้ พาเลซ
เขาจะเป็นอย่างไร เมื่อต้องไปเล่นในการแข่งขันที่เข้มข้น และสโมสรที่ต้องการความคาดหวังมากกว่าที่ พาเลซ เยอะ … นั่นคือคำตอบที่ใครก็อยากรู้ทั้งนั้น
ขณะเดียว อารอน วาน บิสซากา เล่นโดดเด่นให้กับ คริสตัล พาเลซ ได้แค่ปีเดียวในตำแหน่งแบ็กขวา อีกทั้งยังเป็นการเปลี่ยนตำแหน่งจากกองกลางอีกต่างหาก แต่เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมเขาก็มีค่าตัวถึง 55 ล้านปอนด์ และเป็นทีมใหญ่อย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซื้อตัวไปร่วมทีม ซึ่งทุกวันนี้ วาน บิสซาก้า ก็เป็นตัวจริงของปีศาจแดงอย่างต่อเนื่อง และมีพัฒนาการที่ดีขึ้นตามลำดับ
Photo : Breacher Report
อย่างน้อยที่สุดหากจะมีคนพูดว่า ซาฮา ไม่ได้โอกาสไปทีมใหญ่เพราะเขาค่าตัวแพง ก็คงจะสามารถเอากรณีทีมชาติอังกฤษมากล่าวอ้างได้เช่นกัน … ทีมชาติอังกฤษไม่ต้องเสียเงินค่าตัวของเขาสักแดงหากจะเรียกตัว “เดอะ แบก” อย่าง ซาฮา มาใช้งานในนามทีมชาติ ในขณะที่ ซาฮา โชว์ฟอร์มโดดเด่นให้กับ พาเลซ มาหลายปีติดต่อกัน แต่เมื่อถึงเวลาที่ประกาศชื่อนักเตะติดทีมชาติเขากลับโดนมองข้ามเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นยุค รอย ฮอดจ์สัน, แซม อัลลาร์ไดซ์ หรือแม้กระทั่ง แกเรธ เซาธ์เกต ณ เวลานี้ จนที่สุดแล้ว ซาฮา ก็ยอมไปเล่นให้กับทีมชาติ ไอวอรี โคสต์ ที่มีการแข่งขันในทีมน้อยกว่า และเป้าหมายในในการแข่งขันน้อยกว่าด้วย
มาถึงตรงนี้ก็ชวนให้นึกถึงประโยคคลาสสิกประจำโลกฟุตบอลประโยคหนึ่งที่บอกว่า “ฟุตบอลเป็นกีฬาประเภททีม” ทุกส่วนผสมล้วนมีความสำคัญพอ ๆ กัน และเมื่ออยู่รวมกันแล้วพวกเขาต้องปรับจูนและหานักเตะที่มีเคมีเข้ากันให้ได้ เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ดีในฐานะทีมสะท้อนไปที่ผลการแข่งขันนั่นเอง
Photo : Goal
หากพลิกพงศาวดารฟุตบอลหรือเปิดทำเนียบแชมป์ในรายการต่าง ๆ ดู เราจะพบว่าไม่มีทีมใดที่ประสบความสำเร็จได้โดยไม่มีทีมเวิร์กเป็นส่วนประกอบ และมีนักเตะที่ต่างคนต่างเล่น … ดังนั้นเองเราจึงสรุปได้ว่า “Too much talent effect” งานวิจัยที่มีหลักฐานประจักษ์โดยแท้จริง
และหากเราจะมองภาพให้กว้างขึ้นยิ่งกว่านั้นอีก นอกจาโลกฟุตบอลหรือโลกของกีฬาแล้ว “Too much talent effect” สามารถใช้อ้างอิงในชีวิตการทำงานในทุกองค์กรได้เช่นกัน การมีคนที่เก่งระดับแถวหน้าของวงการ ที่ไม่สามารถยืดหยุ่นในการทำงาน ควบคุมยาก หรือแม้กระทั่งเชื่อมั่นในตัวเองสูงจนเกินไป อยู่รวมตัวกันเยอะ ๆ ก็อาจจะทำให้ Direction หรือเป้าหมายของงานที่ทำนั้นเดินไปผิดทิศผิดทาง
แทนที่จะกลายเป็นทีมออลสตาร์ที่ทำงานและได้ผลลัพธ์ออกมาในระดับมาสเตอร์พีซ ต่างคนต่างอุดรอยรั่วให้กันและกัน กลับกลายเป็นทีมที่ขาดความสมดุล และมีจุดอ่อนมากกว่าที่ใคร ๆ ไปอย่างน่าเสียดายความสามารถของสมาชิกในทีมไปโดยปริยาย
และสุดท้ายเรื่องนี้ได้บอกเราว่า นักเตะบางคนก็เกิดมาเพื่อเป็นพระเอกเท่านั้น … นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมพวกเขาจึงไม่สามารถกลายเป็นตำนานนักเตะของโลกและประสบความสำเร็จมากมายได้เท่ากับที่ใครคาดหวัง