กีฬายกน้ำหนัก เป็นหนึ่งในชนิดกีฬาความหวังของกองเชียร์ชาวไทย ที่ชวดลงคว้าเหรียญรางวัลในโอลิมปิกครั้งนี้ไปอย่างน่าเสียดาย หลังจากโดนลงโทษแบนห้ามร่วมทำการแข่งขัน ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม พาราลิมปิกเกมส์ ที่โตเกียว ก็ยังเป็นอีกครั้งที่เราได้มาลุ้นเหรียญรางวัลกันอย่างเต็มที่ หลังจากทัพนักกีฬาไทยได้เดินทางไปร่วมลงแข่งขันมากถึง 74 คน ซึ่งมากสุดเป็นประวัติการณ์ กอปรกับผลงานในพาราลิมปิกที่ริโอ ที่ทำได้อย่างละ 6 เหรียญทอง, เงิน และ ทองแดง จึงทำให้การตามเชียร์นักกีฬาในพาราลิมปิกหนนี้ เต็มไปด้วยความหวังอย่างพอควร
ซึ่งหนึ่งในกีฬาที่อาจสะดุดตาหลายๆคน ก็คือ “Powerlifting” ที่ไม่มีปรากฏในโอลิมปิก แต่โดยรวมแล้ว มันก็เหมือนกับเป็นกีฬาที่มาแทนที่ยกน้ำหนัก สำหรับผู้พิการเลยไม่ใช่หรือ?
วันนี้ Main Stand จะพามาทำความรู้จักกับชนิดกีฬาดังกล่าวให้มากขึ้นกัน
Powerlifting คืออะไร?
กีฬา Powerlifting แท้จริงแล้วสามารถลงทำการแข่งขันได้ทั้งสำหรับบุคคลทั่วไปและผู้พิการ ซึ่งโดยปกตินั้น จะแบ่งการแข่งขันออกเป็น 3 ท่าหลัก ๆ นั่นคือท่า Back Squat, Bench Press, และท่า Deadlift ที่จะรวมน้ำหนักสูงสุดของแต่ละท่าเข้าด้วยกัน แล้วค่อยมาจัดลำดับตามน้ำหนักรวมที่ยกได้
และหากมองลึกลงไปอีก ในการจัดแข่ง Powerlifting นั้น จะมีการแบ่งชนิดของรายการแข่งออกเป็น 2 แบบย่อย ๆ นั่นคือแบบ Raw ที่นักกีฬาแต่ละคน จะถูกจำกัดอุปกรณ์ช่วยในการยก กับแบบ Equipped ที่สามารถใช้อุปกรณ์ช่วยได้อย่างครบถ้วน
อย่างไรก็ตาม สำหรับการแข่งขันในพาราลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ Powerlifting จะถูกนำมาแข่งขันแค่เฉพาะท่า Bench Press เท่านั้น ซึ่งจะเป็นการให้นักกีฬานอนราบบนแผ่นรองรับที่ยกขึ้นมาจากพื้น แล้วค่อย ๆ ลดบาร์ที่ยกลงมาที่หน้าอก ค้างไว้แบบนิ่ง ๆ แล้วจึงค่อยยกกลับขึ้นไปแบบเหยียดแขนให้ตึง ก่อนที่กรรมการจะให้สัญญาณนำบาร์กลับเข้าแท่นวางในภายหลัง
ใน พาราลิมปิกเกมส์ ไม่ได้มีการจัดลำดับความบกพร่องทางร่างกายไว้ โดยจะนับจากน้ำหนักตัวของนักกีฬาเป็นหลัก และหากแขนของพวกเขาสามารถยืดตรงเพื่อแบกรับน้ำหนักของตัวบาร์ได้ ก็เพียงพอแล้วที่จะลงทำการแข่งขัน Powerlifting ในพาราลิมปิกเกมส์
ต่างจากยกน้ำหนักอย่างไร?
นอกเหนือจากท่าทางที่ใช้แล้ว สิ่งที่เราสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าเลย คือความรวดเร็วในการยกของทั้งสองชนิดกีฬาที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน
นั่นเพราะในการยกน้ำหนัก ยิ่งนักกีฬาสามารถออกแรงยกจากพื้น เพื่อเหยียดขึ้นไปเหนือหัว หรือนำขึ้นมาที่หน้าอกได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งลดแรงที่จำเป็นต้องใช้ลงได้ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขายกน้ำหนักได้มากขึ้นนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม สำหรับ Powerlifiting การยกของพวกเขาจะเป็นไปอย่างช้า ๆ ทั้งในจังหวะที่ยกน้ำหนักลง หรือดันขึ้นไปก็ตาม จากการที่นักกีฬาเหล่านี้ต้องใช้เพียงแค่กล้ามเนื้อส่วนบนในการแบกรับน้ำหนักของบาร์ แทนที่จะเป็นทุกส่วนของร่างกายเหมือนในกีฬายกน้ำหนัก
ทั้งนี้ แม้ทั้งคู่จะมีจุดประสงค์ในการยกน้ำหนักให้ได้มากที่สุดเหมือนกัน แต่นักกีฬาที่แข่งขันยกน้ำหนัก ก็จะมีขั้นตอนการฝึกซ้อมที่ไม่เหมือนกับฝั่งของ Powerlifting ทั้งจากการใช้กล้ามเนื้อที่ต่างกัน ไปจนถึงกฎเกณฑ์การตัดสิน ที่มีรายละเอียดปลีกย่อยไม่เหมือนกัน