ไขข้อสงสัย! สาเหตุโรคใหลตาย ชี้ชัดใครเสี่ยง ป้องกันอย่างไร อันตรายกว่าที่คิด

Home » ไขข้อสงสัย! สาเหตุโรคใหลตาย ชี้ชัดใครเสี่ยง ป้องกันอย่างไร อันตรายกว่าที่คิด


ไขข้อสงสัย! สาเหตุโรคใหลตาย ชี้ชัดใครเสี่ยง ป้องกันอย่างไร อันตรายกว่าที่คิด

ไขข้อสงสัย! สาเหตุโรคใหลตาย ชี้ชัดใครเสี่ยง ป้องกันอย่างไร อันตรายกว่าที่คิด หลับไม่ตื่นอย่างไร้สัญญาณเตือนล่วงหน้า

หลังมีข่าวช็อกวงการบันเทิงไทย บีม ปภังกร ฤกษ์เฉลิมพจน์ นักแสดงวัยรุ่นชื่อดังถูกพบเสียชีวิตในวัย 25 ปีอย่างไม่ทราบสาเหตุ เพียงนอนหลับไปเฉย ๆ หรือชาวบ้านเรียกว่าใหลตาย ซึ่งนับเป็นความสูญเสียที่หลายคนคาดไม่ถึง ดังนั้น เพื่อไขข้อข้องใจให้กับทุก ๆ คน ทางทีมข่าวสดจะขอเสนอสาเหตุ วิธีการป้องกัน และใหลตายคืออะไร

ตามรายงานของผศ.พญ. สิรินทร์ อภิญาสวัสดิ์ สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่าการใหลตาย คือ การเสียชีวิตแบบเฉียบพลันที่ผู้ตายไม่มีโอกาสรู้ตัว ในทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า “หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน” หรือ sudden unexplained (unexpected) nocturnal death syndrome (SUND) ซึ่งในบางครั้งแพทย์เรียกกลุ่มอาการนี้ว่า กลุ่มอาการบรูกาดา (Brugada syndrome)

โรคใหลตาย เป็นการเสียชีวิตที่เกิดจากความผิดปกติของการเต้นหัวใจที่เต้นผิดจังหวะขั้นรุนแรงที่สุด จนทำให้ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะสมองได้ เมื่อสมองขาดออกซิเจนอาจแสดงอาการชักเกร็ง หายใจมีเสียงครืดคราดผิดปกติคล้ายนอนละเมอ เรียกไม่รู้ตัว

พญ.ชญานุตย์ สุวรรณเพ็ญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ อธิบายว่า ความผิดปกติมักพบขณะหลับ นอกจากเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะดังกล่าว ยังอาจเกิดจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลันได้อีกด้วย อีกทั้งยังอาจพบได้ในขณะตื่น โดยอาการที่เกิดอาจเกิดอาการใจสั่นช่วงสั้น ๆ หรืออาการวูบเป็นลมหมดสติได้

สาเหตุของภาวะใหลตายที่สำคัญ คือ ภาวะร่างกายขาดแร่ธาตุโพแทสเซียม ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ส่งผลให้หัวใจเต้นแรงขึ้นและเสียชีวิตในที่สุด ปัจจัยที่เกี่ยวข้องของโรคมี 2 ประการด้วยกัน ได้แก่ การบริโภคอาหารที่มีสารพิษวันละเล็กน้อยจนร่างกายเกิดการสะสมและเป็นพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ

ปัจจัยต่อมาคือ การขาดสารอาหารกลุ่มวิตามินบี 1 อย่างรุนแรงเฉียบพลัน ทำให้คนที่แข็งแรงรู้สึกอ่อนเพลีย เมื่อหลับแล้วก็หัวใจวายตายเกือบจะทันที โดยโรคนี้สัมพันธ์ใกล้ชิดกับภาวะทุพโภชนาการ สุขนิสัยการทานที่ผิด รวมถึงภาวะขาดน้ำ

กลุ่มเสี่ยงเป็นใหลตาย คือ พบในเพศชายวัยทำงาน อายุ 25 – 55 ปี แต่ก็สามารถพบได้ทั้งในเพศหญิง เด็ก ผู้สูงอายุ รวมทั้งผู้ที่มีญาติสายตรงเสียชีวิตที่มีลักษณะอาการใหลตาย เพราะอาการใหลตายมีความสัมพันธ์กับความผิดปกติยีนหรือพันธุกรรม ที่มีผลต่อการควบคุมประจุไฟฟ้าในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ

การรักษาโรคใหลตาย ตามรายงานยังไม่มีการรักษาใดที่สามารถป้องกันหรือหยุดการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ทั้งหมด การรักษาจึงมุ่งหวังให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะน้อยครั้งที่สุด และระยะเวลาที่หัวใจเต้นผิดจังหวะแต่ละครั้งสั้นที่สุดก่อนที่ผู้ป่วยจะหมดสติหรือเสียชีวิตโดยวิธีการดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ ได้แก่ การดื่มแอลกอฮอล์ ภาวะตึงเครียดของร่างกาย พักผ่อนน้อย ออกกำลังกาย ทำงานหนัก การรับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลปริมาณมาก
  2. การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจอัตโนมัติเข้าสู่ในร่างกาย (Automatic Implantable Cardioverter Defibrillator, AICD) เพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจให้ผู้ที่เคยตกอยู่ในภาวะใหลตายสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ
  3. การจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง (Radiofrequency Ablation: RFA) เพื่อลดความถี่ของการเกิดภาวะหัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัวบ่อยครั้ง

วิธีการป้องกันโรคไหลตาย ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันภาวะไหลตายที่ได้ผล แต่ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ

  • ระมัดระวังการทานอาหาร โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารพิษปนเปื้อนและรับประทานอาหารที่สะอาดถูกหลักอนามัย
  • รับประทานอาหารที่ให้สารอาหารเพียงพอต่อร่างกายโดยเฉพาะวิตามินบี
  • รับประทานอาหารที่มีคุณสมบัติช่วยบำรุงหัวใจและหลอดเลือดอย่างสม่ำเสมอ เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ ถั่วดำ ถั่วแระ เต้าหู้ เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ครั้งละมาก ๆ
  • ผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ เช่น มีอาการท้องเสีย ควรดื่มน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย และอาจดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทนน้ำและแร่ธาตุที่สูญเสียไป
  • กรณีที่มีประวัติครอบครัวมีอาการใหลตายหรือมีอาการเข้าข่ายเป็นภาวะนี้ ควรเข้ารับการตรวจพบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงใหลตาย และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อวางแผนการตรวจเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสม

ขอบคุณที่มาจาก ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, แพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ