นอกจากใยอาหารที่มากับผักผลไม้ที่หลายคนพยายามรับประทานให้มากขึ้น จะช่วยในเรื่องของระบบขับถ่าย ลดความเสี่ยงท้องผูกได้แล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคต่างๆ ตั้งแต่มะเร็งลำไส้ใหญ่ เบาหวานประเภท 2 ไปจนถึงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ด้วย ดังนั้นใยอาหารจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกาย
… แต่คำถามคือ เรารับประทานอาหารที่มีใยอาหารมากพอหรือยัง?
“ใยอาหาร” กินเท่าไรถึงดีต่อร่างกาย?
กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาแนะนำว่า เราควรรับประทานอาหารที่มีใยอาหารราวๆ 25 กรัมสำหรับผู้หญิง 38 กรัมสำหรับผู้ชาย (อายุไม่เกิน 50 ปี) ส่วนผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ควรกินใยอาหาร 21-30 กรัม
เราจะทราบปริมาณของใยอาหารที่เรารับประทานได้ ด้วยการดูที่ตารางโภชนาการบนฉลากของผลิตภัณฑ์นั้นๆ โดยพยายามเลือกอาหารที่มีใยอาหารมากกว่าในกรณีที่มีผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียงกัน และขอให้สบายใจได้ว่าใยอาหาร ยิ่งรับประทานยิ่งดี ยกเว้นกรณีของผู้สูงอายุที่อาจไม่ควรรับประทานมากกว่าเกินไป
วิธีเพิ่มใยอาหารในมื้ออาหารของแต่ละวัน
- เริ่มต้นวันใหม่ด้วยอาหารที่เต็มไปด้วยใยอาหาร เช่น ซีเรียลที่ใส่ผลไม้สด
- ใส่ผัก และถั่วลงในซุป หรือแกงที่กิน
- ใส่ถั่ว และธัญพืชต่างๆ ลงในโยเกิร์ต
- กินผักผลไม้แทนขนม หรืออาหารว่าง เช่น แคร์ร็อต บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก ฯลฯ
- เลือกกินผักผลไม้สด มากกว่าแปรรูป
สำหรับคนที่ไม่ค่อยได้รับประทานอาหารที่มีใยอาหารมากนัก แนะนำว่าให้ค่อยๆ เพิ่มใยอาหารในมื้ออาหารทีละน้อยๆ อย่าโหมกินทีเดียวเยอะๆ อย่าลืมดื่มน้ำให้มากขึ้น และหากมีปัญหากับระบบขับถ่ายเป็นเวลานาน ควรพบแพทย์เพื่อหาทางรักษาอย่างถูกต้อง