90 ปี อภิวัฒน์สยาม “คณะราษฎร” จัดงานที่ลานคนเมือง มีกิจกรรมน่าสนใจ ชวนเขียนจดหมายถึงอนาคตประเทศไทย 10 ปีข้างหน้า ฝังดินไว้ใน Time Capsule ปี 2575 ค่อยขุดขึ้นมา
สิบปีข้างหน้าไม่รู้ยังมีชีวิตอยู่ไหม แต่อยากรู้เหลือเกินว่าประเทศจะเปลี่ยนไปอย่างไร เพราะเราอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ของการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ หลังปะทุพลังคนรุ่นใหม่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา “เวลาอยู่ข้างเรา” อีกสิบปีคงยิ่งแกร่งกล้า แต่จะทะลุทะลวงไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้หรือเปล่า
90 ปีอภิวัฒน์สยาม หากแบ่งห้วงเวลา ช่วงแรกคือ 2475-2490 ยุคคณะราษฎรที่จบลงด้วยรัฐประหารฟื้นอนุรักษนิยม 2490-2516 ปกครองด้วยเผด็จการทหารใต้อิทธิพลอเมริกาต้านคอมมิวนิสต์ 2516-2549 เข้าสู่ประชาธิปไตยใต้อำนาจนำ เกิดพลังคนชั้นกลางที่ภายหลังกลายเป็นพลังโรแมนติไซส์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ แล้ว 2549-ปัจจุบัน คือยุคถอยหลัง กระทั่งสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กดเพดานประชาธิปไตยให้ต่ำติดดิน
ห้าปีหลังนี่แหละ ถอยหลังที่สุดใน 90 ปี เมื่อเทียบวิวัฒนาการ แม้เทียบยุคสฤษดิ์ถนอม รูปแบบการปกครองเป็นเผด็จการกว่า แต่นั่นมัน 40-50 ปีที่แล้ว
ว่าอันที่จริง ยุคประชาธิปไตยใต้อำนาจนำ เช่น ทศวรรษ 2530-40 แม้ไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบ ก็กล่าวได้ว่าเป็นยุครุ่งเรือง อำนาจต่างๆ ค่อนข้างสมดุล ประเทศไทยมีเสรีภาพมากที่สุดในภูมิภาคนี้ ดึงดูดการลงทุนและการท่องเที่ยว จนกระทั่งวิกฤต 40 ปลุกชาตินิยม และการเกิดขึ้นของรัฐบาลไทยรักไทยทำให้เครือข่ายอนุรักษนิยมหวาดกลัวอำนาจจากการเลือกตั้งของประชาชน
จากนั้นจึงเป็นหายนะ กระทั่งระบอบรัฐธรรมนูญ 2560 นำประเทศมาสู่จุดเสี่ยงสุด และคาดการณ์อนาคตได้ยากยิ่ง ทั้งความขัดแย้งในสังคมไทย ในสังคมโลก และความผันผวนทางเศรษฐกิจ ที่น่ากลัวยิ่งกว่า The Great Depression ปัจจัยสำคัญให้เกิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
นั่นแหละที่อยากรู้ว่าอีก 10 ปีประเทศจะเป็นอย่างไร หรืออาจไม่ต้องถึง 10 ปี แค่ 2-3 ปีนี้ก็พอเห็นได้ ในจังหวะที่จะมีเลือกตั้งใหม่ ในจังหวะที่ 250 ส.ว.จะครบวาระ ในจังหวะที่คดีการเมืองทั้งหลายโดยเฉพาะ 112 จะถึงที่สุด
ขณะที่เงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน ดัชนีหุ้น คริปโต ฯลฯ และสงครามรัสเซียบุกยูเครน ก็อาจเป็นแค่ “ออร์เดิร์ฟ” เศรษฐกิจการเมืองโลก ของจริงอาจน่ากลัวกว่าหลายเท่า
ที่พูดนี้ไม่ใช่มองแง่ดี ฟ้าสีทองผ่องอำไพ เพราะหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างนี้น่ากลัว ภายใต้อำนาจที่ไม่แยแสความเปลี่ยนแปลง ภายในสังคมที่กระแสอารมณ์วูบวาบผันผวน บางครั้งมีเหตุผล บางครั้งก็ดราม่าไร้เหตุผล ภายใต้ความล้มละลายของความเชื่อถือศรัทธาที่เคยยึดเหนี่ยว องค์กรต่างๆ ตั้งแต่กระบวนการยุติธรรมไปถึงคณะสงฆ์ สิ่งที่ใช้เหนี่ยวรั้งควบคุมสังคมเหลือแต่อำนาจดิบ
ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น จึงเป็นได้ทั้งทะลุทะลวงโครงสร้างและพังพินาศแตกกระจาย ซึ่งหลายคนหวาดกลัว แต่ยิ่งใช้อำนาจกด ยิ่งไปสู่แบบหลัง
ในอีกด้านหนึ่ง ก็ต้องยอมรับว่าเราอยู่ในโลกยุคประชาธิปไตยถดถอย เนื่องจากความเหลื่อมล้ำรุนแรงในยุคทุนนิยมโลกาภิวัตน์ หรือเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ทำให้โลกทั้งใบเกิดความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์มากมายหลากหลาย จนไม่พอใจไม่อดทนไม่ยอมรับการแก้ไขปัญหาด้วยวิถีประชาธิปไตย อันได้แก่การยอมรับเสียงข้างมาก ปกป้องเสรีภาพเสียงข้างน้อย เคารพสิทธิมนุษยชน ยึดมั่นนิติรัฐ
โลกปัจจุบันเหมือนลืมสัจธรรมที่ว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด แต่วิถีที่ดีกว่านี้ไม่มี คนจำนวนมากหันไปคลั่งอำนาจนิยม เช่น ผู้นำที่ครองเสียงข้างมาก แบบทรัมป์ ใช้อำนาจสนองความพึงพอใจของคนส่วนใหญ่ ในทางเศรษฐกิจ ในทางความคิด ความเชื่อ ศาสนา ชาตินิยม ฯลฯ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพเสียงข้างน้อย หรือกำจัดฝ่ายตรงข้ามจนเหี้ยน อย่างระบอบปูติน
ความไม่พอใจปัญหาเศรษฐกิจชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งการบิดเบือนข้อมูล ก็ทำให้ลูกชายมาร์กอสชนะเลือกตั้งฟิลิปปินส์ ทั้งที่เมื่อ 36 ปีก่อน การโค่นมาร์กอสคือความภาคภูมิใจในประชาธิปไตยฟิลิปปินส์
“ความสำเร็จของจีน” ซึ่งอันที่จริง มาจากความล้มเหลวของ “เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ” หลังโค่นแก๊งสี่คน ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนกลับสู่ทุนนิยมใต้ระบอบพรรคเดียว ถูกโหมกระพือว่า นี่คือความสำเร็จของระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยไม่ได้ดูว่ามันมีลักษณะเฉพาะเช่นการเป็นตลาดใหญ่แหล่งผลิตใหญ่ และความมีประสิทธิภาพของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งรัฐล้าหลังรูปแบบต่างๆ ไม่สามารถเอาอย่างได้
รวมถึงการแผ่ขยายอย่างรวดเร็วของความคิดความรู้เทคโนโลยีไร้พรมแดน ที่ทำให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิปาฏิหาริย์ ความเชื่อทางศาสนา (ที่ไม่ใช่แก่นเหตุผล) กลัวไม่มีที่ยืน จึงตั้งป้อมต่อต้าน “ประชาธิปไตยตะวันตก” อย่างรุนแรง
แน่ละว่า “ประชาธิปไตยถดถอย” ทั่วโลก เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง แต่ในด้านตรงข้าม อำนาจนิยมไทยก็ไม่ได้อยู่บนฐานความนิยมจากเสียงข้างมาก แบบทรัมป์ แบบบราซิล แบบฟิลิปปินส์ หรืออินเดีย (ชาตินิยมฮินดู) หากอยู่บนอำนาจรัฐใหญ่มหึมา แล้วคนส่วนใหญ่ก็หยวนยอมเสียมากกว่า
ขณะเดียวกัน รัฐไทยก็เป็นระบบราชการล้าหลัง สมองน้อย เจ้าขุนมูลนาย ไม่มีประสิทธิภาพในการบริการประชาชนแบบพรรคคอมมิวนิสต์จีน
อำนาจนิยมไทยจึงเหนี่ยวรั้งการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่การใช้อำนาจดิบ จะทำให้ไม่สามารถปรับเปลี่ยน กลัวจะกลายเป็นพินาศด้วยกันหมด