เปิดคำชี้แจงประยุทธ์ หลุดคำชี้แจงมีชัย แม้ศาลรัฐธรรมนูญยืนยันไม่ส่งผลต่อคำวินิจฉัย แต่ก็เห็นสัญญาณว่า ผู้ที่ปล่อยเอกสารหลุด ต้องการกรุยทางให้สังคมยอมรับแนวทางเริ่มนับ 8 ปีประยุทธ์ จากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 6 เมษายน 2560
คำชี้แจงมีชัย ยกเหตุว่าบทบัญญัติเรื่องคุณสมบัติ ที่มา ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง ฯลฯ แตกต่างจากรัฐธรรมนูญที่เคยมีมา จึงไม่อาจใช้กับบุคคลหรือการกระทำใดๆ ก่อนรัฐธรรมนูญใช้บังคับ
ง่ายๆ สั้นๆ คือไม่สามารถนับย้อนถึง 24 สิงหาคม 2557 เพราะตอนนั้นรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าอยู่ได้แค่ 8 ปี
มีชัยชี้อีกว่า ครม.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะเกิดขึ้นหลังเลือกตั้ง แต่เมื่อมีบทเฉพาะกาลมาตรา 264 “ให้ ครม.ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็น ครม.ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” มาตรา 158 วรรคสี่ จึงเริ่มนับตั้งแต่บัดนั้น
คำชี้แจงประยุทธ์ ในฐานะผู้ถูกร้อง ไม่ถึงกับมัดปากมัดคอตัวเอง ว่าให้เริ่มนับจาก 6 เมษายน 2560 แต่ในความพยายามปัดป้องว่าไม่ให้นับจากปี 57 ทีมกฎหมายก็เลี่ยงไม่ได้ว่า ประยุทธ์เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่วันประกาศใช้ แม้อ้างว่า เป็นตามบทเฉพาะกาล จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีใหม่หลังเลือกตั้ง
“…ความเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกของข้าพเจ้า ได้สิ้นสุดลงแล้ว และขาดตอนไปแล้ว นับจากวันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ และการกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯไม่เกิน 8 ปีนั้นหมายถึงการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น ไม่ได้หมายรวมถึงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญอื่น”
พูดอีกอย่าง ในขณะที่ทั้งมีชัยและประยุทธ์ยืนยันว่า ไม่ให้นับจากปี 57 ก็ปิดสวิตช์แนวทางนับจากหลังเลือกตั้งปี 62 ไปในตัว แม้กองเชียร์ประยุทธ์ ส.ว. และ กรธ.บางคน ดิ้นรนให้ประยุทธ์อยู่อีก 4 ปี คืออยู่ได้ถึงปี 2570
ประยุทธ์ยอมรับว่าตัวเองเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่วันประกาศใช้ แต่จะไม่ให้นับช่วงที่เป็นนายกฯ ตามบทเฉพาะกาล? จะอ้างเหตุผลแบบไหนไปคัดง้างมีชัย
พึงเข้าใจว่า กระแสปัจจุบันแตกไป 2 ทางใหญ่คือ ฝ่ายค้านฝ่ายไล่ฟันธงต้องนับจากปี 57 เท่านั้น ความจริงเห็นกันโต้งๆ จะเป็นอื่นได้ไง ส่วนฝ่ายเชียร์ฝ่ายเลียร์ก็ยืนกรานต้องนับจากหลังเลือกตั้งเพราะก่อนนั้นเหมือนเป็นแค่รักษาการ
แนวทางนับจากปี 60 แบบมีชัย ซึ่งก่อนนี้มีคนเห็นด้วยน้อยมาก จึงเหมือน “ทางสายกลาง” โดยทางปฏิบัติ อาจเป็นอย่าง ส.ว.วันชัยชี้ เลือกตั้งครั้งหน้า 2566 ประยุทธ์เป็นนายกฯ ได้อีกแค่ 2 ปี งั้นจะลงชิงเก้าอี้ทำไม พรรคไหนจะเสนอชื่อ ประชาชนจะเลือกหรือ ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับตู่คือ “ผมพอแล้ว” กลับมาจัดเอเปก ยุบสภา เป็นทางออกที่ไม่ขายหน้าแบบจู่ๆ ตกเก้าอี้
มองโลกแง่ดีไปไหม เพราะประยุทธ์เป็น “บิดาแห่งการยกเว้น” อาจหาช่องลอดอีกก็ได้ บางคนมองโลกแง่ร้าย ศาลอาจไม่ชี้ว่าเริ่มนับเมื่อไหร่ อาจวินิจฉัยแค่ประยุทธ์อยู่ต่อได้ แล้วปี 68 ค่อยมาถามใหม่
หรือบางคนก็ตลกร้าย ผุดสูตรคำนวณ ประยุทธ์อยู่ได้ถึง 21 ปี
แต่คนทำเอกสารหลุด ก็เหมือนโยนหินถามทาง สังคมรับได้ไหม ถ้าประยุทธ์อยู่อีกหน่อยจนเลือกตั้งแล้ว “ขึ้นหิ้ง”
ว่ากันจริงๆ ทางการเมือง แม้มีกระแสไม่พอใจกว้างขวาง ประชาชนก็ทำอะไรไม่ได้ ต่อให้ประยุทธ์อยู่ได้ถึง 2570 กลับมากร่าง ประกาศชิงเก้าอี้นายกฯ ก็คงไม่เกิดม็อบล้นหลาม แต่ความโกรธแค้นจะมุ่งไปสู่เลือกตั้ง “แลนด์สไลด์”
ถ้าประยุทธ์อยู่ได้ถึง 68 ประกาศพอแล้ว ไม่เป็นนายกฯ อีก ความไม่พอใจแม้คุคั่ง แต่สังคมทั่วไปจะเย็นลง ตามวิสัยคนไทยหยวนยอม แรงกดดันต่อพรรคร่วมรัฐบาลก็น้อยลง เพราะประเด็นเลือกตั้งจะไม่อยู่ที่ประยุทธ์อีก
ในทางกฎหมาย อันที่จริง การนับจาก 6 เมษายน 2560 ก็มีเหตุผล แม้ในความเป็นจริง ประยุทธ์เป็นนายกฯ มา 8 ปี
เรื่องระยะเวลาเปรียบได้ว่า สมมติเป็นอธิการบดีมา 2 ปี มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ กฎหมายใหม่กำหนดอธิการบดีเป็นได้แค่ 6 ปี ถ้าไม่เขียนบทเฉพาะกาลให้นับที่เป็นอยู่ก่อนด้วย ก็ต้องนับใหม่
หลักการข้อนี้ก็เป็นไปตามที่ประยุทธ์อ้าง มาตรา 158 วรรคสี่ เป็นการกำจัดสิทธิทางกฎหมาย “โดยหลักตีความทางกฎหมายแล้ว หากรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ชัดเจน จะตีความในทางจำกัดสิทธิบุคคลไม่ได้”
ถ้าไม่ดูหน้าประยุทธ์ ดูเปรียบเทียบผู้ดำรงตำแหน่งอื่นๆ จะเข้าใจหลักการ ไม่ควรตีความจำกัดสิทธิ
แต่ประเด็นที่ขัดความรู้สึกประชาชนคือ ประยุทธ์ได้อำนาจมาโดยไม่ชอบธรรม ประยุทธ์ได้อำนาจด้วยปืนด้วยรถถัง แล้วจะมาอ้างความชอบธรรมไม่ให้ตีความจำกัดสิทธิตัวเอง
สิทธิที่ไม่ควรมีแม้แต่น้อย แล้วยังละเมิดสิทธิเสรีภาพ จับกุมคุมขังผู้เรียกร้องประชาธิปไตย
นี่คือประเด็น dilemma ถ้าตีความกฎหมายโดยเคร่งครัด ต้องนับเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ แต่การเป็นนายกฯ ของประยุทธ์ไม่ว่าด้วยรัฐธรรมนูญฉบับใดก็ตาม ล้วนไม่ชอบธรรมทั้งทางประชาธิปไตยและทางกฎหมาย เพราะใช้ปืนรถถังฉีกรัฐธรรมนูญ เขียนรัฐธรรมนูญเอง ยัดเยียดให้ประชาชนลงประชามติ แล้วเป็นนายกฯ อีกทีด้วย 250 ส.ว.
นับแปดปีอาจยังไม่ครบตามกฎหมาย แต่ไม่มีความชอบธรรมแม้แต่วันเดียว ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2557